โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
อาตมาขอถวายพระพรในด้านของ โทสะจริต สำหรับโทสะจริตนี้ ก็เห็นจะเป็นเช่นเดียวกับราคะจริต เพราะว่าท่านที่จะตัดได้จริงๆ ก็ต้องเป็นพระอนาคามี ตามที่ถวายพระพรมาแล้วในสมัยที่กล่าวถึงราคะจริต
สำหรับ โทสะจริต แปลว่า คนมักโกรธ แต่ความจริง จริตทุกอย่างย่อมมีกับคนทุกคนทั้งหมด เพราะว่าไม่ใช่คนใดคนหนึ่งและก็มีหนึ่งจริต ไม่ใช่เช่นนั้น แต่ละคน แต่ละคน ก็ต่างคนต่างมีจริตด้วยกันหมด ทั้งหกประการ แต่ทว่าจะมีจริตอะไร ไปมั่วสุมหรือไปหมกอยู่บ้างเท่านั้น มีกำลังอ่อน หรือว่ามีกำลังเข้มแข็ง
อย่างคนในโลกมามีทั้งหมด คนที่ไม่รักสวยไม่รักงามเลย ก็ไม่มี แต่ที่ท่านเรียกว่าราคะจริตนำ ก็เพราะว่าหนักไปในด้านสวยด้านงามเป็นกรณีพิเศษ อะไรทุกสิ่งทุกอย่างต้องเรียบร้อยไปหมด แม้จะไปตักน้ำ ฟันฟืน เข้าป่า ก็ต้องหวีผมให้เรียบ จัดเครื่องแต่งกายให้เรียบ ทั้งๆที่ต้องทำงานหนัก อย่างนี้เป็นต้น จัดว่าเป็นประเภทของราคะจริต ความรักสวยรักงามเป็นเรื่องใหญ่ อะไรๆก็ต้องสวย อย่างนี้เป็นราคะจริต
แต่ว่าเนื้อแท้จริงๆ คนที่มีราคะจริต การต้องการความเรียบร้อย ความสวยสดงดงาม มีเหมือนกันทุกคน แต่ว่าไม่เท่ากัน บางคนก็เรียกว่าแต่งกายเพียงแค่สุกเอาเผากินก็ใช้ได้ อย่างอาตมาเป็นต้น ขอประทานอภัย พูดอ้างตนนี่พระพุทธเจ้าท่านห้าม แต่ที่อ้างมาก็เพราะว่า อาตมาเองเป็นคนสุกเอาเผากินในเรื่องการแต่งกาย ไม่ค่อยจะเรียบร้อยนักว่าไม่สนใจ ไม่ใช่ว่าไม่สนใจเมื่อแก่ เมื่อหนุ่มยิ่งไม่สนใจมากกว่านี้ ตอนแก่เข้าดูเหมือนว่าจะดีกว่าหนุ่มนิดหน่อย
ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะเกรงว่ามันจะรุ่มร่ามเกินไป ที่ว่าพระแก่รุ่มร่าม ยิ่งตอนสมัยที่เป็นพระหนุ่ม จีวรสีเหลืองไม่ห่ม ห่มแต่จีวรสีกรักอย่างเดียว เพราะมีอารมณ์ต้องการตัดราคะจริต ไม่ให้เกิดความพอใจในตัวของตัวเอง นั่นก็แสดงว่ามีราคะจริตอยู่มาก ไม่ใช่ไม่มี การทำตนเช่นนั้น เป็นการข่มขู่ เป็นการบังความรู้สึก ไม่ให้เกิดความพอใจ และไม่ให้เกิดความผูกพัน
ทีนี้คนที่เกิดมาในโลก คนที่ไม่รู้จักโกรธเลยก็ไม่มีเหมือนกัน เป็นอันว่ารู้จักโกรธเหมือนกัน แบบเรียกว่าใครจะโกรธหนักกว่ากัน น้อยกว่ากัน ไวกว่ากัน ช้ากว่ากันเท่านั้น
สำหรับโมหะจริต อารมณ์ที่คิดอะไรไม่ออก ในกาลบางครั้งบางคราวเคยปลอดโปร่ง แต่บางครั้งคิดไม่ออก อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน ความผูกพันในวัตถุ ความผูกพันในบุคคล ที่เรียกกันว่าโมหะจริต อันนี้ก็มีอยู่ด้วยกันทุกคน แต่ว่าใครจะมากจะน้อยเท่านั้น
ความเชื่อถือ บางครั้งก็ใช้ปัญญาน้อยไปหน่อย ความเชื่อที่แท้ที่สัมปยุตไปด้วยปัญญา ท่านไม่เรียกว่าหนักไปด้วยศรัทธา ศรัทธาจริตนี้ เรียกว่า ความเชื่อถือที่ใช้ปัญญาน้อยไปนิดหนึ่ง คือคิดน้อยไปหน่อย หรือที่เรียกกันว่าคิดไม่ทัน อย่างนี้ก็ต้องมีเหมือนกันทุกคน จะมากหรือจะน้อยกว่ากันเท่านั้น
ทีนี้ความปลอดโปร่ง ความเฉลียวฉลาด ในกาลบางขณะ ก็ย่อมมีเหมือนกันทุกคน แต่ทว่าใครจะมีเป็นปกติ หรือไม่ปกติเท่านั้น
เป็นอันว่า จริตทั้งหก ทุกคนต้องยอมรับนับถือว่า ตนมีพร้อมมูลบริบูรณ์ แต่ว่าบางอย่างจะยิ่งหย่อนกว่ากัน บางอย่างจะเหนือกว่ากัน บางอย่างจะน้อยไปเท่านั้นเอง
ทีนี้คนบางคนที่บอกว่าตนไม่มีราคะจริต ตามที่องค์สมเด็จพระมหาบพิตรเคยตรัสว่า บางคนเขาบอกว่าเขาไม่มีราคะจริต พอยั่วไปยั่วมาราคะก็เกิด อันนี้อาตมาเห็นชอบด้วย ที่พระมหาบพิตรทรงกระทำอย่างนั้น จะได้เตือนให้ท่านผู้นั้นมีความรู้สึกตัวว่า นี่ศัตรูมันแอบอยู่ในใจของท่าน แต่ท่านมองไม่เห็นศัตรู การที่มองไม่เห็นศัตรู คิดว่าศัตรูเป็นมิตร ตัวนี้ตายง่าย นี่คำว่าตายง่าย ก็เพราะว่า ราคะจริตมันจะกินใจจนตาย ไม่สามารถจะพ้นจากความทุกข์ไปได้
ต่อนี้ไปก็ขอปรารภเรื่องโทสะจริต คำว่า โทสะจริต แปลว่า คนมักโกรธ คนประเภทนี้ชอบโกรธ โกรธง่ายๆ ถ้าโกรธใครได้แล้วรู้สึกว่าจะโก้ดี แสดงอาการฮึดฮัดเข้มข้น เกรี้ยวกราด เข้าใจว่าเป็นการกระทำความดี แล้วถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้ ก็รู้สึกว่าตนเองจะไม่สบายใจ แต่ทำไปแล้วรู้สึกภูมิใจว่า ความโกรธของตนเป็นผล
อารมณ์อย่างนี้ องค์สมเด็จพระทศพลทรงแนะนำไว้ว่า ควรจะใช้พรหมวิหาร ๔ และกสิณ ๔ อย่าง ที่เรียกกันว่า วรรณกสิณ คือ กสิณสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว เพ่งเป็นการระงับจิต ทั้งนี้ก็เพราะว่า ถ้าทำถูกกับจริต มันเป็นของง่าย
สำหรับความโกรธ ถ้าใช้พรหมวิหาร ๔ ก็จะต้องพิจารณาหาความจริงของจิตให้พบ ตรวจจิตไว้เสมอว่า เรามีอารมณ์แห่งความรัก มีความรู้สึกในความรัก ในเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะเป็นคนหรือสัตว์หรือไม่ก็ตาม ปกติจิตมีความรู้สึกอย่างนี้อยู่เสมอหรือเปล่า
เรามีความสงสาร ปรารถนาจะเกื้อกูลบุคคลอื่นและสัตว์อื่นให้มีความสุข ตามที่เราต้องการ และคนทุกคนต้องการ ความรัก ความเมตตาจากคนอื่น ต้องการความสงสาร ความเกื้อกูลจากคนอื่น
และก็มุทิตา มีอารมณ์ไม่อิจฉาริษยาบุคคลอื่น เห็นบุคคลอื่นได้ดี พลอยยินดีด้วย ทั้งนี้เพราะว่า เราเองก็มีความปรารถนาเช่นนั้นเหมือนกัน
เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ การไม่อิจฉาริษยากัน ไม่เสียดสีกัน ไม่นินทาว่าร้ายกัน ไม่กล่าวคำให้เป็นโทษ ไม่สร้างความสะเทือนใจซึ่งกันและกัน เห็นคนอื่นได้ดีไม่ริดลอนความดีของบุคคลนั้น พากันยกย่องสรรเสริญสนับสนุนความดี ยินดีในความดีที่เขาได้มา เราเองมีความต้องการอย่างนั้น
ถ้าเราทำความดี ก็ต้องการให้คนอื่นสนับสนุน เราทำความดี ก็ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นมาอิจฉาริษยา ริดลอนความดี อาการอย่างนี้ ย่อมมีแก่บุคคลทุกคน แต่ทว่าพิจารณาใจของเรา เราต้องการให้บุคคลอื่นเขาทำเช่นนี้กับเรา และเราคิดทำอย่างนี้กับเขาหรือไม่ นี่เป็นการใช้ปัญญาพิจารณาเพ่งจับอารมณ์ใจของตัวเองเป็นสำคัญ
แล้วสำหรับอุเบกขา ความวางเฉยนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงตรัสว่า เห็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน จะต้องมีกรรมหนักอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามากระทบกระทั่ง หมายถึงว่า เขามีโทษ เขามีทุกข์ เป็นไปตามอำนาจกฎของกรรม ที่เราเองไม่สามารถจะช่วยเหลือเขาได้ เราไม่ซ้ำเติมให้เขามีความทุกข์มากไปกว่านั้น ตั้งใจจะทรงอารมณ์จิตให้มีความสุข หมายความว่า วางเฉยไว้
ถ้าเราคิดจะไปซ้ำเติมเขา จิตใจของเรา มันจะไม่มีความสุข มันเป็นอารมณ์โหดร้าย ความเร่าร้อน เห็นเขาเพลี่ยงพล้ำลงไป เขามีทุกข์ ตั้งใจจะซ้ำเติม ถ้าซ้ำเติมได้ มันก็เป็นทุกข์ ถ้าซ้ำเติมไม่ได้ มันก็เป็นทุกข์ ซ้ำเติมเขาได้ เพื่อนของเขา ตัวของเขา เขาจะมีความโกรธ จะกลายเป็นศัตรูของเรา ในเมื่อเรามีศัตรูมากขึ้น เราก็เป็นทุกข์ ถ้าทำเขาไม่ได้สมความปรารถนา ก็นอนเป็นทุกข์ คิดอยากจะทำ นี่ก็มานั่งนึกถึงตัวเองว่า ถ้าเรามีความทุกข์อย่างนี้แล้ว ถ้าคนอื่นเขามาซ้ำเติมเรา เราจะมีความสุขหรือเราจะมีความทุกข์ เราจะมีความต้องการหรือไม่ นี่ก็เป็นอันว่า เราก็ไม่มีความต้องการ
องค์สมเด็จพระพิชิตมาร ให้เอาตัวเองเข้าไปเปรียบเทียบ เอาความรู้สึกของใจของเราให้เข้าไปเปรียบเทียบ เพราะว่าการมีโทสะ คิดประทุษร้ายบุคคลอื่น เป็นอาการของความทุกข์ ไม่ใช่อาการของความสุข เพราะอะไร คนที่โกรธง่าย แก่เร็ว
คนที่มีความมักโกรธ หรือมีอารมณ์โกรธ คนนั้นเป็นคนโง่ โง่ตรงไหน ถ้าโกรธขึ้นมาเมื่อไร ปัญญามันถูกตัด ความโกรธมันตัดปัญญาไป ตอนนั้นมันคิดอะไรไม่ออก ทีนี้คนที่มีโทสะจริต จึงกลายเป็นคนโง่มากกว่าคนฉลาด และคนที่เขาฉลาดจริงๆ นี่เขาไม่โกรธใคร โกรธเหมือนกัน แต่รู้จักยับยั้งเสียทัน แต่ที่ว่าไม่โกรธเลยนั้นไม่มี แต่ว่าไม่บูชาความโกรธ
ถ้าเราบูชาความโกรธ ที่อาตมากล่าวว่า คนโกรธง่าย หรือ โกรธบ่อยๆ ชอบโกรธเป็นปกติ เป็นคนโง่ ก็เพราะว่าเป็นการสร้างศัตรู คนถ้ามีศัตรูมากก็มีความทุกข์มาก จะนอนอยู่ จะนั่งอยู่ จะตื่นอยู่ จะหลับอยู่ จะเดินไปธุระที่ไหน ไม่มีความสบายใจ เพราะว่าเกรงภัยอันตรายที่เราสร้างไว้จากความโกรธ จะเข้าสนองตน ทำตนให้รับความลำบาก ทำตนให้เกิดความเป็นทุกข์
นี่เป็นอันว่าคนที่มักโกรธ ไม่ใช่คนมีความสุข เป็นคนมีความทุกข์ แต่ทว่าเราเกิดมากับความโกรธ ความโกรธมันติดตามเรามาหลายแสนชาติ นี่ทำอย่างไรจึงจะหาทางทำลายล้างมันให้สิ้นซากไปได้ การทำลายล้างความโกรธให้สิ้นซาก ก็ต้องเป็นพระอนาคามี
แต่ถ้ายังไม่เป็นพระอนาคามี จะทำอย่างไรจึงจะยับยั้งความโกรธไว้เสียได้ ไม่ใช่ทำลายความโกรธ แต่ยับยั้งความโกรธ ไม่ปล่อยให้ความโกรธเป็นเจ้านายตลอดเวลาตามที่แล้วๆมา เพราะว่าเวลาในกาลก่อน ปล่อยให้ความโกรธเป็นเจ้านายเกินพอดี
ตอนนี้ก็ต้องมาพิจารณาถึงพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินสีห์ เป็นเครื่องปลอบใจตนเอง ใจต้องหาทางปลอบ เพราะใจมันงุ่นง่าน ใจมันพลุกพล่าน ใจมีความโกรธ ใจเป็นทาสของความโกรธ ต้องหาทางปลอบ ถ้าไม่หาทางปลอบแล้วก็ มันจะไม่อยู่ ด้วยอารมณ์มันจะมีแต่ความดิ้นรน มันจะหาความสุขไม่ได้ จะใช้วิธีปลอบในทางไหนดี
อันดับแรกมาคิดถึงตนเองก่อน นั่งก็คิด นอนก็คิด ขณะใดถ้ายังตื่นอยู่ โอกาสมี คิดไว้เสมอว่า เราต้องการอะไรหนอ เวลานี้เราต้องการคนที่มาประกาศตนเป็นศัตรูกับเรามั๊ย ต้องการให้ใครมาพิฆาตเช่นฆ่าเรามั๊ย ต้องการให้ใครเขามาด่าเรามั๊ย ต้องการให้ใครเขามากลั่นแกล้งเรามั๊ย ต้องการให้ใครเขามาอิจฉาริษยาเรามั๊ย ต้องการให้ใครเขามานินทาว่าร้ายเรามั๊ย ต้องการให้ใครเขามาเสียดสีเรามั๊ย ถ้าเรามีทุกข์ก็ต้องการให้ใครเขามาซ้ำเติมเรามั๊ย ถามใจตนเอง ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เธอต้องการมั๊ย
หากว่าใจของเราเองบอกว่าต้องการ ก็ตามใจเถอะ จะไปทำอะไรให้ใครก็ได้ จะไปด่าใคร จะไปตีใคร จะไปทำร้ายใคร จะไปนินทาว่าร้ายใคร จะไปกล่าวคำเสียดสีใครก็ว่าได้
แต่ถ้าอารมณ์ใจของเราไม่ต้องการ ก็ต้องหาทางระงับอาการที่เราไม่ต้องการนั้นเสีย เราจะไม่ทำกับคนอื่น คิดหามุมแห่งความเป็นจริงว่า คนเรา ถ้าเราไม่ต้องการให้เขามาเป็นศัตรูกับเรานี่ แล้วเราต้องการอาการที่คนประเภทนั้นมาทำกับเราอย่างไร
อันดับแรก เราก็ต้องการให้เขามาพูดดี อารมณ์ที่เป็นประโยชน์ อารมณ์ที่เราต้องการ ต้องการให้เขาทำความดี เป็นที่ชอบใจของเรา นี่เป็นปัจจัยแห่งความรักในขั้นต้น
ประการที่สอง ถ้าเราขาดสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เราต้องการการเกื้อกูลจากบุคคลอื่นมาสนับสนุนเรา นี่เป็นอาการที่เราต้องการ
ประการที่สาม ถ้าความดีปรากฏกับเรา เราต้องการให้คนอื่นสนับสนุนความดีนั้น รับรองความดีนั้น ไม่ริดรอนความดี เรียกว่าไม่อิจฉาริษยาด้วย และก็ส่งเสริมด้วย
ประการที่สี่ กรรมหนักมาตกถึงเราเข้าแล้ว ถ้าเพื่อนมาซ้ำเติม เราไม่เอา เราไม่ต้องการ
รวมความว่า เหตุสี่ประการนี้ เป็นการยับยั้งความคิดที่ไม่เป็นสุขสำหรับเรา หมายความว่าเราจะมีความสบาย เราจะมีความสุข ถ้าเขาทำอาการตรงกันข้าม คือคิดทำลายล้างเราด้วยประการทั้งปวง ซ้ำเติมเมื่อเรามีความทุกข์ เราขาดอยู่แล้ว พึงแกล้งดึงเอาไปเสียอีก ของยิ่งไม่มีใช้ ไม่มีจะกิน พวกก็หาทางทำลายด้วยประการทั้งปวง กลั่นแกล้งด้วยประการทั้งปวง ให้ไม่มีใช้ ไม่มีกินมากขึ้น นี่เราจะเดือดร้อน
นี่ก็ใช้มุมนี้ ที่เราคิด เราพอใจ ไปใช้กับคนอื่น เพราะว่าเราต้องการให้คนเขามีความรักในเรา พูดดี ทำดี เพื่อเรา เราก็พยายามหักห้ามความโกรธ พูดดี ทำดีเพื่อเขา ถ้าใครเขาขาดแคลนอะไร เราก็เกื้อกูลตามกำลังที่เราจะพึงมี และเกื้อกูลด้วยวัตถุไม่ได้เราไม่มี ก็เกื้อกูลด้วยกำลังกาย ถ้าสิ่งนั้นไม่สามารถจะเกื้อกูลด้วยกำลังกายและวัตถุได้ ก็เกื้อกูลด้วยปัญญา แนะนำว่า ไปที่โน่นนะ ไปที่นี่ซิ คนนั้นคนนี้เขาสามารถจะช่วยท่านได้ นี้ก็เป็นอาการเกื้อกูล
เห็นเขามีความดีเกิดขึ้นไม่อิจฉาริษยาเขา พลอยยินดีในความดีที่เขาปฏิบัติ และพร้อมจะทำความดีตามเขา เห็นเพื่อนมีทุกข์หนัก เป็นเหตุสุดวิสัยที่เราจะช่วยเหลือได้ เราก็วางเฉยไม่ซ้ำเติม จิตคิดไว้อย่างนี้ให้มันเป็นปกติ อย่างนี้เราจะมีความสุข
นี่พูดในด้านเฉพาะที่เราจะทำกับเขา ให้เขามีความสุข เราก็จะมีความสุข ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ปูชา ลภเต ปูชัง” ผู้บูชาย่อมได้รับการบูชาตอบ “วันทโก ปฏิวันทนัง” คนไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ นี่พูดเฉพาะเราทำความดีกับคนดี ย่อมมีผลเช่นนี้
และก็มีคนบางจำพวก เช่น พระเทวทัต เป็นต้น พระเทวทัตนี่ องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดา ทรงสงเคราะห์มาทุกชาติ ทุกสมัย แม้แต่ในชาติสุดท้าย นี่องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงเกื้อกูลเป็นกรณีพิเศษ องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ให้บวชในพระพุทธศาสนา และก็สอนให้ได้ฌานโลกีย์ ได้อภิญญาสมาบัติ เลยทะนงตนคิดว่าเป็นผู้วิเศษ นี่คนเลวประเภทนี้มีอยู่ กลับไม่เห็นความดีขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ คิดขบถ ทรยศต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากจะปกครองสงฆ์เสียเอง ทั้งๆ ที่ตนเองก็ไม่มีความสามารถ ตนเองได้ฌานโลกีย์ จัดว่าเป็นปุถุชนคนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส
เวลานั้นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์มีอยู่ครบ เป็นพระอรหันต์มากมาย ทั้งอัครสาวกทั้งหลาย ก็ยังอยู่ทั้ง ๒ ท่าน อสีติมหาสาวกก็ยังอยู่ สาวกเบื้องต่ำขององค์สมเด็จพระบรมครู ก็มีตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป มีคุณธรรมดีกว่าพระเทวทัตมาก แต่ว่าพระเทวทัตมองไม่เห็น เพราะคนเลวนี่ เราจะเมตตาปรานีอย่างไร มันก็ไม่ได้ทั้งนั้น จะคิดว่าเรามีพรหมวิหาร ๔ ต่อเขา เขาจะมีต่อเรามันก็ไม่แน่นัก ในปัจจุบันนี้ ต่างคนต่างก็พบกันมาแล้วทุกคน ว่าสันดานคนเลวจริงๆ นี่จะเอาดีไม่ได้ ไม่มีการเห็นความดีของบุคคลอื่น
ถ้าไปพบอย่างนี้จะทำอย่างไร ก็เป็นอันว่าถ้าพบอย่างนี้เข้า ก็จะต้องใช้อารมณ์ๆ หนึ่ง นั่นก็คืออารมณ์คิดทบทวนหาความจริงว่า คนประเภทนี้เขาเป็นทาสของอบายภูมิ เขาไม่ใช่ไท กำลังใจของเขาเป็นทาส เป็นทาสของใคร เป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม เขาเป็นคนที่หาความสุขไม่ได้ เขาจะมีแต่ความทุกข์ เพราะการกระทำอย่างนั้น
ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาว่า ถ้าเราจะโต้ตอบเขาทุกข์แล้ว เราก็จะมีทุกข์ด้วย มันช่วยกันทุกข์ใหญ่ เราไม่ตอบเขา เพราะอะไร เพราะเขาเอาไฟไปเผาใจของเขาเสียแล้ว เขาเอาไฟเผาใจของเขา เป็นเพราะอะไร เพราะว่าเขามีใจเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม
คนทุกคนที่เกิดมาในชาตินี้ เป็นคนที่ต้องการความสุข ความสำราญด้วยกันหมด แต่ทว่าเขาไม่สร้างความสุข ไม่สร้างความดี เพราะอาศัยอะไรเป็นปัจจัย เพราะว่า
กิเลส ความเศร้าหมองของจิต หุ้มห่อใจของเขามืดมิด จนให้เขามองไม่เห็นด้านของความดี นี้ประการหนึ่ง
ตัณหา ความทะยานอยากดึงลากจิตใจของเขา ให้คิดแต่ความชั่วเป็นปกติ นี้ประการหนึ่ง
อุปาทาน ความโง่ เข้าไปยึดมั่น คิดว่าอาการของการทำความชั่วอย่างนั้นเป็นของดี นี้ประการหนึ่ง เป็นเจ้านายของเขา
และอกุศลกรรม อาศัยกิเลส ตัณหา อุปาทานทั้ง ๓ ประการ ดึงดันให้เขาสร้างกรรมที่เป็นอกุศล ทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
คนประเภทนี้ในชาติปัจจุบัน ก็มีแต่ความทุกข์ ไม่มีความสุข เขานั่งเป็นทุกข์ เขานอนเป็นทุกข์ ก็มีแต่ความเร่าร้อน ถ้าเขาเป็นคนมีปัญญาจริง เขาก็จะไม่ต้องสร้างความชั่วแบบนั้น เพราะคนสร้างความชั่วประเภทนั้น มีแต่ความเร่าร้อนใจ จะหาความสุขกาย สุขใจไม่ได้
เราก็คิดให้อภัยเขา คิดสงสารเขา คิดเมตตาเขา ไม่โต้ไม่ตอบ ไม่ทำคืน เขาจะทำยังไงก็ช่างเขา ปล่อยไปตามอัธยาศัย รักษากำลังใจด้วยอำนาจของพรหมวิหาร ๔ คิดว่า โอ้หนอ นี่เขาเกิดมาเป็นคนแล้ว ไม่น่าจะมาทำลายความดีของคน การที่จะเกิดมาเป็นคนแต่ละคราวมันเป็นของยาก นี่เขาจะต้องกลับไปเกิดเป็นสัตว์นรก เสวยทุกขเวทนาอย่างสาหัส ใช้เวลาหลายแสนกัป กว่าจะพ้นจากนรกได้ แล้วต้องมาเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน กว่าจะมาเป็นคนบริบูรณ์สมบูรณ์ได้ ก็นานแสนนาน ถ้าเกิดเป็นคนก็จะเป็นคนยากจนเข็ญใจไร้พวก มีแต่ความทุกข์ ไม่มีความสุข
คนประเภทนี้ เป็นบุคคลที่น่าให้อภัย ทำจิตใจของเราให้สบาย คิดเป็นอภัยทานอยู่เป็นปกติ ใหม่ๆ ก็จะคิดได้ยาก แต่ว่านานๆเข้า คิดมากๆ คิดบ่อยๆ อารมณ์ก็จะชิน เช่นเดียวกับองค์สมเด็จพระมหามุนินทร์ ที่พระเทวทัตทำทุกอย่าง ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงยับยั้งพระทัย ไม่โต้ตอบพระเทวทัต มาตั้งแต่ชาติไหนๆ
สำหรับการบันทึกในตอนนี้ ก็ต้องขอถวายพระพร … เป็นอันว่าสำหรับการจะระงับโทสะจริต โดยใช้อารมณ์คิดพิจารณาในด้านพรหมวิหาร ๔ เฉพาะจุดนี้ อาตมาก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
สำหรับตอนนี้ อาตมาจะขอถวายพระพรในด้านของโทสะจริต เฉพาะในเรื่องของกสิณ ๔
ตามที่องค์สมเด็จพระมหามุนี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแนะนำว่า บุคคลผู้มีโทสะจริตเป็นประจำ ควรจะเจริญนอกจากพรหมวิหาร ๔ แล้ว ก็ควรจะใช้กสิณ ๔ คือ กสิณสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามอัธยาศัย เพื่อเป็นเครื่องปรับปรุงใจให้พ้นจากอำนาจของความเป็นคนโทสะร้ายหรือโกรธง่ายที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงตรัสอย่างนี้ อาตมาภาพเข้าใจว่า สมเด็จพระมหามุนีคงมีความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสัพพัญูญูวิสัย ถ้าหากว่าพระมหาบพิตรจะตรัสถามอาตมาว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงตรัสไว้แต่เพียงอย่างเดียว จะได้ปฏิบัติสบาย อันนี้ถ้าจะพิจารณาไปไม่ใช่ว่าอาตมาทราบ เป็นแต่เพียงว่าเอาจิตของตนเองเป็นเครื่องวัด เมื่ออารมณ์ของบุคคลบางคน ชอบมีอารมณ์ทรงตัวมากกว่าอารมณ์คิด คือทำจิตให้สงบสงัดอยู่เฉพาะอารมณ์บางอย่างเท่านั้น ปักไว้เฉยๆ อย่างนี้มีอยู่ แต่คนบางคนใช้อารมณ์ทรงตัวนิ่งไม่ได้ ต้องใช้อารมณ์คิดจึงจะมีความสบาย
แม้แต่บุคคลคนเดียวก็เช่นเดียวกัน คนเดียวกัน หรือว่าบุคคลคนเดียวกันนั้น บางครั้งมีอารมณ์ชอบสงัด แต่บางครั้งก็มีอารมณ์ชอบคิด นี่อาตมาพิจารณาแล้วเห็นว่า องค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์ เท่าที่ทรงตรัสอย่างนั้น ก็คงจะมีความหมาย ถึงบุคคลประเภทที่มีอารมณ์ชอบคิดประเภทหนึ่ง หรือบุคคลที่มีอารมณ์ชอบใช้อารมณ์ทรงตัวเฉพาะอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ต้องการจะคิด เกรงว่าจะฟุ้งซ่านมากเกินไป นี่อย่างหนึ่ง
ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ทรงให้กรรมฐานคู่ปรับกับโทสะจริต ไว้เป็น ๒ ประการด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรหมวิหาร ๔ เป็นอารมณ์คิด กสิณ ๔ เป็นอารมณ์ทรง คือทรงอยู่ในอาการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ
แต่ความจริง กสิณมีถึง ๑๐ อย่าง ถ้าพระมหาบพิตรจะทรงตรัสถามว่า ทำไมกสิณทั้ง ๑๐ อย่างนี้จะใช้เหมือนกันหมดไม่ได้หรือ ทำไมจึงจำเพาะมาใช้แต่เฉพาะวรรณกสิณ ๔ อย่างเท่านั้น ถ้าตรัสถามอย่างนี้ อาตมาก็ต้องขอตอบ ขอถวายพระพรว่าจนด้วยเกล้าตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะไม่ทราบความประสงค์ขององค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดา ถ้าจะถวายพระพรไปก็จะกลายว่าเป็นการเดามากเกินไป ถึงแม้ว่าจะมีใครมาจ้างให้เดา อาตมาก็ไม่ขอยอมเดา
ยอมเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่ามีเหตุหลายประการ เท่าที่ผ่านมาแล้วในระยะต้น อาตมาเองไม่เข้าใจในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระทศพล แต่ก็พยายามทำตามคำสอน ก็รู้สึกว่ามีผล ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า อาตมาพยากรณ์ตัวเองเป็นอรหันต์ กล่าวกันแต่เพียงสั้นๆ หมายถึงว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เป็นความดีเบื้องต้น
อย่างที่องค์สมเด็จพระทศพลทรงสอนให้รักษาศีล ทรงสอนให้ให้ทาน ในตอนต้น อาตมาก็ไม่ทราบถึงอานิสงส์ ว่าจะมีผลเป็นประการใดแน่นอน ไปฟังท่านผู้นั้น ท่านผู้นี้ ท่านพูดกัน ท่านก็พูดแต่ผลในชาติหน้า ผลในชาตินี้ไม่เคยที่จะได้ฟังใครกล่าวให้พบให้ได้ยิน แต่ก็มาพบหลวงพ่อปาน วัดบางนมโคสมัยนั้น แต่ความจริงสมัยนั้นอาตมาก็สัมผัสกับท่านผู้รู้น้อยมาก ไม่ค่อยได้พบใคร ไม่ใช่ว่าพระทุกองค์ท่านไม่มีความรู้ แต่บังเอิญไปถามองค์ที่ไม่รู้เข้า ท่านก็ว่าชาติหน้าจะได้ไปเป็นเทวดาบนสวรรค์บ้าง จะเป็นพรหมบ้าง ก็ว่ากันไป
แต่มาพบหลวงพ่อปานท่านบอกว่า ผลชาติหน้าใหญ่ แต่ว่าผลชาตินี้ก็มี นี้เลยทำตามท่าน ก็รู้สึกว่าทานก็ดี ศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ไม่ใช่มีผลชาติหน้าอย่างเดียว ต้องได้รับผลตั้งแต่ชาตินี้ไปก่อน คือความสุขใจ ได้ให้ทานแล้ว แล้วก็ได้มิตรขึ้นมา มีความสุข คนชั่วก็มี คนดีก็มาก คนที่เขาไม่รู้สึกคุณคนเป็นของธรรมดา จะต้องมีอยู่ ไม่ใช่ว่าให้เขาแล้วเขาดีทุกคน แต่ชื่อว่าใจก็มีความสุขเพราะว่าได้มีโอกาสได้เกื้อกูลเขา เห็นเขาอกตัญญูไม่รู้คุณคน ก็นึกยิ้มในใจว่า คนนี้ช่างกระไร เป็นหนี้กิเลสมาตั้งแต่ชาติก่อนไม่พอ ยังจะมาเป็นหนี้กิเลสตัณหาในชาตินี้อีก สร้างอกุศลกรรมทำขึ้น เป็นคนที่น่าสงสารอย่างยิ่ง
การรักษาศีลเป็นปัจจัยให้มีความสุข การภาวนาทำใจให้เยือกเย็น อันนี้ก็รู้สึกว่าชาตินี้มีผล ทีนี้การที่องค์สมเด็จพระทศพลทรงสอน ทั้งๆที่อาตมาไม่ทราบอานิสงส์ก็ลองทำมาแล้ว ก็มีผลคือมีความสุขใจ ในด้านที่องค์สมเด็จพระจอมไตรต้องใช้เฉพาะกสิณ ๔ อย่างนี้ อาตมาไม่เข้าใจชัดเหมือนกัน แต่ว่าผลที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิให้ มีประโยชน์
อย่างโอทาตกสิณ กสิณสีขาว ถ้าทำกสิณข้อนี้เข้า จนเป็นฌานสมาบัติ ผลที่ได้ในอันดับแรกก็คือมีความสุขใจ จิตใจไม่ดิ้นรนมากเกินไป แต่ว่ายังเป็นบุคคลผู้ทรงฌานโลกีย์ หรือเป็นโลกียชน ก็ยังมีความทุกข์ ยังมีความดิ้นรน แต่ความดิ้นรนมันน้อยลง ถ้าดิ้นน้อย มันก็เหนื่อยน้อย ดิ้นน้อยมันก็ลำบากน้อย นี่เป็นอันว่าจิตถ้าทรงฌานได้อารมณ์มีความสุข ความคิดความอ่านมันก็คล่องตัว นี่เป็นอันดับแรก
สำหรับโอทาตกสิณ กสิณสีขาว เป็นสมุฏฐานให้เกิดทิพจักขุญาณ เมื่อทำกสิณนี้ มีความเข้มข้นขึ้น ทิพจักขุญาณก็ปรากฏ ตอนนี้เป็นปัจจัยให้มีผลกำไรมากขึ้นมาก มีความสุขใจยิ่งขึ้น มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น สามารถพิสูจน์ผลความดี และความชั่วของตัวได้ว่า ความดีและความชั่วของตัวที่ทำมาแล้วในกาลก่อน มีผลเป็นประการใด และความดีในกาลที่ทำในปัจจุบัน มีผลเป็นประการใด และการที่จะก้าวต่อไป จะทำอย่างไร ถึงจะมีผลรวดเร็ว โอทาตกสิณให้ผล สามารถจะรู้การก้าวหน้าของตนได้ว่า เราจะทำเข้าถึงจุดนี้ ควรจะทำแบบไหนจึงจะตรงจุด ไม่เปะปะๆไปเหมือนกับคนตาบอดคลำทาง
นี่เป็นอันว่ากสิณ ๔ ประการนี้มีประโยชน์ โดยเฉพะโอทาตกสิณ มีประโยชน์มาก ทีนี้การที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้คนที่มีโทสะจริต ใช้กสิณ ๔ อย่างแล้วมีผล เรื่องนี้ปรากฏมาในพระธรรมบทขุททกนิกาย สมัยเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่ สมัยนั้นองค์สมเด็จพระบรมครูกับอัครสาวกก็ยังอยู่พร้อมเพรียง พระสงฆ์มีมาก
ปรากฏว่าในกาลหนึ่งอัครสาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าคือพระสารีบุตร ไปได้ลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นลูกชายของนายช่างทอง เธอเป็นคนหนุ่ม เป็นคนสวย และก็เป็นคนรวย เรื่องคนหนุ่ม คนสวย คนรวย พระสารีบุตรก็มีความเข้าใจว่า เธอก็คงจะมักมากไปด้วยกามารมณ์ จิตใจจะยุ่งยากไปด้วยเพื่อนระหว่างเพศ เพราะตามที่เคยสังเกตมาเป็นอย่างนั้น จึงได้ให้กรรมฐานกับพระลูกชายนายช่างทอง เป็นอสุภกรรมฐานกับกายคตานุสสติ พิจารณากายเทียบกับซากศพ เพื่อเป็นการตัดราคะจริต
ความจริงคนที่มีราคะจริต รักสวย รักงาม เจ้าระเบียบ คนที่มีโทสะจริต นี่จะทำอะไรเร็วๆ และทำอะไรหยาบ เดินตึงตังโครมคราม หนักๆ ทำงานหยาบๆ ทำเร็ว ทำเร็วคล้ายๆ กับคนที่มีพุทธจริต แต่คนทีมีพุทธจริต ทำเร็ว ต้องการเร็ว แต่มีความละเอียดมาก คนที่มีโทสะจริตทำงานเร็ว ตึงตังโครมคราม รวดเร็ว แต่ทว่ามีความหยาบมาก ต้องสังเกต นี่เป็นข้อสังเกต
พระลูกชายนายช่างทองเจริญอสุภกรรมฐานมา ๓ เดือน อยู่กับพระสารีบุตร ในที่สุดไม่มีผลในการปฏิบัติ เอาอะไรไม่ได้เลย พอออกพรรษาขึ้นมา พระสารีบุตรจึงพาพระลูกชายนายช่างทอง ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยคิดว่าพระองค์นี้น่ากลัวจะไม่ใช่วิสัยของเราเป็นผู้ฝึก จะต้องเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ฝึก
ความจริงอาการของคนที่จะต้องฝึกมีอยู่ ๒ ประเภท บุคคลประเภทหนึ่ง ต้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝึกเองจึงจะมีผล อีกประเภทหนึ่งสาวกขององค์สมเด็จพระทศพล ซึ่งเคยเป็นคู่ปรับกันมา สามารถจะฝึกได้ อันนี้ตัวอย่างมีมาก
ตัวอย่างเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตร จะทรงดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน ความจริงจะทรงนิพพานที่ปาวาฬเจดีย์ก็ได้ แต่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงปรารถนาในการสงเคราะห์ปริพาชก ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่องค์สมเด็จพระภควันต์ ต้องทรงสั่งสอนเอง ถ้าคนอื่นสอนไม่มีผล
ฉะนั้นองค์สมเด็จพระทศพลจึงได้เสด็จไปที่กุสินารามหานคร ตอนนั้นเมื่อปริพาชกจะเข้ามาเฝ้า พระห้าม องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงตรัส และปล่อยให้เข้ามา การที่ตถาคตต้องทรมานพระกายลำบากมาที่นี่ ก็เพราะว่าต้องการจะสงเคราะห์ลูกชายคนสุดท้ายคนนี้
นี่เป็นอันว่า คนที่จะทรมานให้เข้าถึงความดี บางท่านต้องเป็นพระพุทธเจ้าเอง บางท่านพระสาวกสงเคราะห์ได้ สำหรับลูกชายนายช่างทอง ท่านพระสารีบุตรก็ดำริว่า อาจจะเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าผู้เดียว องค์เดียวเท่านั้น ที่จะทรงสั่งสอนให้คนนี้เข้าถึงมรรคถึงผลได้ ท่านไม่มีความประมาทหรือไม่ทะนงตน
ฉะนั้นเมื่อเวลาออกพรรษาแล้ว จึงได้พาพระลูกศิษย์ ลูกชายนายช่างทองไปเฝ้าองค์สมเด็จพระทศพล และกราบทูลให้ทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าสอนมาแล้ว ๓ เดือน เธอไม่มีผล คนๆ นี้เห็นจะต้องเป็นองค์สมเด็จพระทศพลทรงสงเคราะห์ เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ จึงได้ตรัสกับพระสารีบุตรว่า สารีปุตตะ ดูก่อนสารีบุตร เธอจงกลับไปเถิด กุลบุตรผู้มีศรัทธาที่ชื่อว่าตถาคตสงเคราะห์ไม่ได้นั้นไม่มี
เมื่อพระสารีบุตรกลับไปแล้ว องค์สมเด็จพระชินสีห์ก็พิจารณาดูจริต ว่าพระองค์นี้เธอมีจริตอะไร องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงทราบด้วยอำนาจพระพุทธญาณว่า เขาผู้นี้เป็นผู้หนักไปในด้านโทสะจริต ไม่ใช่ราคะจริต
ดังนั้นองค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์จึงได้ทรงเนรมิตดอกบัวทองคำขึ้นมาดอกหนึ่ง และเป็นดอกบัวสีแดงจัด องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ ส่งให้กับพระลูกชายนายช่างทองว่า เธอจงไปนั่งที่ด้านหน้าวิหารที่กองทราย เอาก้านดอกบัวปักลงไปในกองทราย นั่งลืมตาพิจารณาจำภาพไว้ว่าสีแดง และหลับตานึกถึงภาพ ภาวนานึกในใจว่า สีแดง สีแดง สีแดง
เธอทำตามนั้น เธอไปมูลกองทรายเข้า เอาก้านบัวปัก ลืมตาจำภาพดอกบัวสีแดง และหลับตานึกถึงภาพสีแดง และนึกภาวนาในใจว่าสีแดง สีแดง สีแดง เมื่อภาพเลือนไปจากใจ ก็ลืมตามาดูใหม่ จำได้ก็หลับตาใหม่ ทำอย่างนั้น สลับกันไปสลับกันมา ภายในไม่ช้าชั่วครู่เดียว เธอก็ได้ฌาน ๔ ภาพดอกบัวที่เห็นในใจ จากสีแดงกลายเป็นสีเหลือง สีเหลืองค่อยๆ จางไปๆ จนเป็นสีขาวทีละน้อยๆ จนกระทั่งเป็นสีประกายพรึก สามารถจะนึกบังคับภาพนั้นให้สูงก็ได้ ให้ต่ำก็ได้ อยู่ข้างหน้าก็ได้ อยู่ข้างหลังก็ได้ ให้ใหญ่ก็ได้ ให้เล็กก็ได้ คล่องในอารมณ์ของจิต
ตอนนี้องค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์ ขณะที่พระองค์ทรงประทับอยู่ในพระมหาวิหาร สมเด็จพระพิชิตมารทรงพิจารณาว่า พระช่างทองเวลานี้ทรงฌาน ๔ ในกสิณแล้ว เป็นฌานโลกีย์ แต่ว่าในขั้นต่อไป ตอนที่จะเข้าถึงความเป็นโลกุตตระ ความเป็นพระอรหันต์ ถ้าเราไม่ช่วยเธอ เธอสามารถจะไปได้ไหม องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทราบด้วยอำนาจพระพุทธญาณว่า เขาผู้นั้นไม่สามารถจะทำได้ เพราะอะไร เพราะกำลังใจยังอ่อน องค์สมเด็จพระชินวรจึงได้ทรงช่วย นี้ความจริงการช่วยนี่ไม่ได้ช่วยพยุงใจเขา ช่วยสร้างนิมิตกสิณให้เป็นวิปัสสนาญาณ
อันนี้มีบุคคลหลายคน มาถึงก็บอกว่า ขอบารมีหลวงพ่อช่วย ให้บรรลุมรรค บรรลุผล ให้ได้ฌานสมาบัติ ก็รู้สึกแปลกใจ ก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็บอกได้แต่เพียงตรงๆว่า ช่วยไม่ได้ คนทุกคนต้องช่วยตัวเอง พระพุทธเจ้ายังช่วยคนอื่นไม่ได้เรื่องกำลังใจ จะช่วยได้แต่อาการภายนอก คือให้กำลังใจนั้นได้ สนับสนุนกำลังใจได้ แต่จะไปช่วยใจให้เป็นคนฉลาด ช่วยใจให้เป็นคนมีฌานสมาบัติ อันนี้ช่วยไม่ได้
สำหรับพระลูกชายนายช่างทอง พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ช่วยด้านจิตใจ แต่ก็ช่วยในสิ่งที่เนื่องด้วยใจภายนอก นั่นก็คือ เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า เธอเล่นฌาน ๔ กำลังเพลิน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงเนรมิตดอกบัวทองคำที่มีสีสวยสดงดงามนั้น ให้กลายเป็นดอกบัวที่มีสีเศร้าหมอง
เมื่อพระลูกชายนายช่างทอง ลืมตาขึ้นมาดูดอกบัว เห็นสีเศร้าหมองใจ ก็แปลกใจ ว่าเมื่อสักครู่นี่สียังสวยอยู่ เอ ทำไมสีดอกบัวจึงเศร้าหมองไปอย่างนี้ เศร้าลงไปมาก ก็เลยมาคิดเทียบในใจว่า โอหนอ จิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน ร่างกายของเราก็เหมือนกัน เดิมทีเรามีความกระปรี้กระเปร่า สวยสดงดงาม มีความเปล่งปลั่ง อวัยวะสมบูรณ์ ต่อไปถ้าความแก่เฒ่าปรากฏ มันก็จะเศร้าเหมือนดอกบัวนี้
เธอก็หลับตา แล้วก็นั่งนึกถึงภาพของดอกบัวเศร้าหมอง และคิดถึงว่าร่างกายเราแก่ไปๆ ทุกวันๆ มันจะต้องเศร้าหมองแบบนี้ พอใจสบายดี หวังว่าจะเลิก ลืมตามาดูอีกที ตอนนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์ เนรมิตให้กลีบดอกบัวหล่นลงไปเสียแล้ว เหลือแต่ฝัก ยิ่งเศร้าหมองใหญ่ ใกล้จะหัก เหี่ยวแห้งลงไปมาก
เธอก็มาเปรียบเทียบกับตัวเอง เพราะเวลานั้นจิตเป็นฌาน ๔ ปัญญาย่อมเกิดด้วยอำนาจของสมาธิ มีความเห็นว่า ร่างกายของเราต่อไปนี้ มันก็จะทรุดโทรมเหี่ยวแห้งลงไป เหมือนกับคนแก่ที่เราเคยเห็น มีหนังหุ้มกระดูก มีหลังค้อมลง เหมือนกับดอกบัวที่เหลือแต่ฝัก เกสร กลีบหล่นหมด ค้อมลงไปใกล้จะหัก คิดปลงจิตสังขารของตนว่า ร่างกายสภาพของเรา มีอย่างนี้แน่นอน ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงไปได้ มันจะต้องไม่สวยงดงามอย่างนี้เสมอไป ไม่หนุ่มเสมอไป มันคลานเข้าไปหาความแก่ คลานเข้าไปหาความร่วงโรย เหมือนกับดอกบัวนี้เป็นธรรมดา จิตใจสบาย ลืมตามาว่าจะเลิก
ตอนนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเนรมิตดอกบัวดอกนั้น ให้หักลงไปกับพื้นปฐพี เธอมองดูดอกบัวนี้ บอก เออ ดอกบัวนี้เป็นดอกบัวทองคำ แข็งแรง ในที่สุดก็มีสภาพเป็นอย่างนี้ หักเรี่ยราย กระจัดกระจาย ไม่เป็นชิ้นดี ในที่สุดก็จะถมลงไปในพื้นปฐพี เป็นแผ่นดินไปหมด
จึงกลับเข้ามาคิดถึงชีวิตของตนว่า เราเองก็มีความเป็นเช่นนั้น ที่องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงสอนว่า อนิจจัง ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง ทุกขัง ร่างกายมีสภาพเป็นทุกข์ อนัตตา ในที่สุดมันก็ต้องสลายตน ที่องค์สมเด็จพระทศพลทรงตรัสว่า อัตภาพร่างกายคือ ขันธ์ห้า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา นี่เป็นของจริง ในที่สุดร่างกายก็ต้องสลายตัวไปแบบนี้ ถ้าเรายังจะยึดถือร่างกาย ว่าเป็นเรา เป็นของเราต่อไป คิดว่ามันมีความดี ในที่สุดความทุกข์ประเภทนี้ก็จะปรากฏ เมื่อกาลสมัยเข้ามาถึง ตายแล้ว ถ้าเราเกิด เกิดก็ต้องวน มาเกิดเป็นเด็ก มาเป็นคนหนุ่มคนสาว และก็มาเป็นคนแก่ และก็มาเป็นคนตาย อาการอย่างนี้มันจะหาที่สุดไม่ได้ การเกิดแต่ละคราวก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่มีปัจจัยใดที่เป็นเหตุแห่งความสุข ในเมื่อมันเป็นความทุกข์ มันไม่เป็นความสุข เราจะยึด จะถือ จะเกาะมันไว้เพื่อประโยชน์อันใด ท่านพิจารณาไปในเรื่องนี้ ในที่สุดจิตก็พ้นจากอาสวะกิเลส ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เป็นพระอรหันต์ในขณะนั้น
ขอถวายพระพร พระมหาบพิตร พระราชสมภาร การที่องค์สมเด็จพระพิชิตมาร ทรงสอนให้คนที่มีโทสะจริตใช้กสิณ ๔ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องประหัตประหารโทสะ และในที่สุดก็ได้สำเร็จอรหัตผล อย่างนี้มีอยู่มาก
ฉะนั้น การที่พระมหาบพิตรจะพิจารณาพระธรรมคำสั่งสอน ขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค เป็นการทำลายกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน ก็ต้องใช้พระราชจริยาพิจารณาว่า อาการที่จะต้องใช้อารมณ์จิต ว่าเวลานี้จิตต้องการทรงตัว หรือว่าจิตต้องการคิด ถ้าจิตต้องการคิด ก็ต้องใช้กรรมฐานที่มีอารมณ์คิด ที่เป็นข้าศึกกับโทสะจริต นั่นก็คือพรหมวิหาร ๔ ถ้าหากว่าจิตต้องการอารมณ์ทรงตัว ก็ใช้กรรมฐานคือกสิณ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามพระราชอัธยาศัยที่เห็นว่าสมควร
การที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแนะนำบรรดาพุทธบริษัท ให้ปฏิบัติอย่างนี้ ก็เพราะว่า องค์สมเด็จพระชินสีห์พิจารณาเห็นแล้วว่า คนเราทุกคนย่อมมีอารมณ์ไม่เสมอกัน ว่าจะบังคับให้ใช้อารมณ์ปักโดยเฉพาะอย่างนั้น ก็เป็นไปไม่ได้ บางคนต้องการอารมณ์คิด และบุคคลคนเดียวกัน บางครั้งชอบคิด บางครั้งชอบมีอารมณ์นิ่งๆ ทรงตัว
ทีนี้การใช้พระกรรมฐานจะเข้าประหัตประหารโทสะจริต ถ้าจะทรงตรัสถามว่า แค่ฌานโลกีย์ตัดได้เด็ดขาดไหม อันนี้อาตมาก็ต้องขอถวายพระพรว่า แค่ฌานโลกีย์ก็แค่ระงับได้ชั่วขณะเท่านั้น อย่างเก่งที่สุด ก็ในขณะที่ทรงจิตเป็นสมาธิ ให้ยับยั้งอารมณ์ความโกรธ ความพยาบาทไว้ได้เท่านั้นก็เป็นพอ
อันนี้ความจริงไม่แน่ คนได้ฌาน ๔ บางครั้งเวลาจะเข้าฌาน อาการของโทสะจริตเข้ามาขวาง อารมณ์เจ็บใจคนต่างๆ มีอยู่ เป็นอันว่าฌานสู้อารมณ์ของโทสะไม่ได้ วันนั้นฌานพัง
บางท่านเวลาทรงฌานอารมณ์ดี แนบแน่นสนิท มีจิตมั่นอยู่ในฌาน โทสะไม่สามารถจะมารบกวนจิตได้ แต่พอคลายอารมณ์เป็นฌานแล้วไม่นาน ชั่วขณะครู่หนึ่ง อารมณ์ของโทสะจริตก็เข้ามาครอบงำได้ นี้เป็นอันว่าในขณะที่ทรงฌานโลกีย์ จะชื่อว่าเป็นผู้มีการชนะโทสะจริตนั้นไม่เป็นความจริง เป็นแต่เพียงว่ายับยั้งไว้ชั่วคราวเท่านั้น
หากว่าปฏิบัติอารมณ์ให้เข้าถึงพระโสดาบัน อารมณ์ของโทสะจริตก็ยังมีความแรงกล้าตามปกติ แต่ทว่าไม่ประทุษร้ายใคร ด้วยอำนาจของศีล เกรงว่าศีลจะขาด ทีนี้พอเข้าถึงพระสกิทาคามี อาศัยที่มีพรหมวิหาร ๔ แก่กล้า มีอภัยทานเป็นสำคัญ ในตอนนี้รู้สึกว่า กำลังของโทสะจริตจะเพลากำลังลง มีเหมือนกัน ไม่มากนัก และก็ยับยั้งได้รวดเร็ว โทสะจริตนี้ถ้าจะทำลายให้หมดไปได้จริงๆ ให้สิ้นซาก ก็ต้องเป็นพระอนาคามี
สำหรับเรื่องราวของโทสะจริตนี้ อาตมาก็ขอถวายพระพรมาเพียงเท่านี้ เพราะว่ามองดูก็เห็นว่าใกล้จะหมดเวลาเต็มที ถ้าถวายพระพรมากกว่านี้ไปก็เกรงใจว่าจะเฝือ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.