การสอนเด็กรักษาศีลแค่ ๓ ข้อ เป็นการบั่นทอนความดีของเด็ก
ผู้ถาม :- “หนูมีอีกเรื่องหนึ่งนะคะ อยากจะกราบเรียนถามหลวงพ่อคะ คือหนูอยู่ที่โรงเรียน หนูสอนเด็กค่ะ ทีนี้เวลาโรงเรียนเลิกก็สอนให้แกนั่งสมาธิ แต่ก่อนจะนั่งสมาธิ หนูก็นำสวดมนต์ ขึ้นด้วยบท โยโส, อะระหัง, แล้วก็ นะโม แค่ ๓ อย่างนี้ใช้ได้ไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “โอ๊ะ…ว่านะโม ๓ จบ ยังใช้ได้เลย ใช้ได้ๆ ไม่ต้องสวดมากหรอก สวดมากเด็กมันจะรำคาญ สวดมนต์แค่ตั้งนะโม ก็เป็นการเคารพพระพุทธเจ้าแล้ว แค่ว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ก็ใช้ได้แล้ว ถ้าจะให้ดีอีกทีก็ต่อด้วยศีล ให้ตั้งใจว่าวันนี้เราจะรักษาศีลไม่ให้ศีลขาด ตั้งแต่เวลานี้จนถึงโรงเรียนเลิก”
ผู้ถาม :- “แต่หนูก็สอนให้แกถือศีลอยู่ ๓ ข้อค่ะ แต่อีก ๒ ข้อ หนูเห็นว่าแกยังไม่ถนัดค่ะ บอกว่าโตขึ้นค่อยถือค่ะ”
หลวงพ่อ :- “อีก ๒ ข้อ ที่ไม่ต้องถือน่ะ อะไร…?”
ผู้ถาม :- “ข้อกาเม กับ ข้อสุราค่ะ”
หลวงพ่อ :- “โถ…ไปบั่นทอนความดีเขาน่ะ”
ผู้ถาม :- “เพราะเห็นว่าแกยังเล็กอยู่ค่ะ”
หลวงพ่อ :- “เล็กก็เล็ก ถ้าเขาไม่ละเมิดแสดงว่าศีลเขาทรงตัว ก็บอกให้เขารักษาทั้ง ๕ ข้อเลย ไปหดศีลเขาน๊า…ศีลข้อใดที่เขาไม่มีสิทธิ์ละเมิด ถ้าเขาสมาทานด้วย ศีลนั้นบริสุทธิ์แน่ เขาจะได้มีความมั่นใจ
ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีแค่ศีล ๓ ถ้าข้อใดเขาไม่ละเมิด ข้อนั้นเขาบริสุทธิ์แน่ ให้เขาสมาทานไว้ด้วย เขาจะได้ภูมิใจ แต่ข้อที่เขาอาจจะต้องทำอีก ๓ ข้อ นี่ต้องระวังนะ อย่าให้พลาด อีก ๒ ข้อเขามีแน่นอนแล้ว ไม่ขาดแน่ นี่บั่นทอนความดีของเด็ก เขาเรียกว่าทำลายความมั่นคง”
ผู้ถาม :- (หัวเราะ) “ตอนนี้เข้าใจแล้วค่ะ ต้องกลับไปบอกใหม่”
ทำหมันหมา บาปไหมคะ
ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ อย่างทำหมันหมา บาปไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ทำหมันหมา ฉันฟังนึกว่าจับหมัดหมา ทำหมันเขาทำกันยังไง…?”
ผู้ถาม :- “การตอนน่ะค่ะ…”
หลวงพ่อ :- “ตอนก็ตอนบอกทำหมัน เอ…ต้องไปถามหมามันก่อนซิ หมามันพอใจไหมล่ะ…?”
ผู้ถาม :- (หัวเราะ)
หลวงพ่อ :- “เอ้า…จริงๆ ต้องไปถามมันก่อน ถ้าหมาพอใจ อันนี้ไม่บาป”
ผู้ถาม :- “แล้วจะรู้ได้ยังไงคะว่าหมามันพอใจ…?”
หลวงพ่อ :- “อ้าว…ก็ต้องไปเรียนภาษาหมาก่อนซิ”
ผู้ถาม :- (หัวเราะ)
หลวงพ่อ :- “การตอนสัตว์ ท่านพูดไว้ในตติยสามน ตายแล้วต้องตกนรกก่อน เพราะเป็นการทรมานสัตว์ พอออกจากนรกก็มาเป็นเปรต ออกจากเปรตมาเป็นอสุรกาย ออกจากอสุรกายก็มาเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะถูกทำลายเพศ ใช่ไหม…พอพ้นจากนั้นแล้วก็มาเป็นบัณเฑาะก์ มี ๒ เพศ มีทั้งเพศผู้ชายและผู้หญิง จากนั้นก็มาเป็นกะเทย แล้วจึงมาเป็นคนปกติ”
ทำหมันตัวเอง บาปไหมคะ
ผู้ถาม :- “แล้วถ้าเราทำหมันตัวเอง จะบาปไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ทำหมันตัวเองใครเขาจะไปว่าล่ะ ไม่บาปหรอก อันนี้เราพอใจต่างหากล่ะ ช่วยทำหมันให้ทีเถอะ ฉันลูกมากๆ ไม่เป็นเรื่องแล้ว”
ผู้ถาม :- “ถ้ากันหมาไม่ให้ผสมกันเล่าคะ…?”
หลวงพ่อ :- “นี่ละ ไฟไหม้บ้านกันหลายหนก็แบบนี้ละ มีตากับยายคู่หนึ่ง เขาฝากคนไปถามปัญหาพระกาลว่า เขาทั้งสองทำอะไรมา ไฟมันจึงไหม้บ้านอยู่เสมอ พระกาลก็บอกคนที่ไปถามว่า สมัยชาติก่อนแกมีลูกสาว แต่ว่าหวงไม่ยอมให้แต่งงาน ใครมาขอก็ไม่ให้ เหตุเพราะอาศัยการตัดทอนกำลังใจในด้านความรักของเขา ชาตินี้มาไฟจึงไหม้บ้านเรื่อยๆ ฉะนั้นคุณก็ต้องระวังนะ”
กินยาถ่ายพยาธิ บาปไหมคะ
ผู้ถาม :- “แล้วอย่างเรากินยาถ่ายพยาธิ อย่างนี้จะถือเป็นการทำลายชีวิตสัตว์ไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “อันนี้พระพุทธเจ้าท่านถือว่าเป็นเชื้อโรค เป็นการรักษาโรคในร่างกายของเรา ไม่เป็นบาป”
ทรมานสัตว์หรือตีสัตว์ ศีล ๕ จะขาดไหมครับ
ผู้ถาม :- “ถ้าเราทรมานสัตว์หรือตีสัตว์ อย่างนี้ศีล ๕ จะขาดไหมครับ…?”
หลวงพ่อ :- “อย่างนี้เรียกว่า ศีลทะลุ ยังไม่ขาด”
ผู้ถาม :- “หมายความว่าศีลยังไม่บริสุทธิ์ใช่ไหมครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ยังไม่บริสุทธิ์ ศีลยังมีอยู่ แต่ว่ามันทะลุ ไม่ใช่ขาดเพราะมันยังไม่ตาย แต่ว่าศีลมันทะลุไปแล้ว”
ผู้ถาม :- “เป็นยังไงครับ ศีลทะลุ”
หลวงพ่อ :- “ตีให้เจ็บแต่ยังไม่ตาย อันนี้เรียกว่า ศีลทะลุ ถ้ามันเข้ามา นึกโมโหเงื้อมือจะตี ไอ้นี่ ศีลด่าง แต่ถ้านึกๆ เดี๋ยวพ่อตีเสียดีหว่า…ไอ้นี่ ศีลพร้อย คือตัวเมตตามันหลวมไปหน่อย แต่ถ้ามันเดินมาเราเมตตาให้อาหารแก่มัน อันนี้ ศีลบริสุทธิ์“
ถ้าไม่มีพรหมวิหาร ๔ จะรักษาศีล ๕ ได้ไหมครับ
ผู้ถาม :- “ครับ…เข้าใจแล้วครับ กระผมเรียนถามอีกข้อว่า ถ้าเรารักษาศีล ๕ อยู่ แต่ว่าไม่มีพรหมวิหาร ๔ จะรักษาศีล ๕ ได้ไหมครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ไม่ได้ ถ้าคุณไม่มีพรหมวิหาร ๔ ศีล ๕ มันก็ไม่อยู่แล้ว ถ้าคุณมีศีล ๕ อยู่ แสดงว่าพรหมวิหาร ๔ คุณมี แต่คุณไม่รู้จักหน้ามันเอง คนไม่มีเมตตา มันจะมีศีลได้ยังไงล่ะ…”
ผู้ถาม :- “คือเราไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ตัดชีวิตนะครับ…”
หลวงพ่อ :- “ก็นั่นแหละ มันเป็นตัวพรหมวิหาร ๔ อยู่แล้ว เราอาจจะไม่รู้ว่าเป็นพรหมวิหาร ใช่ไหม…เราจะคิดว่าฉันไม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่ความจริงมันมี ถ้าไม่มีพรหมวิหาร ๔ เรารักษาศีล ๕ ไม่ได้ ถ้าหากว่าศีล ๕ บริสุทธิ์ ก็ชื่อว่าเรามีพรหมวิหาร ๔ แต่ว่ากำลังตัวท้ายมันจะเข้มข้นหรือไม่ ไอ้ตัวหนึ่งกับตัวสองมันดีแน่นอนคือ ใช้ได้
คนที่จะมีศีล ๕ ได้ต้องมีเมตตา กรุณา แล้วก็สันโดษ ไม่งั้นศีลมันทรงอยู่ไม่ได้ แต่ว่ามันจะมีโดยที่เราไม่รู้สึกตัว เราไม่รู้จักหน้ามันเอง เพราะเรามุ่งแต่สิกขาบท ใช่ไหม…แต่ความจริงมันต้องมีพรหมวิหาร ๔ หนุน ไม่งั้นศีล ๕ มีไม่ได้”
คนค้าขาย อดโกหกไม่ได้ จะทำยังไงคะ
ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ศีล ๕ มันตกโกหกอยู่เรื่อยค่ะ จะทำยังไงคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ตกโกหกนี่แสดงว่าไม่ได้โกหก นี่แสดงว่ารักษาโกหกไว้มันจึงโกหก”
ผู้ถาม :- (หัวเราะ) “อย่างค้าขายนี่มันอดโกหกไม่ได้ค่ะ…?”
หลวงพ่อ :- “ค้าขายทำไมจะต้องโกหก…?”
ผู้ถาม :- “คือการค้าขาย ถ้าหากว่าเราไม่พูดรู้สึกมันขัดๆค่ะ…”
หลวงพ่อ :- “ไม่พูดก็ขายไม่ได้ซิ”
ผู้ถาม :- (หัวเราะ) “ไม่ใช่ไม่พูดค่ะ ถ้าไม่พูดโกหกมันก็ไม่มีกำไรซิคะ…?”
หลวงพ่อ :- “คุณใช้ภาษามันไม่เป็นเอง อย่างของเราซื้อมา ๑ บาท ตามท้องตลาดเขาขายกัน ๑๐ บาท คนจะมาซื้อเรา ๕ บาท เราบอกไม่ได้หรอก เขาขายกัน ๑๐ บาท เพราะต้นทุนมันแพง มันแพงขนาดไหนก็ช่าง มันแพงก็แล้วกัน มันแพงสำหรับเรา ใช่ไหม…แม่ค้าบางคนบอกไม่ได้ๆ ฉันซื้อมา ๙ บาท ๙๙ สตางค์ ได้กำไรสตางค์เดียว นี่ละไปลิ่วเลย…”
ผู้ถาม :- (หัวเราะ)
หลวงพ่อ :- “ฉันเคยไปซื้อของเจ๊ก เจ๊กบอก “ตกลง…ตกลง…ผมยอมขาดทุน” เลยบอก เก็บๆ ฉันไม่ทรมานแกขนาดนั้นหรอก แกขาดทุน แล้วลูกเมียเอาอะไรกินล่ะ “ไม่เป็นไร…ไม่เป็นไร…ได้กำไรน้อยหน่อย” หนอยแน่…พอไม่เอาบอกว่าได้กำไรน้อยหน่อย อันนี้เขาเรียกว่า ขาดทุนกำไร ใช่ไหม…การค้าขายมันก็ต้องมีกำไร ไม่ใช่ของเลว บอกว่าของดี ของราคาถูกบอกของราคาแพง อันนี้ผิดแน่”
ขอศีลจากพระพุทธรูปได้ไหมคะ
ผู้ถาม :- “ระหว่างที่อยู่ที่บ้าน ถ้าเราไม่ขอศีลจากพระสงฆ์ จะขอศีลจากพระพุทธรูปได้ไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ได้โยม พระพุทธรูปท่านใจดี ความจริงคำว่า ศีล มันอยู่ที่ตัวเว้น นะโยม ถ้าหากว่าเราขอจากพระแล้ว ถ้าเราไม่เว้น มันก็ไม่เป็นศีล ถ้าอยู่ที่บ้านไม่ต้องขอจากใครเลย ตั้งใจเว้นทั้ง ๕ ข้อหรือ ๘ ข้อ อันนี้เป็นศีลแน่นอน แต่ความจริงขอศีลจากพระพุทธรูปนี่ดีนะ เป็นศีลเยอรมันไม่ค่อยขาด”
ศีล ๘ กับ ศีลอุโบสถ ต่างกันไหมคะ
ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ศีล ๘ กับ ศีลอุโบสถ ต่างกันไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ต่างกันอยู่นิดหนึ่ง อุโบสถใช้ อิมัญจรัตติง อิมัญจทิวสัง คือ กำหนดเวลาว่าวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง หรือว่า ๗ วัน กับ ๗ คืน หรือว่า ๓ เดือน ๕ เดือน
แต่ศีล ๘ มีสิกขาบทเท่ากัน แต่ไม่กำหนดเวลา ถ้าเอาความเข้มข้นกันจริงๆ พวกรักษาศีล ๘ มีกำลังใจเข้มข้นมากกว่าพวกรักษาอุโบสถ เขาเก่งสิกขาบทเท่ากัน แต่กำหนดเวลาไม่เท่ากัน
คำว่า อุโบสถ เขาแปลว่า อยู่จำ ตั้งใจจะรักษาแค่ ๑ วัน กับ ๑ คืน หรือ ๗ วันกับ ๗ คืน หรือ ๑ เดือน ก็ว่าไป ทีนี้ถ้าหากว่าเราไม่กำหนดเวลา เราก็สมาทานแค่ศีล ๘ เมื่อไรก็ได้ สบาย”
ผู้ถาม :- “รักษาช่วงไหนก็ได้ ใช่ไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ไม่ได้ๆ คือว่าตั้งแต่หลับถึงตื่นเขาห้ามรักษา ถ้าเราตั้งใจสมาทานดีแล้ว ในช่วงหลับเขาถือว่ามีศีล ในช่วงหลับมันไม่มีกังวลอยู่แล้ว ใช่ไหม…
เมื่อตอนเด็กๆ ฉันก็รักษาศีล ๕ เหมือนกัน ก่อนจะหลับ ฉันก็สมาทานศีล ๕ แล้วบริสุทธิ์ตลอด มันจะไปขาดยังไง เพราะในช่วงหลับ ไม่มีการทำอะไรอยู่แล้ว ใช่ไหม เพราะฉันโกงมาแล้ว เลยห้ามคนอื่นทำตามฉัน”
ผู้ถาม :- (หัวเราะ) “แล้วอานิสงส์ ต่างกันไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ต่างกันหนู เพราะเรียกไม่เหมือนกัน ตัวท้ายนะ
อานิสงส์ท่านว่าอย่างนี้
สีเลนะ สุคติง ยันติ
สีเลนะ โภคสัมปทา
สีเลนะ นิพพุติงยันติ ตัสมา สีลัง วิโสธะเย
ท่านว่าอย่างนี้เหมือนกันหมด มันต่างกันตรงไหนล่ะ”
รักษาศีล ๘ แต่ต้องแต่งตัวเข้าสังคม จะทำยังไงคะ
ผู้ถาม :- “รักษาศีล ๘ นี่คงยากนะคะ เพราะว่าต้องทาแป้งทาปากเวลาไปทำงานค่ะ…?”
หลวงพ่อ :- “ทาแป้ง ทาปาก เราทาเพื่ออะไรล่ะ…ทาเพื่อยั่วกิเลสคนอื่นหรือเปล่า หรือทาเพื่อให้เหมาะสมกับสังคม ป้องกันการเก้อเขิน…?”
ผู้ถาม :- “ทาเพื่อไม่ให้เขาดูว่าผิดปกติค่ะ…”
หลวงพ่อ :- “ไอ้ที่ทาน่ะผิดปกติ เพราะปกติหน้าไม่มีแป้งใช่ไหม…ก็หมายความว่าทาเพื่อไม่ให้เกิดความเก้อเขิน และสังคมนั้นเขาอย่างนั้น เวลาที่เราทา เราไม่ได้หวังว่าจะยั่วให้ใครเขาเกิดกิเลส อันนี้ไม่เป็นไร
การแต่งตัวสวยๆ อย่างนางวิสาขา ท่านมีเครื่องมหาลดาปสาธน์ ราคา ๑๖ โกฎิ เฉพาะแก้วมณีก็ ๒๐ ทะนานแล้ว เวลาไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า ท่านก็แต่งไป พระพุทธเจ้าไม่เคยตำหนิเห็นไหม…”
ผู้ถาม :- “หลวงพ่อ การแต่งตัวสวยๆ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสังคม อย่างนี้เรียกว่าเป็นพวกราคะจริตหรือเปล่าคะ…?”
หลวงพ่อ :- “อันนี้เป็น ถือว่าเป็นราคะจริต ความจริงการแต่งตัวนี่นะ แต่งตัวปกติเขาไม่ถือว่าเป็นราคะจริต และเราก็ไม่ถือว่าขาดศีล ๘ ถ้าสังคมนี้เขาแต่งตัวแบบนี้ เพื่อไม่ให้เก้อเขิน เราก็แต่งตัวแบบนั้น เราทำเพื่อความเหมาะสม ไอ้แต่งตัวหน่อยต้องสะอาดหมด ทุกอย่างต้องเรียบร้อย แต่ราคะจริตเขาไม่ตำหนิว่าเลว ถือว่าเลวไม่ได้นะ คือเขาเป็นคนชอบสวยชอบสะอาด
แต่บางคนคิดว่าคนที่มีราคะจริต เป็นคนมักมากในกามารมณ์ก็ยุ่งซิ มันคนละเรื่อง คือราคะจริตแค่รักสวยรักงาม รักความสะอาดเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ บางคนเขาสวยแสนสวย แต่ก็ไม่ยุ่งอะไรมาก เป็นไปตามกฎธรรมดา
ตัวอย่างพระลูกชายนายช่างทอง เป็นคนสวยด้วย เป็นคนหนุ่มด้วย เป็นคนรวยด้วย พระสารีบุตรท่านเข้าใจว่าเป็นคนที่มีราคะจริต ท่านจึงให้กรรมฐาน อสุภกรรมฐาน ท่านเลยไม่ได้อะไร แต่เนื้อแท้จริงๆ ท่านเป็นคนโทสะจริต พอไปหาพระพุทธเจ้า ท่านให้เพ่ง โลหิตกสิณ เดี๋ยวเดียวก็ได้ฌาน ๔ อีกเดี๋ยวเดียวก็ได้เป็นอรหันต์ นี่คนละเรื่องเลย ใช่ไหม…”
ผู้ถาม :- “ตอนแรกเข้าใจว่าอย่างนั้นค่ะ ก็นึกเสมอว่า ตัวเองยังเป็นพวกราคะจริต แล้วก็ยังตัดราคะจริตยังไม่ได้ ตอนนี้เข้าใจแล้วค่ะ”
ศีลอย่างเดียว เป็นอรหันต์ได้ไหมครับ
ผู้ถาม :- “หลวงพ่อครับ ศีลอย่างเดียวสามารถเป็นอรหันต์ได้ไหมครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ศีลอย่างเดียวเป็นเทวดาได้”
ผู้ถาม :- “บางสำนักเขาว่า เขาอ้างในบาลีว่า สีเลนะ นิพพุติง ยันติ เขาแปลบาลีคำนี้แหละครับ”
หลวงพ่อ :- “นี่อย่าไปเถียงพระพุทธเจ้าดีกว่า พระพุทธเจ้าบอกศีลไปแค่สวรรค์ สมาธิไปพรหม วิปัสสนาญาณไปนิพพาน ขืนแปลไปแปลมาถึงได้ลงนรกกันเป็นแถวไงล่ะ”
ผู้ถาม :- “เขาแปลผิดใช่ไหมครับ…?”
หลวงพ่อ :- “แปลน่ะ ไม่ผิดหรอก แต่เข้าใจผิด พระพุทธเจ้าท่านวางไว้แล้วไม่ต้องไปวางซ้อนหรอก ดีไม่ดีจะไปแย่งที่พระเทวทัตอยู่จะลำบาก ที่อเวจีต้องแย่งกันอยู่ก็เพราะเหตุนี้แหละ”
ผู้ถาม :- “แต่ผมก็ว่ามันยากนะครับ ถ้าใช้ศีลอย่างเดียว อย่างน้อยก็ต้องครบองค์ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา”
หลวงพ่อ :- “ใช่ ต้องมีพร้อม”
ผู้ถาม :- “จะมากน้อยก็แล้วแต่ใช่ไหมครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ไม่ได้ ต้องพอดีๆ ต้องตามขนาด ศีลต้องบริสุทธิ์ สมาธิต้องมีกำลังพอ วิปัสสนาญาณ อาจจะอ่อนไปนิดอ่อนไปหน่อย ถ้าฝึกมโนมยิทธิก็ไปช้า มัวไปหน่อยแต่ว่าไปได้ แต่ศีลนี่ไม่ได้เลย ศีลต้องทรงตัว สมาธิต้องกำลังพอ ไม่พอไปไม่ได้”
ผู้ถาม :- “ครับ…เข้าใจแล้วครับ ทีนี้ผลจากการฝึกมโนมยิทธิ จะทำให้ได้ฌานสมาบัติไหมครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ก็มันลัดไปหาสมาบัติ ๔ ทันทีเลย แค่สมาบัติ ๔ มันยังไม่พอ ยังได้อารมณ์ทิพย์ที่พิเศษอีก สมาบัติ ๔ เฉยๆ มันใช้อะไรไม่ได้ ไอ้ตัวนี้เป็นทิพจักขุญาณ สามารถทำให้ได้อภิญญา”
ผู้ถาม :- “แล้วจะต้องมีศีลหรือเปล่า…?”
หลวงพ่อ :- “ศีลต้องมี”
ผู้ถาม :- “แล้วทานเล่าครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ทานเราก็มีอยู่แล้วเป็นปกติ คุณไม่เคยเอาข้าวให้หมาบ้างเลยรึ…?”
ผู้ถาม :- (หัวเราะ) “เคยครับ”
หลวงพ่อ :- “คือถ้าเราสามารถให้ทานได้ มันต้องมีศีลได้ คุณต้องดูว่า คนที่จะให้ทาน ให้ด้วยกำลังใจแบบไหน
เราจะให้ทานได้ด้วยเหตุ ๒ ประการ
๑.เมตตา ความรัก
๒.กรุณา ความสงสาร
ถ้าคนที่เรารักเราให้ เราไม่เคยรักเลยเห็นเขาลำบาก เราสงสารเราให้ ตัวรักกับตัวสงสารมันคุมศีลนะ ศีลจะมีได้ต้องมีเมตตากับกรุณา ๒ ตัว ถ้าขาดเมตตากับกรุณา ๒ ตัว มันจะมีศีลไม่ได้ ใช่ไหม…
ฉะนั้น คนที่มุ่งในการให้ทาน รักษาศีลได้ง่าย เพราะทุนเขามีอยู่แล้ว เท่านี้พอแล้ว ถ้าเราพอใจในการให้ทาน การรักษาศีลก็ทรงตัว มันตัวเดียวกัน เท่านี้เองไม่ยาก ใช่ไหม…ของง่ายๆ
แต่ว่าถ้าฌานโลกีย์ ก็อย่าลืมนะ ถ้าฌานโลกีย์ ศีลเขาขาดง่าย ถ้าวันไหนศีลบกพร่อง วันนั้นก็จางไปนิด มัวไปหน่อย ถ้าฌานโลกีย์เฉยๆ มันพิสูจน์ได้ยาก ได้ฌานโลกีย์ด้วย ได้ทิพจักขุญาณด้วย ได้มโนมยิทธิด้วย พิสูจน์ง่าย ถ้าวันไหนศีลบกพร่องมันมืด ไปไหนก็ไปไม่ไหวก็เกิดกลุ้ม ต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์ไว้เสมอ
อย่างเป็นพระนี่เห็นชัด แค่อาบัติทุกกฎตัวเดียว มันมั่วตั้วเลย ทำยังไงมันก็ไม่ทรงตัว เอาไม่อยู่ต้องเลิก อาตมาโดนแล้ว พอเลิกแล้วก็มานั่งนึก ตั้งแต่เมื่อเช้ามาถึงเวลานี้ทำอะไรบ้าง พอนึกขึ้นมาได้ ต้องไปหาเพื่อนพระแสดงอาบัติ ถ้าเป็นอาบัติต้องออกชื่ออาบัติข้อนั้นตรงเลยนะ จะว่ามวยหมู่รวมหมดไม่ได้ คิดว่าจะไม่ทำต่อไป พอปลงอาบัติแล้ว มันสว่างจ้าไปได้ นี่มันดีแบบนี้ เป็นการคุมอารมณ์ไปในตัวเสร็จ
ถ้าสุกขวิปัสสโกนี้ไม่แน่นะ เหมือนเอาผ้าผูกตาเดินใช่ไหม…อย่างนี้ทางไวกว่าเยอะ”
จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๓ หน้า ๗๙-๘๙ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)