เที่ยวเมืองนรก โดยครูบุญชู ศรีผ่อง

เที่ยวเมืองนรก
บันทึกโดยนางบุญชู ศรีผ่อง อดีตครูโรงเรียนวัดจุฬามณี

ตายครั้งแรกพบชาย ๔ คนมารับ

วันนั้นเป็นวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๕ ข้าพเจ้าได้ไปทำกิจวัตรประจำวันของข้าพเจ้า คือเป็นครูน้อยประจำโรงเรียนประชาบาล ต.สามโก้ ๔ (วัดมงคลธรรมนิมิตร) อ.วิเศษไชยชาญ จ.อ่างทอง ตามปกติ แต่วันนั้นเป็นที่ข้าพเจ้ารู้สึกเกียจคร้าน ไม่มีกำลังใจที่จะสอนเด็ก และประกอบกับความง่วงผิดปกติ ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่ได้ไปอดนอนที่ไหนมา แต่เป็นเพราะเหตุใดไม่ทราบทำให้ข้าพเจ้าง่วงอยากจะหลับอยู่เสมอ

ในวันนั้นเลยเป็นเหตุให้จิตใจของข้าพเจ้าไม่เป็นปกติ แต่ข้าพเจ้าก็จำทนสอนต่อไปจนหมดเวลา ๑๕.๑๕ น. ซึ่งเป็นเวลาเลิกทำการสอน พอปล่อยเด็กกลับบ้านแล้ว ข้าพเจ้าก็เดินมาบ้านซึ่งห่างจากโรงเรียนประมาณ ๓ เส้นเศษ ข้าพเจ้ามาถึงบ้านก็เริ่มผลัดเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว และปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน คือ หุงข้าว กวาดบ้าน ถูบ้าน และอาบน้ำตนเองและบุตร

เมื่อเสร็จงานบ้านแล้วข้าพเจ้าก็นำเสื่อมาปูและนอนเล่นกับบุตร ๒ คน ในขณะนั้นเวลา ๑๖.๓๐ น.เศษ ต่อมาข้าพเจ้าหลับไปเมื่อไรไม่ทราบ มารู้สึกตัวต่อเมื่อตัวข้าพเจ้าเองมายืนอยู่ใต้ร่มไม้ มีร่มมะพร้าว ขนุน มองดูสวยงามมาก มะพร้าวและขนุนกำลังมีผลดก แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่า ที่ข้าพเจ้ายืนอยู่นี้เป็นที่ใด

ข้าพเจ้ามองดูไปรอบๆ ตัวของข้าพเจ้า บังเอิญสายตาของข้าพเจ้าก็มองไปพบถนนสายหนึ่ง ยาวเหยียดไปข้างหน้า ด้วยความอยากรู้ ข้าพเจ้ายกเท้าจะเดินไปเที่ยวถนนสายนั้น แต่ยังมิทันที่เท้าของข้าพเจ้าจะถูกกับถนน ข้าพเจ้าก็ต้องสะดุ้ง เพราะได้ยินเสียงพูด แต่เสียงดังเหลือเกิน ดังคล้ายตวาด

เสียงนั้นดังมาจากข้างหน้าของข้าพเจ้า ว่า “อ้อ…บุญชู เหมาะเลย มาเถิด นายให้มารับ ถึงเวลาแล้ว”

ข้าพเจ้าได้ยินดังนั้นก็บอกเขาว่า “ไม่ไปหรอก” พร้อมกับผละออกวิ่งทันที

แต่ชายทั้ง ๔ คนมารับก็เดินตาม และพูดว่า “ถึงเวลาแล้ว ไม่ไปไม่ได้”

ข้าพเจ้าก็หันไปบอกเขาว่า “ลุงไปบอกกับนายเถิดว่าฉันผลัดไปก่อน ฉันยังไม่ไปหรอก”

แต่เขาก็ตอบมาอีกว่า “ผลัดกับข้าไม่ได้ เอ็งต้องไปผลัดเอง”

เมื่อหมดทางเลี่ยง ข้าพเจ้าจึงบอกว่า “ถ้าเช่นนั้นต้องคอยก่อนฉันต้องไปบอกคนทางบ้านเสียก่อน เพราะที่มาเที่ยวนี้ไม่มีใครรู้”

แล้วข้าพเจ้าก็เดินมาหน้าบ้าน และเดินเข้ารั้วบ้านขึ้นบันไดไป ก็พบว่าบนบ้านสว่างไปด้วยตะเกียงเจ้าพายุ และมีชาวบ้านมานั่งกันอยู่เต็มบ้านพร้อมทั้งร้องไห้ ข้าพเจ้าขึ้นบันไดได้ก็ผละวิ่งจากตรงบันไดไปหาสามีของข้าพเจ้าซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ หมอ ข้าพเจ้าเสียหลักสะดุดชายเสื่อล้มลงไป

เมื่อข้าพเจ้าลุกขึ้นมา ชาวบ้านใกล้เคียงที่มานั่งอยู่บนบ้าน ข้างๆ ข้าพเจ้านั้น ต่างพากันถอยหลังหนีไปรวมกันอยู่หน้าครัวหมด และก็ต่างชิงถามกันว่า “ครูฟื้นแล้วหรือ ครูไม่ตายหรือ ครูไม่ได้หลอกพวกฉันไม่ใช่หรือ”

ข้าพเจ้าก็บอกพวกนั้นว่า “อย่ากลัวฉันเลย แต่ฉันอยากจะพูดอะไรด้วยสักหน่อยแล้วก็จะต้องไป เพราะเขามารับฉันแล้ว ฉันอยู่ไม่ได้ ฉันยังไม่อยากตาย ขอผลัดเขา เขาไม่ยอม เขาบอกให้ไปผลัดกับยมบาลเอง ฉันจึงจะต้องไป และฉันขอร้องด้วยทุกๆ คนว่า ขอให้เก็บศพฉันไว้ ๓ วันก่อน ถ้าไม่กลับหมายความว่าเขาไม่ยอม จึงค่อยจัดการเผา”

พอดีได้ยินเสียงสุนัขหอนขึ้น และข้าพเจ้าได้ยินเสียงเรียกข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงบอกว่า “โน่นเขาเร่งมาแล้วฉันไปละ ลาก่อนทุกๆ คน”

นายเจ็กที่เป็นหมอแกจึงเอาธูปเทียนมาให้ข้าพเจ้า และบอก “พระอรหัง พระอรหัง” ตอนนี้ข้าพเจ้าเกือบจะหมดสติแล้ว รับคำพระอรหังได้ ๒ ครั้งก็หมดสติวูบไป มารู้สึกตัวว่าตัวของข้าพเจ้าเองได้มาเดินอยู่บนถนนสายนั้นเสียแล้ว

ตายครั้งที่ ๒ พบยมบาล

ในระยะที่ข้าพเจ้าฟื้นและตายไปใหม่นี้ คือฟื้นตอนประมาณ ๒๒.๐๐ น. และตายไปใหม่ประมาณ ๒๒.๐๖ น. ตลอดทางที่เดินไปนั้นข้าพเจ้าอยู่ตรงกลาง มีคนขนาบข้าง ๒ คน และอยู่หน้า ๒ คน หลัง ๑ คน เดินมาพักใหญ่จึงมาพบโต๊ะตั้งอยู่ข้างทางเดิน มีอาหารหลายชนิดตั้งอยู่บนโต๊ะ มีเหล้า ข้าว หมู ไก่ ขนมจีนน้ำยา และขนมอีกหลายชนิด

คนทั้ง ๔ ตรงเข้าไปที่โต๊ะและเรียกข้าพเจ้าว่า “บุญชูยังไม่ได้กินข้าว มากินเสียซี”

ข้าพเจ้าก็ตรงเข้าไปกินกับเขา เมื่ออิ่มแล้วก็ถามเขาว่า “ของของใคร นี่เรามากินของของเขาไม่ว่าเอาหรือ…?”

คนที่มีท่าทีว่าเป็นหัวหน้าบอกข้าพเจ้าว่า “ไม่มีใครว่าหรอก เพราะเซ่นผีไว้ อีก ๒ วัน ข้าจะกลับมาเอา”

ข้าพเจ้าถามเขาว่า “บ้านใครเล่า”

เขาตอบว่า “โน่นยังไงเล่า บ้านนางหล่ำ หัวตะพาน เขาทำบุญต่ออายุไว้ อีก ๒ วันเถิดข้าจะมาเอาตัวไป”

ข้าพเจ้ามองตามมือก็เห็นบ้านหลังนี้อยู่ข้างๆ บ้านๆ หนึ่งมีลูกกรงสีเขียว ต่อจากบ้านนางหล่ำมาอีกพักใหญ่ จึงพบขบวนคนยืนอยู่สองฟากถนน ต่างไชโยโห่ร้องรับข้าพเจ้า และร้องบอกกันว่า “พวกเรามาอีกคนแล้วโว้ย”

ข้าพเจ้าบอกกับเขาว่า “ฉันไม่มาเป็นพวกแกหรอก”

พวกนี้ส่วนมากไม่นุ่งผ้ากันเลย จากพวกนี้ไปก็ถึงสวนดอกไม้ใหญ่ ดอกนั้นสวยมากเป็นทองคำทั้งดอก ใบเป็นสีเขียวเป็นมันเหมือนมรกต ข้าพเจ้าตรงเข้าไปเก็บบ้าง ก็ถูกห้ามไม่ให้เก็บ เขาบอกว่า ถ้ายังอยากจะกลับละก้ออย่าไปเก็บ ถ้าเก็บแล้วเอ็งจะกลับไม่ได้ ข้าพเจ้าต้องเดินผ่านมาด้วยความเสียดาย

ต่อจากนี้มีบ้านเล็กๆ เป็นแถว ข้าพเจ้ารู้สึกสงสัยเพราะน้อยบ้านนักที่จะมี ๒–๓ คน โดยมากบ้านละ ๑ คน บางบ้านมีคนอยู่ใต้ถุนเต็มไปหมด ข้าพเจ้าถามก็ได้ความว่า ที่บางบ้านมีคนอยู่มากบ้างน้อยบ้าง เกี่ยวกับทำบุญของแต่ละบุคคล บางคนทำบุญไว้ดี ก็ได้อยู่บ้านสวยงาม บางคนร่วมกันทำบุญสร้างด้วยกันทำพร้อมกันก็ไปอยู่บ้านเดียวกัน บางคนทำบุญ แต่ก่อนที่จะทำว่าเขาเสียก่อน ทำโดยไม่ตั้งใจจะทำก็ไปอาศัยใต้ถุนเขาอยู่

ต่อจากบ้านที่มีเรียงรายไปอีกไกล เดินพักใหญ่ก็พบลานกว้างใหญ่ มีต้นไทรขนาด ๒๐ คนโอบ มีแท่นหินและโต๊ะหินอยู่โคนต้นไทร มีชายคนหนึ่ง ดำ ผมหยิกตาพอง รูปร่างใหญ่โตนั่งอยู่บนแท่นหินนั้น

ชายทั้ง ๔ และข้าพเจ้าเดินมาถึงตรงนี้ ก็ถูกเรียกว่า “เฮ้ย…พามาตรงนี้ซิ มาถามไถ่กันดูก่อน อีนี่ดื้อนักเรียกไม่ค่อยจะมา”

ข้าพเจ้าและชายทั้ง ๔ จึงเดินเข้าไปหยุดตรงหน้า พอข้าพเจ้าเงยหน้าขึ้นดูก็รู้สึกดีใจว่า ยมบาลคนนี้รูปร่างเหมือน นายเชย สิงหมี ผู้ใหญ่บ้านที่ข้าพเจ้ารู้จัก จึงถามว่า “อ้าว…ตาเชยมาเมื่อไหร่เล่า”

แต่กลับถูกตวาดว่า “เชยๆ อะไร เอ็งรู้จักข้าตั้งแต่เมื่อไร”

ทำให้ข้าพเจ้าเงียบเสียงทันที แต่ก็ยังนึกสงสัยว่า ยมบาลนี่ถ้าไม่ชื่อเชย ทำไมรูปร่างจึงเหมือนผู้ใหญ่เชยจริงๆ คล้ายกับจะเป็นลูกฝาแฝดทีเดียว แต่ยมบาลตัวใหญ่มาก ข้าพเจ้าจะพูดกับยมบาลต้องแหงนหน้าดู ข้าพเจ้ายืนอยู่ตรงหน้าคล้ายกับเอาลูกหนูไปยืนอยู่ตรงหน้าวัวตัวเขื่องๆ ทีเดียว

“เอ็งทำไมดื้อนัก ข้าให้คนไปรับยังวิ่งหนี”

ข้าพเจ้าตอบไปว่า “ฉันเป็นห่วงลูกเพราะลูกยังเล็กอยู่”

คราวนี้ยมบาลสะดุ้งทันที ร้องว่า “อ้าวพวกมึงทำไมไปทำระยำอย่างนี้เล่า ผิดตัวเสียแล้ว อีนั่นมันไม่มีลูกนี่หว่า”

เสร็จแล้วก็ไปพลิกบัญชีดู และบอกว่า “อีคนนั้นชื่อ บุญชู จิตทอง บ้านต้นโพธิ์ หมู่ ๑ จังหวัดสิงห์ฯ ตายเวลาตี ๑ ครึ่ง เป็นไข้ทับระดูตาย อีนี่ตายตั้งแต่ ๕ โมงเย็นเป็นลมตาย ไม่ใช่ๆ ผิดตัว เอ็งจัดแจงเตรียมไปเอาอีคนนั้นมา”

เดินชมสภาพเมืองนรก

พอ ๔ คนนั้นเตรียมตัวไป ยมบาลก็หันหน้ามาบอกข้าพเจ้าว่า “จะดูอะไรก็ดูเสียประเดี๋ยวจะให้เขาเอากลับไปส่ง”

ข้าพเจ้าจึงเดินดูเห็นทนายความคนหนึ่งกำลังขึ้นต้นงิ้ว ต้นงิ้วนี้น่ากลัวมาก คือสูง แหงนมองเห็นยอดลิบๆ หนามไม่ยาว แต่พอขึ้นไปหนามยาวออกเองได้ แทงทะลุท้อง ทะลุอกออกมา ตายอยู่กับหนาม เขาก็เอาคีมเหล็กจับตรงเอว ดึงออกมาวางตรงโคนต้น เอาน้ำในโอ่งใหญ่มาราดแล้วก็กลับฟื้นขึ้นมาอีก จะเลี่ยงไม่ได้ เพราะใต้ต้นก็มีทหารถือหอกคอยแทง

ข้าพเจ้าเห็นผู้หญิงคนหนึ่งขึ้นต้นงิ้ว ซึ่งข้าพเจ้ารู้จัก ชื่อม้วน จึงถามเขาว่า “เอ๊ะ…ผู้หญิงก็ขึ้นต้นงิ้วด้วยหรือ…?”

เขาบอกว่า “ทำไมเล่า มันนอกใจผัว ไปเป็นชู้กับตาหอม” ต่างขึ้นๆ ลงๆ อยู่เช่นนั้น

ข้าพเจ้ายังได้พบชายอีกคนหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าเคยรู้จัก ชื่อนายเปลื่อง จินดาวัด ถูกตัดนิ้วด้วนกุดหมด ถามได้ความว่าชอบยิงนกในวัดเสมอ บางคนก็เคยทุบหัวควาย ก็ถูกล่ามโซ่และถูกเชือดเนื้อเสียงร้องอู้ๆ น่ากลัวมาก ข้าพเจ้ามองดูด้วยความหวาดเสียว

พอข้าพเจ้าเดินดูต่อไปอีก ก็ได้ยินเสียงยมบาลบอกกับข้าพเจ้าว่า “หิวข้าวก็ไปกินซี่ ของเราอยู่โน่น”

ข้าพเจ้าจึงเดินไปดู เห็นโต๊ะใหญ่ตัวหนึ่ง มีของเกือบเต็ม มีขันใส่ข้าว ซึ่งข้าพเจ้าจำได้ว่า ขันลูกนี้ข้าพเจ้าเคยใส่ข้าวไปใส่บาตร ข้าวยังเต็มขัน และควันร้อนขึ้นฉุยอยู่ ทั้งๆ ที่ขันลูกนี้ ข้าพเจ้าจำได้ว่าอยู่ที่บ้านของข้าพเจ้า หม้อแกง ถ้วย ชาม ถาด ที่ข้าพเจ้าพบที่นี่ ก็ยังอยู่บ้านข้าพเจ้าทั้งนั้น นอกจากนี้ยังมีน้ำขวดตั้งโต๊ะ

ข้าพเจ้าจึงถามเขาว่า “เอ๊ะ…ของฉันทำไมมีน้ำครึ่งขวดเท่านั้นเล่า และบางโต๊ะทำไมไม่มี”

เขาบอกว่า “พวกเมืองมนุษย์นั้นเต็มที มันไปทำบุญมันเอาข้าวกับขนมไปทำเท่านั้น มันไม่เอาน้ำมาทำบุญ มันจึงต้องอดน้ำ”

ข้าพเจ้าได้ถามถึงวิธีทำบุญด้วยน้ำ ก็ได้ความว่า ให้เอาน้ำไปใส่ขวดหรือขันที่ตั้งอยู่หน้าพระสงฆ์ เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้วจึงกรวดน้ำแผ่กุศลต่อไป น้ำที่นำไปใส่ขวดหรือขันนี่แหละจึงจะได้กินน้ำ ถ้ามิฉะนั้นแล้วจะไม่ได้กินน้ำ ข้าพเจ้าจึงบอกกับเขาว่า ฉันได้กลับมา จะมาบอกพวกชาวบ้าน

พบบัญชีคนตาย

เมื่อข้าพเจ้าเดินออกมาตรงโต๊ะอาหาร ยมบาลก็โยนบัญชีมาให้ข้าพเจ้าดู ในบัญชีนั้นมีตัวหนังสือใหญ่ๆ แผ่นกระดาษใหญ่เท่ากับแผ่นกระดานดำที่สอนเด็ก ข้าพเจ้ามองดูมีชื่อคนมาก แต่ข้าพเจ้าก็พยายามจำแต่คนที่ข้าพเจ้ารู้จัก จำมาได้ดังนี้ คือ

๑.บุญชู จิตทอง ตีหนึ่งครึ่ง ไข้ทับระดู ๕ กุมภาพันธ์ ๙๕
๒.นางหล่ำ ๗ กุมภาพันธ์ ๙๕
๓.นางฉาย บุญวงศ์ ๔ มีนาคม ๙๕
๔.นายแม่น ทองสติ ๔ กรกฎาคม ๙๕
๕.นายปลอด สีสิงห์ อีก ๒ ปี (๔ กุมภาพันธ์ ๙๗)

ข้าพเจ้าจะขอเปิดดูอีก แต่เขาไม่ยอมให้เปิด เขาบอกว่า “เอ็งหมดสิทธิ์ที่จะเปิดแล้ว เอ็งเป็นคนใจบุญเปิดไม่ได้หรอก เดี่ยวไปเที่ยวบอกเขาหมด เมื่อก่อนนี้เอ็งเป็นคนทำบัญชีให้ข้า ข้าคิดถึงเอ็ง อีก ๕ ปี ข้าจะให้ไปรับ เพราะเอ็งจะลำบากอีกมาก”

ข้าพเจ้าบอกว่า “อีก ๕ ปี ฉันไม่มาหรอก”

ยมบาลหัวเราะแล้วพูดว่า “เอ็งอยากลำบากก็ตามใจเอ็ง แต่ถ้าเอ็งไม่มา เอ็งต้องบวชลูกให้ข้า ข้าก็จะไม่ไปรับเอ็ง”

“แต่ว่าจะให้คาถาเอ็งไว้ป้องกันตัวบทหนึ่ง เอ็งพยายามท่องอยู่เสมอ อันตรายและความลำบากจะลดน้อยลงไป คาถานี้เอ็งบอกให้ทั่วๆ ไปเถิด เอาบุญ เพราะต่อๆ ไปในเมืองมนุษย์จะยุ่งใหญ่ เอ็งคอยจำนะข้าจะบอกให้ ก่อนท่องตั้ง นะโม เสียก่อนนะ แล้วท่อง จะลงจากบ้านหรือจะนอน ท่องอยู่เสมอๆ จะคุ้มภัยเอ็งได้”

ปะโตเมตัง ปะระชิวินัง สุขะโต จุติ
จิตะเมตะ นิพพานัง สุขะโต จุติ

ข้าพเจ้าจำไว้เพื่อนำมาบอกยังมนุษยโลกต่อไป และก็เป็นที่น่าแปลกว่า ข้าพเจ้าได้ฟังเพียงครั้งเดียวก็จำได้

พบ “บุญชู” ตัวจริง

และก็พอดีเขานำ บุญชู จิตทอง มา บุญชูคนนี้กับข้าพเจ้ารูปร่างเหมือนกันมาก ข้าพเจ้าได้ยินเสียงยมบาลดุบุญชูว่า

“เอ็งนี่จะตายแล้วยังจะก่อเวร ไปลักพุทราเขามากินและผิดสำแดงพุทรา จึงตาย”

แล้วเขาก็สั่งให้ตีบุญชู ข้าพเจ้ารู้สึกกลัวจริงๆ เพราะการทรมานต่างๆ ของขุมนรกนี้เป็นที่นาหวาดเสียวมาก เมื่อบุญชูคนโน้นถูกตีด้วยหวายแล้ว ยมบาลก็สั่งให้ชายทั้ง ๔ นำข้าพเจ้ามาส่ง

มาระหว่างทาง ชายคนหนึ่งซึ่งมีท่าทางคล้ายกับเป็นหัวหน้า ได้เตือนข้าพเจ้า “อย่าลืมนะ อีก ๕ ปี เอ็งต้องบวชลูกให้พวกข้า”

ข้าพเจ้ารับคำ แต่แล้วข้าพเจ้าก็ต้องผละออกเดินห่างจากแก เพราะเวลาแกพูดมีหนอนร่วงออกมาจากปากมาก จึงถามแกว่า “ลุงจ๋า ลุงซื่ออะไรทำไมลุงจึงเป็นดังนี้”

แกก็บอกว่า “ข้าชื่อเอื้อม คนดอนรัก(คนในตำบลดอนรัก) ไปถามดูเถิดมีคนรู้จัก ลูกข้าชื่อไอ้เจือ เมื่อก่อนข้าเลี้ยงช้าง ได้เงินค่าจ้างเดือนละตำลึง เงินเหลือข้าก็ซื้อเหล้ากิน ผลแห่งการกินเหล้านี่แหละหนอนจึงกินปากข้า”

พอมาถึงบ้าน ข้าพเจ้าเข้าบ้านไม่ได้ เพราะล้อมสายสิญจน์และซัดข้าวสารไว้ จนกระทั่งลุงเอื้อมแกจับข้าพเจ้าเหวี่ยงโครมขึ้นมาบนบ้าน ทำให้บ้านไหวยวบ คนหนีกันหมด เหลือแต่ลูกสาวของข้าพเจ้าอายุได้ ๔ ปีนั่งอยู่และถามข้าพเจ้า “แม่ไม่ตายหรือ” พอบอกว่าไม่ตายหรอก จึงได้เรียกขึ้นมาบนบ้าน ข้าพเจ้ารู้สึกใจหายเพราะตอนที่ฟื้นมานี้เป็นเวลา ๘.๐๕ น.เศษ และต่อโลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว

พวกชาวบ้านและพระขอร้องให้ข้าพเจ้าเล่าให้ฟ้ง และข้าพเจ้าได้ถามถึงลุงเอื้อม ก็ได้ความว่าเป็นพี่ชายนายทัน ผู้ใหญ่บ้าน และตายไปประมาณ ๓๐ ปีแล้ว ผู้มีชื่ออยู่ในบัญชี ข้าพเจ้าก็นำมาเล่าให้ชาวบ้านและพระฟังจนหมด

และต่อมาเมื่อวันที่ ๗ นางหล่ำตาย วันที่ ๔ มีนาคม นางฉายตาย วันที่ ๔ กรกฎาคม นายแม่นตาย ต่อมาคนสุดท้ายนายปลอด สีสิงห์ กำหนด ๒ ปี พอครบก็ตายพอดี แต่ก่อนตายแกไปเที่ยวขุดละลายหัวคันนาที่แกเคยรุกเขา มาคืนให้เจ้าของหมด

และต่อมาชายคนหนึ่งทางห้วยคันแหลม ได้สั่งลูกหลานไว้ หลังจากข้าพเจ้าฟื้นมาแล้ว “กูตายไปละก้อ มึงเอาขวานใส่โลงไปให้กูด้วย กูจะเอาขวานไปโค่นต้นงิ้ว”

พอตายลูกหลานก็เอาขวานใส่ไปให้จริงๆ ต่อมาแกกลับมาเข้าทรงเด็กๆ ให้ไปขุดขวานขึ้น แกบอกว่า “ไม่ไหวละ มันเอาขวานทุบหัวเสียอีกด้วยซิ แทนที่จะเอาขวานไปโค่นต้นงิ้ว”

ในที่สุดพวกลูกต้องไปขุดเอาขวานขึ้น.

(จบบันทึกของครูบุญชูไว้เพียงแค่นี้ เรื่องตายแล้วฟื้นนี้มีประสบเหตุการณ์หลายราย การที่ไปพบเห็นในสภาพต่างๆ คล้ายๆ กันนั้น ก็เป็นไปตามอำนาจของบุญกุศลของผู้นั้น หรือแล้วแต่เจ้าหน้าที่เขาจะอนุญาตให้พบเห็นได้ แต่ก็พอเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า คนเราตายแล้วไม่สูญ นรกสวรรค์มีจริง ทำกรรมดีได้ดี ทำกรรมชั่วได้ชั่วอย่างแน่นอน)

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หน้า ๙๐-๑๐๑ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน เที่ยวเมืองนรก โดยครูบุญชู ศรีผ่อง

อาการของคนที่ใกล้จะตาย

อาการของคนที่ใกล้จะตาย โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ที่หลวงพ่อบอกว่า เวลาคนใกล้จะตาย ถ้าจิตดีก็ไปดี ถ้าจิตไม่สงบก็ลงนรก แล้วคนที่ใกล้จะตายเขากำลังเจ็บปวดเล่าคะ จะให้สงบได้ยังไง…?”

หลวงพ่อ :- “ฉันไม่ได้บอกว่าสงบ บอกว่าจิตผ่องใส”

ผู้ถาม :- “เขาเจ็บปวดจะให้เขาผ่องใสได้ยังไงคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ถึงเจ็บเขาก็ใสได้”

ผู้ถาม : -“หนูเห็นเขาร้องครวญคราง…”

หลวงพ่อ :- “ร้องเสียงดังไหม…ถ้าดังมากใสมาก อ้าว…สังเกตสิ ถ้าเสียงร้องโอ๊ยๆ อย่างนี้ใสแจ๋วเลย”

ผู้ถาม :- (หัวเราะ)

หลวงพ่ออธิบายเพื่อความเข้าใจต่อไปว่า

หลวงพ่อ :- “ถ้าเป็นบุญเขาทำได้ ถ้าบุญช่วยเขานะ จะสังเกตได้ ๒ ตอน บางทีขณะที่มีทุกขเวทนามากถึงกับทะลึ่งพรวดๆ ก็มีใช่ไหม…ตอนนั้นจิตอาจไม่ทรงตัว ก่อนจะตายจริงๆ ประมาณสัก ๒๐ นาทีจิตสงบ ถ้าตอนสงบตอนนี้จะพูดรู้เรื่องหมด นี่ฉันเจอะมาเยอะ บางคนเขาดิ้นพรวดๆ ทะลึ่งพรวดๆ ยิ่งกว่าร้องอีก ร้องด้วยทะลึ่งด้วย มันแน่นขึ้นมาเต็มที่ พอประมาณสัก ๒๐ นาที หรือเกินกว่านั้น เขาเงียบเรียบร้อย…สบาย…”

ผู้ถาม :- “แต่ยังไม่หยุดหายใจ ใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “อ้าว…ยังไม่ตาย พอสบายเขาก็พูดได้เลย ถามว่าใกล้จะถึงเวลา ๑๑ โมงแล้วหรือยัง บอกว่ายัง เหลืออีก ๓ นาที พอ ๑๑ โมงเป๋ง ลืมตาปั๊บหลับปุ๊บไปเลย นี่ถ้าบุญเขามีนะ ที่ดิ้นพรวดน่ะเพราะกรรมปาณาติบาตมาสนอง ในตอนต้นเท่านั้น แต่ทำเขาตอนปลายไม่ได้”

ผู้ถาม :- “บางคนนะคะ ก่อนจะตายเขาบอกว่ามีคนมารับ แต่งตัวอย่างโง้นอย่างงี้”

หลวงพ่อ :- “ไอ้แต่งตัวอย่างโง้นอย่างงี้ ไม่มีหรอก”

ผู้ถาม :- (หัวเราะ) “คือว่าแต่งชุดขาวค่ะ ใส่หัวชฎา”

หลวงพ่อ :- “อ๋อ…ถ้าอย่างนั้นน่าไปสวรรค์ ทุกคนน่ะควรจะบอกได้ ถ้าลิ้นดี”

ผู้ถาม :- “บางคนก็บอกว่านุ่งผ้าสีแดง”

หลวงพ่อ :- “ชุดนี้สบายแน่ คือทุกคนเวลาจะตาย มีแขกเชิญทั้งนั้น อยู่แต่ว่าใครจะเชิญ ถ้าหากว่าประสาทสมบูรณ์แบบนะ จะบอกได้ทุกคน ก่อนจะตายอย่างมากไม่เกิน ๗ วัน หรือ ๓ วัน จะเห็นพวกนี้มารับ จะมาเชิญ แต่สำคัญมาแค่ ๔ คน แต่งตัวแดงน่ะซิ ไม่ต้องห่วงไปสำนักพระยายมแน่

ถ้าจะไปเป็น เทวดา เทวดาจะมารับ
ถ้าจะไปเป็น พรหม มีทั้งเทวดาและพรหมมารับ
ถ้าจะไป นิพพาน จะเห็นพระอรหันต์มารับด้วย มีเทวดาด้วย มีพรหมด้วย มีพระอริยะด้วย”

ผู้ถาม :- “ถ้าเป็นมนุษย์ล่ะครับ…?”

หลวงพ่อ :- “เป็นมนุษย์มีหมามารับ เอ้ย…ไม่ใช่ ถ้าเป็นมนุษย์ก็ไม่มีใครมารับซิ เป็นมนุษย์ก็ไม่จำเป็น คือไม่ต้องมีภาพ ออกปั๊บเข้าเลย ออกไปอาจจะเป็นสัมภเวสีชั่วขณะไม่กี่วัน”

ผู้ถาม :- “ออกปั๊บเข้าปั๊บ มีไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “มี แต่ออกไปอยู่ ๙ วัน ๑๐ วัน เดือนสองเดือนแล้วเข้าก็มี เคยเจอะหลายราย ไม่เหมือนกัน”

ผู้ถาม :- “ขอให้หลวงพ่อเล่าเรื่องเทวดามาเชิญอีกหน่อยเถอะครับ”

หลวงพ่อ :- “พวกมาเชิญนี่เขารู้จุดหมายแน่นอนนะ อย่างเรื่อง ครูบุญชู ศรีผ่อง อยู่จังหวัดอ่างทอง แกตายผิดระเบียบ เพราะคนที่จะตายชื่อ นางสาวบุญชู จิตทอง แต่ผู้มารับแกแวะเล่นเอานางบุญชูเข้าให้ พวกรับผิดตัว เขาให้มารับนางสาวบุญชู บ้านอยู่จังหวัดสิงห์บุรี แล้วบัญชีเขาก็ชัด บอกบ้าน บอกตำบล บอกต้นไม้ บอกเลขบ้านเสร็จ แล้วก็บอกอาการโรค และเวลาที่จะตายด้วย คือว่าจะเป็นไข้ทับระดูตาย ตายเวลาตีหนึ่งครึ่ง แต่พ่อพวกนั้น พ่อมาตั้งแต่ตอนเย็น พ่อล่อเอานางบุญชูไปเลย”

(เรื่องนี้บังเอิญได้ไปพบ หนังสือเที่ยวเมืองนรก ซึ่งบันทึกโดย นางบุญชู ศรีผ่อง อดีตครูโรงเรียนวัดจุฬามณี จึงขออนุญาตนำมาให้อ่านโดยละเอียดดังนี้)

คลิกอ่าน เที่ยวเมืองนรก บันทึกโดยครูบุญชู ศรีผ่อง

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หน้า ๘๘-๙๐ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน อาการของคนที่ใกล้จะตาย

เรื่องของคนขี้โมโห

เรื่องของคนขี้โมโห โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ หนูเป็นคนขี้โมโหค่ะ…”

หลวงพ่อ :- “ถ้า ขี้ โมโหดี เพราะเราไม่ได้โมโห”

ผู้ถาม :- (หัวเราะ) “โมโหร้ายมากค่ะ แต่ว่าแป๊บเดียวหาย…”

หลวงพ่อ :- “โมโหร้าย ดี แต่ว่าอย่าร้ายตามโมโห ให้โมโหมันร้ายอย่างเดียว ถ้าโมโหแป๊บเดียวหาย เช้ามืดเราก็รีบโมโหเลย บอก “เอ็งโมโหเฉพาะเวลานี้นะ เวลาอื่นห้ามโมโห”

ถ้าแป๊บเดียวหายเขาเรียกว่า โทสะจริต เกิดโมโหไวหายเร็ว ที่หายเร็วแสดงว่าตัวยับยั้งมันมาก

เราก็ต้องพยายาม พอตื่นมาตอนเช้าคิดว่าวันนี้เราจะไม่โมโหใคร ตั้งใจไว้เลย แต่มันอดเผลอไม่ได้นะ มันเป็นของธรรมดา ทีนี้ถ้าเผลอ พอจะหลับเราก็นั่งนึก วันนี้เราโมโหใครบ้างหรือเปล่า บังเอิญถ้าโมโห เราก็คิดใหม่ว่าจะไม่โมโหอีก อย่างนี้ไม่ช้าก็หาย”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ถ้าแกล้งทำเป็นโมโห แล้วพูดคำหยาบออกไป อย่างนี้จะเป็นไรไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ไอ้แกล้งทำเป็นโมโหนี่ เป็นลีลา แม้กระทั่งพระอรหันต์ท่านก็ทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่น พระพุทธเจ้ามีลีลาว่า นิคคัยหะ ปัคคัยหะ ถ้าดีเราก็ยกย่องสรรเสริญ ถ้าไม่ดีก็ถูกขับออกไป ท่านทำก็เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของคนอื่น อันนี้ไม่ใช่โทสะแท้ เขาไม่ถือว่าเป็นเรื่องโทสะ เป็นเรื่องลีลาของการปกครอง

ก็เหมือนกับการแสดงละคร คนนี่มีนิสัย ๒ ประเภท คือ คนนิสัยหยาบ ต้องขู่บังคับ ถ้าคนที่มีนิสัยละเอียด ต้องปลอบ แบบนี้แสดงว่าคนนั้นเขามีนิสัยหยาบ เราแสดงออกแบบนั้น ความจริงเนื้อแท้เราไม่มีอะไร แต่เราทำเพื่อผลงาน อันนี้ไม่เสียหาย

ถ้าเข้าไปในสมาคมขี้เมา เรากินโซดาเราก็เมาเท่าเขา ทำเสียงเป็นเมา อาจจะเมากว่าคนกินเหล้าอีกนะ ทำเสียงดังกว่า เขาเรียกว่าต้องทำตามเขาไป แต่เนื้อแท้จริงๆ เราไม่เมา แต่เราก็ไม่ขัดกับสังคมใช่ไหม…”

ผู้ถาม :- “แล้วอย่างคนดื้อละคะ หนูรู้สึกว่าตัวเองดื้อมาหลายชาติค่ะ จะแก้ไขยังไงดีคะ…?”

หลวงพ่อ :- “รู้หรือว่าดื้อนะ รู้ยังไงว่าดื้อมาหลายชาติ…?”

ผู้ถาม :- “เดาเอาค่ะ”

หลวงพ่อ :- “ไอ้คนรู้ว่าดื้อนี่ แสดงว่าคนนั้นไม่ดื้อ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า คนใดก็รู้ตัวว่าเป็นพาล คนนั้นเป็นบัณฑิต คำว่า พาล แปลว่า โง่ คนไหนรู้ตัวเองโง่ คนนั้นเป็นคนฉลาด บัณฑิต เขาแปลว่า คนฉลาด”

ผู้ถาม :- “อย่างกับตั้งใจจะไม่พูด ไม่ทำอะไรให้ใครกระทบกระเทือนใจก็ห้ามใจไว้ไม่ได้”

หลวงพ่อ :- “อ๋อ…นั่นเป็นของธรรมดา หนู ต้องค่อยๆ ยั้งมันนะ เราจะตั้งใจยับยั้งทีเดียวมันไม่ได้ แต่ว่าถ้าพลาดขึ้นมา หรือเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ก็คิดว่าครั้งต่อไปเราจะไม่ทำอีก ถ้าสักวันหนึ่งข้างหน้ามันเผลออีก รู้ตัวอีก ก็ยับยั้งอีก ต้องทำบ่อยๆ แบบนี้มันถึงจะทรงตัวนะ

ถ้าเราคิดว่า เราจะไม่ทำอะไรเลยให้เป็นเครื่องเสียหายกระทบกระเทือนให้มันอยู่ตัว ก็แสดงว่า พอนึกปั๊บก็ให้เป็นพระอรหันต์เลยซิ มันก็ยาก ใช่ไหม…?

อย่างนี้ดี ถ้าเรารู้แบบนั้น แสดงว่าอารมณ์ยับยั้งมันมีเยอะแล้ว เพราะตามปกติคนที่เขามีกิเลสหนาจริงๆ เขาจะไม่รู้ว่าเขาสร้างความเดือดร้อน สำหรับเรา ทำไปแล้ว เรามีความรู้สึกภายหลังว่าคนอื่นเดือดร้อน รู้สึกว่าเป็นการไม่สมควร แสดงว่ากำลังกิเลสตกไปมากแล้ว ก็ค่อยยั้งมันไปนะ หนักๆ เข้ามันก็อยู่ตัวเอง”

ผู้ถาม :- “ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๓ หน้า ๕๘-๖๐ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน เรื่องของคนขี้โมโห

การเจริญมหาสติปัฏฐาน

การเจริญมหาสติปัฏฐาน โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “แล้วเรื่องมหาสติปัฎฐานสูตร หมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องเจริญอยู่เป็นนิจใช่ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “อ๋อ…ใช่ๆ มหาสติปัฎฐานสูตร หมายความว่าเป็นทางตรงแน่วไปนิพพาน ถ้าเราจะอ่านทั้งหมดมันก็พัง จำไม่ได้ เขาต้องดูจุดสุดท้าย คือ ใช้อารมณ์ตัดจริงๆ เขาใช้อารมณ์ไม่หนัก เบาๆ ถ้าเราไม่เข้าใจก็มาอ่านหนังสือทุกตัว ไปไม่รอด

ในมหาสติปัฎฐานทั้งหมดแหละ ลงท้ายตัวเดียว พอลงท้าย ก่อนจะสอนว่า เธอทั้งหลายจงอย่าสนใจกายในกาย คือกายของเราเอง

คำว่า ไม่สนใจ นี่เวลามีชีวิตอยู่เราสนใจ เราเลี้ยงมัน เรากินยา หาอาหาร มันหนาวมันร้อนเราก็ต้องประคับประคองอีก ถือว่าเป็นของธรรมดา

แต่ไอ้คำว่า ไม่สนใจ ในที่นี้หมายความว่า ถ้ามันสิ้นลมปราณแล้วเมื่อไหร่ เราไม่สนใจมันอีก ถือว่ามันมีโทษ เวลานี้เราถือว่าเรามาเกิด เรามาเกิดเพราะถูกขัง เพราะทำความผิดมา แล้วไอ้ความผิดเช่นนี้ การตัดสินใจผิด มันจะไม่มีข้างหน้า เรายอมรับโทษที่เราหลงผิดมาในกาลก่อนแต่ชาติเดียว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ตัดสินใจแค่นี้ และต้องการพระนิพพาน

ความจริงเขาดูตัวสุดท้าย พระพุทธเจ้าสอนต้องดูตัวลง บางทีท่านเทศน์ชาดก เทศน์เสียยาวเหยียด อ่านเสียหลายวันก็ไม่จบ แต่เนื้อหาจริงๆ ท่านลงท้ายด้วย อริยสัจ ทุกเรื่อง ความมุ่งหมายจริงๆ ของท่าน คือต้องการอริยสัจ

อริยสัจ สัจจะ คือความจริง ความจริงที่ทำให้บุคคลเป็นพระพุทธเจ้า ให้เป็นพระอริยเจ้า ก็ได้แก่ ทุกข์ ร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มันผสมกันเป็นเรือนร่าง ด้วยกำลังของ ตัณหา เป็นผู้สร้างขึ้นมา เพราะอารมณ์ชั่วเดิม คือจิตเราไม่สะอาด จึงต้องมีร่างกายแบบนี้

ทีนี้เรารู้ว่า ชาตินี้เรามีร่างกายนี้มันเป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์ก็จริงแหล่ แต่ให้มันทรงตัวตลอดก็ยังดี แต่มันก็ไม่ทรงตัว มันเคลื่อนไหว มันทรุดตัวลงทุกวัน และในที่สุดมันก็ตาย ถ้าเราต้องการร่างกายประเภทนี้อีก กี่ชาติก็ตามเราก็มีสภาพแบบนี้ เราก็ไม่หมดทุกข์ และไอ้แดนที่หมดทุกข์ มันมีอยู่แดนหนึ่งคือนิพพาน

และการจะไปนิพพาน ไปได้ยังไง ถ้าตัดตัวยอดจริงๆ การจะไปนิพพาน คือไม่ห่วงร่างกายตัวเดียว คือ ตัดสักกายทิฏฐิ มันตัดตัวเดียว

ทีนี้ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ตัดตัวท้ายตัวเดียว คือ ไม่สนใจกับร่างกาย เห็นว่าร่างกายเราก็ไม่ดี ร่างกายของคนอื่นก็ไม่ดี วัตถุธาตุทั้งหมดในโลกก็ไม่มีอะไรดี แต่ว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ เราต้องอาศัยมัน เราต้องประคับประคอง ถ้าร่างกายนี้พังเมื่อไร เราก็ไม่ห่วงกัน เท่านี้ง่ายๆ ไม่ยากนะ”

เห็นทุกข์ตัวเดียว

หลวงพ่อ :- “แต่ไอ้คำว่า ไม่ยาก น่ะมันพูดได้นะ แต่ว่าการจะปลดจะเปลื้องต้องค่อยๆทำ อย่าหักโหม ดูเหตุดูผล เห็นทุกข์เสียตัวเดียวเท่านั้นแหละพอ เห็นทุกข์ จงอย่าเมาในทุกข์ อย่าตกใจในทุกข์ เห็นว่ามันเป็นทุกข์จริง โลกนี้มันเป็นทุกข์

แต่ที่เราอยู่ในโลกนี้ เราจำเป็นจะสนองความต้องการของมัน แต่จิตตัวหนึ่งเราหวังตัดทุกข์ คือไม่ต้องการมันอีก ไอ้ตัวนี้มันทุกข์อยู่แล้วเราไม่กลุ้ม

สมมติว่าเราถูกไปจับขัง เรามีโทษถูกขัง ไอ้โทษประเภทนี้เราถูกขัง เราจะไม่ทำอย่างนี้ต่อไป เราก็จะไม่ถูกขัง เมื่อพ้นมาแล้ว

นี้ก็เหมือนกัน ที่เรามาเกิดได้ เดิมทีเดียวมันมีเหตุ ๔ ประการที่นำให้เรามาเกิด ได้แก่ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม

กิเลส คืออารมณ์ชั่วของจิต ที่เราเศร้าหมองเพราะจิตมันชั่ว มันจึงปรากฏ นี่เป็นมิจฉาทิฎฐิ ไอ้ตัว มิจฉาทิฎฐิ ทำให้เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี ถ้าเราเข้าใจว่าของชั่วเป็นของดี ของดีเป็นของชั่ว ของชั่วเป็นของดี อุปาทาน ก็เลยจับยึดมั่นว่าไอ้ของชั่วที่เราคิดว่าดีน่ะ ทำมันไปตามนั้น เกาะมันว่าดี

ตัณหา ตัวอยาก เมื่อมันเห็นว่าชั่วเป็นดี ดีเป็นชั่ว เราต้องการชั่ว มันก็อยากได้ อยากได้ก็ทำ ทำตามนั้น ตัวยึดมั่นเข้าไว้ พอยึดมั่นแล้วก็ปฏิบัติตาม ปฏิบัติตามเป็นเหตุให้เราเกิด”

พรหมวิหาร ๔

หลวงพ่อ :- “ทีนี้มาชาตินี้ เมื่อเรามีความเข้าใจว่า ไอ้กิเลสเป็นความเศร้าหมอง เป็นความชั่วของจิตว่ามันไม่ดี ก็ควรจะทำจิตให้ผ่องใส จิตผ่องใสตัวแรกที่มีความสำคัญ ถ้าตัวนี้ทรงกำลังใจ มันจะได้ทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นก็คือมี พรหมวิหาร ๔

พรหมวิหาร ๔ นี่ถ้ายืนลงในจิตของใคร คนนั้นลงนรกไม่เป็น ลงไม่ได้แน่นอน เขาไม่ให้ลง ถ้าลงไปเขาขับขึ้นมา ลงไม่ได้ไม่มีสิทธิ์

คือว่าอารมณ์ของเราให้ทราบอยู่ ให้มี เมตตาจิต เราจะไม่เป็นศัตรูกับใครเลยในโลก ทั้งคนและสัตว์เราจะเป็นมิตรที่ดีของเขา แต่ว่าเขาจะเป็นศัตรูกับเราน่ะเป็นเรื่องของเขา เราหวังดีแต่เขาหวังร้าย อย่างนี้เราต้องใช้ อุเบกขา วางเฉยเข้าไว้ ถ้าเราพูดกับเขา เขาโกรธเราก็หยุดพูด เราใช้อุเบกขาตัวท้าย แต่ว่าเราไม่ได้โกรธ

กรุณา ความสงสาร จิตคิดไว้เสมอว่าใครเขาทุกข์ยากลำบาก ถ้าไม่เกินวิสัยของเราที่จะช่วยให้เราพร้อมที่จะช่วย ถ้าเราช่วยได้ด้วยทรัพย์สิน เราจะให้ทรัพย์สิน ทรัพย์สินไม่มี เราจะให้กำลังกาย กำลังกายให้ไม่ได้เราให้ด้วยปัญญา แต่ทั้งนี้ถ้าเขารับความช่วยเหลือจากเรา ถ้าเราให้การช่วยเหลือกับเขา เขาโกรธเรา เราต้องวางเฉย เราไม่โกรธตอบ เราไม่ช่วย เพราะช่วยไม่ได้

ต่อมา มุทิตา ตัวสุดท้าย เราไม่มีจิตคิดอิจฉาริษยาใคร ใครได้ดีเรายินดีด้วย

ถ้าอารมณ์ ๔ ประการนี้ทรงตัวอยู่จริงๆ ศีลก็บริสุทธิ์ ศีลก็ไม่บกพร่องเลย ถ้าเราจะทำสมาธิ สมาธิก็ทรงตัว อารมณ์แจ่มใส ไม่มีมัวหมอง ถ้าสมาธิไม่มัวหมอง ปัญญา คือวิปัสสนาก็เกิด เท่านี้เอง”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หน้า ๕๔-๕๘ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ | ปิดความเห็น บน การเจริญมหาสติปัฏฐาน

อานิสงส์การสวดมนต์

อานิสงส์การสวดมนต์ โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ สวดมนต์แบบในใจ กับ สวดมนต์แบบออกเสียง อานิสงส์เท่ากันไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ไม่เท่าหรอก เพราะมันเหนื่อยไม่เท่ากัน…อานิสงส์ ถ้าแปลตามความหมายแปลว่า ผลที่จะพึงได้รับ ลีลาการสวดมนต์ในใจก็ไม่แน่ สุดแท้แต่คน บางคนนึกในใจ จิตเขาฟุ้งซ่าน ใช่ไหม…บางคนออกเสียงเหนื่อยเกินไป ในใจดีกว่า

ก็รวมความว่า สุดแล้วแต่ ทำอย่างไหนจิตจะมีสมาธิดีกว่ากัน บางคนนึกในใจไม่ได้หรอก จิตฟุ้งซ่าน ต้องว่าออกเสียงดังๆ

ถ้าอย่างหลวงพ่อออกเสียงดังไม่ดี นึกในใจดีกว่า ก็สุดแล้วแต่คนนี่ ผลก็ต้องอยู่ที่ว่าคนใดจิตมีสมาธิดีกว่า และสวดมนต์ได้ดีกว่ากัน ต้องถือตามนั้นนะ

การสวดมนต์มีอานิสงส์ใหญ่ สวดน้อยก็มีอานิสงส์ใหญ่ อานิสงส์ใหญ่จริงๆ อยู่ที่เจตนา จิตมีความเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์จริง และเวลาสวด สวดด้วยความเคารพจริง ถึงสวดน้อยก็มีอานิสงส์ใหญ่ ถ้าสวดว่าเรื่อยเปื่อยไปไม่ได้ตั้งใจ ว่าส่งเดช อย่างนี้ว่ามากก็มีอานิสงส์น้อย

ทีนี้ถ้าจะถามว่า สวดมนต์ กับ ภาวนา อย่างไหนจะมีอานิสงส์มากกว่ากัน?

ถ้า สวดมนต์ อย่างเก่งก็แค่อุปจารสมาธิ ถ้า ภาวนา สั้นๆ จิตเป็นฌานได้ ต่างกัน ทีนี้ถ้าคนภาวนาส่งเดชก็ไม่เป็นเรื่องเหมือนกัน แต่ภาวนาส่งเดชก็ดีกว่าไม่ภาวนาเลย ใช่ไหม…”

ชอบสวดมนต์

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อเจ้าขา คนที่ชอบสวดมนต์ แต่ไม่เคยเจริญพระกรรมฐานเลย แต่อธิษฐานว่า ตายเมื่อไรขอไปนิพพานทันที อย่างนี้เขาจะไปได้หรือเปล่าเจ้าคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้าเขากำลังใจดี เขาไปได้นะ ถ้านั่งสวดมนต์ก็กรรมฐานนี่ สวดมนต์อย่างต่ำเป็นอุปจารสมาธินะ ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิเราสวดไม่ได้ กรรมฐานไม่ใช่ว่าต้องนั่งหลับตาเสมอไป

ที่เขาอธิษฐานจิตว่า ถ้าเขาต้องการไปนิพพานชาตินี้ การสวดมนต์ถือว่าเป็นสมถภาวนาด้วยนะ ถ้าเขาเกิดมีปัญญา คิดว่าการเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ไม่สบายก็ทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็ทุกข์ ความตายก็ทุกข์ ความทุกข์อย่างนี้ไม่ต้องการมีต่อไปอีกในชาติต่อไป อย่างนี้ตายแล้วไปนิพพานได้แน่ ปัญญาถึง”

วิ่งสวดมนต์

ผู้ถาม :- “เวลาประมาณตี ๕ ลูกได้ออกมาวิ่งออกกำลังกาย ในขณะที่วิ่งลูกก็สวดมนต์ไปด้วย ตัดขันธ์ ๕ ไปด้วย มาวันหนึ่งคิดว่า ทำไปทำมา เอ…สติจะเสียหรือเปล่า ชักไม่ไว้ใจตัวเอง”

หลวงพ่อ :- “เขาทำถูกแล้วไม่เสีย นั่นสติดี นั่นดีมากจริงๆ แบบจงกรม เขาวิ่งนี่ฉันเคยใช้นะ ใช้ก็สะดวกดี เมื่อก่อนก็เดิน เดินช้าหน่อย ต่อมาก็เร็ว หนักๆ เข้าในป่าไผ่ ล่อกันครึ่บๆ วิ่ง…วิ่งแบบกวดหมานะ วิ่งกวดวัวแต่หนีหมา

ปรากฏว่ามีท่านผู้เฒ่าท่านหนึ่งย่องแอบไปเห็นเข้า ก็ฟ้องหลวงพ่อปาน “พระ ๓ องค์ วิ่งกันพรึ่บๆ ไม่เป็นพระเป็นเจ้า”

หลวงพ่อปานเลยสวดเอาว่า เขาทำในป่าแล้วเสือกเห็นทำไม…ท่านบอกว่าปากหมา นั่นเขาทำกรรมฐานกัน สังเกตไหม…เขาวิ่งเขาไม่ได้วิ่งส่งเดช เขาวิ่งภาวนาไปด้วย

นี่เหมาะสำหรับพระที่ไปธุดงค์หรือคนเดินป่า เพราะอะไรรู้ไหม…เวลาเสือกวดเรา เราวิ่งหนีเป็นตัวคุมสติให้อยู่ นี่ทำถูกต้องแล้วนะ สังเกตไหม…แค่จงกรมธรรมดา สมาธิยังไม่เสื่อมเลย ต้องถือว่าเก่งมาก น่าจะฝึกอภิญญา”

ผู้ถาม :- “อย่างนี้ฝึกได้จริงๆหรือครับ?”

หลวงพ่อ :- “ฝึกได้ จะได้หรือไม่ได้ไม่รู้ เอางี้ซิ ว่างๆ ก็ตั้งเวลาไว้โก้ๆ สัก ๑ ชั่วโมง นั่งบ้าง นอนบ้าง ภาวนาว่า สัมปจิตฉามิ เป็นอภิญญาตรง”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หน้า ๕๘-๖๑ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน อานิสงส์การสวดมนต์

อานิสงส์การบวชชีพราหมณ์

อานิสงส์การบวชชีพราหมณ์ โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

เรื่องการบวชชีนี้มีบางคนก็รักษาศีล ๘ ห่มผ้าขาว โกนหัว บางคนก็ไม่โกนหัวเพียงแต่นุ่งขาว ห่มขาว รักษาศีล ๘ เหมือนกัน อย่างนี้เป็นที่นิยมกันมากเรียกว่า ชีพราหมณ์ เรื่องนี้จึงมีผู้หญิงคนหนึ่ง กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า

ผู้ถาม :- “ลูกได้บวชชีพราหมณ์มา ๗ ครั้งๆ ละ ๓ วัน พระท่านเทศน์ว่าการบวชชีพราหมณ์จะได้อานิสงส์มาก อยากเรียนถามหลวงพ่อว่า อานิสงส์จะได้สักประมาณเท่าไรเจ้าคะ…?”

หลวงพ่อ :- บวชชีพราหมณ์ บวชชีพุทธ บวชชีเจ๊ก ก็เหมือนกันแหละ มันอยู่ที่เรารักษาศีลบริสุทธิ์ไหม…เขาให้ชื่อว่า บวชชีพราหมณ์ ก็หมายความว่าไม่ต้องโกนหัว ศัพท์นี้ท่านวิริยังค์ท่านตั้งขึ้น ไม่ผิดอะไรหรอก

คือว่าในอันดับแรก เรารักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ รักษาได้ดีขนาดไหน…ถ้ารักษาได้ดี ถือว่าเป็นผู้ทรง สีลานุสสติกรรมฐาน ได้เป็นอันดับหนึ่ง

และประการที่ ๒ ขณะที่บวชชีพราหมณ์ เราสามารถ ระงับนิวรณ์ ไหวไหม…เรากังวลใจมากหรือเปล่า…บางขณะไม่กวนใจเลย ขณะนั้นเป็นปฐมฌาน และหลังจากนั้นมีปีติ มีความเอิบอิ่มก็เป็นทุติยฌาน คือฌาน ๒ ต่อไปถ้าจิตสงัดดีมาก เวลาภาวนาอยู่ได้ยินเสียงภายนอกเบา จิตทรงอารมณ์ดี เวลานั้นเป็นฌานที่ ๓ ต่อไปไม่รู้ลมหายใจเข้าออก จิตโพรงสว่างเป็นฌานที่ ๔ แบบนี้เป็นฌานสมาบัติ

เวลาที่บวชชีพราหมณ์ บวชมาแล้วกี่ครั้งก็ตาม ถ้าจิตสามารถทรงอารมณ์ได้ ๓ ประการ คือ
๑.เห็นว่าร่างกายจะต้องตาย
๒.เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
๓.ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์
และแถมอีกนิดหนึ่ง มีนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้เขาเรียก พระโสดาบัน

ผู้ถาม :- “อย่างนี้ถ้าไม่ไปวัด จะบวชที่บ้านได้ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ได้”

ผู้ถาม :- “ไม่ต้องนุ่งขาว ห่มขาว หรือครับ…?”

หลวงพ่อ :- “นุ่งเขียวได้ ใส่แดงได้ คือว่ามันอยู่ที่การรักษาศีลเป็นอันดับแรกนะ

รักษาศีลก็ได้อานิสงส์ของศีล

๑.สีเลนะ สุคติง ยันติ เรามีศีล ใจเราก็เป็นสุขในปัจจุบัน ตายแล้วเราก็เป็นสุข

๒.สีเลนะ โภคสัมปทา ถ้ามีศีลแล้วทรัพย์มันไม่เปลือง

๓.สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ศีลทำให้อารมณ์สงบ คือดับจากกิเลสชั่วคราวนะ

นี่อานิสงส์ของศีลนะ แล้วมีสมาธิไหมล่ะ…? ถ้ามีสมาธิ ตัดอารมณ์นิวรณ์ได้ ก็มีอานิสงส์สูงขึ้นไป ถ้าเป็นฌานสมาบัติก็เป็นขั้นของพรหม ถ้าหากว่าเรามีจิตนิยมการตัดสังโยชน์ เป็นพระอริยเจ้าเป็นขั้นๆ อยู่วัดก็ได้ ถ้าไปอยู่วัดออกมาด่ามากกว่าเก่าก็ลงนรก”

ผู้ถาม :- “เพิ่ม ๒ เท่าหรือครับ…?”

หลวงพ่อ :- “หลายเท่า มีโยมคนหนึ่งแกไปประชุมพุทธสมาคมที่วัด เสร็จแล้วแกยังไม่กลับ แกบอกว่าเคยเข้ากุฏิกับเขา เขาเข้ากัน ๑ เดือน แกเข้า ๑๓ เดือน กลับออกมาแกบอกว่ากิเลสมากขึ้นกว่าเดิม ถามว่าทำไมล่ะ…แกบอกกลุ้ม

แต่นี่อยู่ที่ใจนะ คือว่าจะบวชที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ ถือการรักษาศีลดีกว่านะ ถ้าที่บ้านรักษาแค่ศีล ๕ ก็พอ เมื่อมีศีล ๕ แล้วก็ทรงสมาธิ สมาธิก็อย่าเคี่ยวเข็ญให้มันมาก เอาแค่จิตสบาย ข้อสำคัญ สังโยชน์ ๓ ละให้ได้”

บวชชีชั่วคราวหรือตลอดดี

ผู้ถาม :- “การที่ลูกถือเนกขัมมะ คือศีล ๘ กับการที่ลูกจะลาจากงานไปบวชตลอดชีวิต จะได้อานิสงส์เท่ากันไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ไม่เท่า เพราะว่าบวชตลอดชีวิตได้เวลามากกว่า ถ้าบวชเฉพาะเวลา เวลามันน้อยกว่า มีเงินไหม…ถ้าลาไปแล้วมีเงินใช้ก็ใช้ได้ แต่ไม่มีอย่าเพิ่งบวช เดี่ยวเดือดร้อน ความจริงการบวชถ้าอยู่บ้านก็บวชได้ ใช่ไหม…เราอยู่บ้านเราก็ถือศีล ๘

เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน วันธรรมดาเรารักษาศีล ๕ วันเสาร์-อาทิตย์เราก็รักษาศีล ๘ แต่ว่าถ้ามีกำลังมั่นคงออกไป ถือตลอดชีวิตก็ดี เพราะว่าคนที่จะรักษาศีล ๘ ได้จริง ต้องมีกำลังใจแท้ ต้องเป็นวิสัยของอนาคามี นิสัยอนาคามีเริ่มเข้ารักษาศีล ๘ จึงรักษาได้ ถ้าอารมณ์ถึงจริงๆ ไอ้ตัวนั้น มันเริ่มมาแล้ว”

แม่ชีเป็นพระอรหันต์

ผู้ถาม :- “ทีนี้ถ้าบวชเป็นแม่ชีแล้วสำเร็จเป็นอรหันต์ จะอยู่ได้กี่วันครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้าเป็นอรหันต์นะไม่เกินพรุ่งนี้ตาย คือว่าชีหรือฆราวาสก็มีสภาพเท่ากันละ เขาไม่ได้ถือว่าเป็นภิกษุณี คำว่า ชี รักษาศีล ๕ บ้าง รักษาศีล ๘ บ้าง ฆราวาสเขาก็รักษาได้ คือว่ามีเวลาปลีกตัวออกจากบ้านไปนุ่งขาวเท่านั้นเอง และสภาวะทุกอย่างก็เหมือนฆราวาส ฉะนั้นจะทรงความเป็นอรหันต์อยู่ไม่ได้ เป็นอรหันต์ก็ต้องนิพพาน”

ผู้ถาม :- “อ๋อ…ก็เหมือนฆราวาส”

หลวงพ่อ :- “ก็เท่ากันนั่นแหละ ทำไมจะต้องไปวิตกกังวล คนที่เป็นอรหันต์จริงๆ ท่านไม่อยากอยู่ต่อไปแม้แต่ ๑ วินาทีนะ ให้มันเป็นจริงๆ เถอะ เพราะว่าอยู่นั้นไม่มีอะไรดีเลย อยู่ก็ขันธ์ ๕ มันรบกวนอยู่ตลอดเวลา ใช่ไหม…

ทีนี้ถ้าหากได้อรหันต์แล้วนิพพานทันทีทันใด ความสุขก็สมบูรณ์แบบ ถ้าอยู่อย่างนี้ต้องใช้สังขารุเปกขาญานระงับตลอดเวลา ไปนิพพานแล้วไม่ต้องระงับไม่ต้องระวัง อย่างนั้นดีกว่ากัน

สำหรับพระนี่กรรมหนัก พระกับเณรมีกรรมหนัก ถ้าเป็นอรหันต์แล้วยังตายไม่ได้น่ะซิ ต้องทรมานสังขารไปอีก ดีนักเมื่อไรล่ะ”

ผู้ถาม :- “ถ้าพระไปนิพพานเลยจะได้ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ไม่ได้ พระนี่ไม่ได้ ถ้านึกนิพพานเลยได้ พระสารีบุตรท่านก็อยู่ไม่นาน เพราะว่าพระสารีบุตรท่านพูดเองว่า “เราอยู่ด้วยความอึดอัด เราอยู่ด้วยความรำคาญ แต่ว่าสังขารเราไม่พัง เราจะอยู่เต็มความสามารถ จนกว่ามันจะพังของมันเอง”

เห็นไหม…ในเมื่อวาระยังมาไม่ถึง พระอรหันต์ไม่ฆ่าตัวตายแน่นอน แต่ว่าจิตท่านเป็นสุขจริง แต่ขันธ์ ๕ มันไม่สุข อย่าลืมนะพระอรหันต์ก็หิวข้าวเป็น ปวดท้องขี้เป็น ปวดท้องเยี่ยวเป็น ป่วยเป็น เป็นทุกอย่าง มันเป็นปกติของมัน แต่ว่าที่อารมณ์ท่านเป็นสุขได้ เพราะจิตท่านทรงอยู่ในสังขารุเปกขาญาน ตัวนี้ที่ทำให้พระอรหันต์เป็นสุข ใจท่านเป็นสุข แต่ขันธ์ ๕ มันไม่สุข”

ผู้ถาม :- “มีความรำคาญไหมครับ พระอรหันต์ตอนป่วย…?”

หลวงพ่อ :- “ก็ไม่ป่วยท่านยังรำคาญเลย ถ้าป่วยทำไมท่านจะไม่รำคาญ แต่ว่าใจท่านไม่ดิ้นรน ถือว่าภาวะของขันธ์ ๕ มันต้องเป็นอย่างนั้น ใช่ไหม…มันจะต้องเป็นอย่างนั้นเราก็รู้แล้ว ถ้าเราไปเสียได้มันก็จะดี การคิดทำลายขันธ์ ๕ ไม่มีสำหรับพระอรหันต์

ถ้ายังมีชีวิตอยู่ ถ้าความสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขแก่ชาวโลกได้ ก็ทำเต็มความสามารถ เท่านั้นเอง ถือว่าสร้างความดีทิ้งทวน แต่ผลความดีจะเพิ่มอีกน่ะไม่มีหรอก ความดีมันก็มีที่สุดแค่พระอรหันต์”

ผู้ถาม :- “เอ…ทำไมไม่เพิ่มครับ?”

หลวงพ่อ :- “น้ำมันล้นตุ่มจ้ะ…ถ้ามันเต็มตุ่มใส่เท่าไรมันก็แค่ปากตุ่มนั่นแหละ ใช่ไหม…ที่ทำไปก็เพื่อเป็นการสงเคราะห์เท่านั้นเอง แต่ก็หวังดีนะ พวกนี้ถ้าสงเคราะห์ได้ ใจท่านก็เป็นสุขนะ ดีใจที่เห็นคนอื่นเขาดี ความพอใจมีเท่านี้ล่ะ

สมมุติได้อรหันต์เดี๋ยวนี้ไปนิพพานเลย เขาจะดีใจมากเพราะอะไร…เพราะมองดูแล้วไม่มีอะไรเป็นสุข การเกิดเป็นคนหาความสุขจริงๆ สัก ๑ วินาทีมันก็ไม่มี ใช่ไหม…ไม่ปวดมันก็เมื่อย ไม่เมื่อยมันก็หิว ไม่หิวมันก็อยาก”

ผู้ถาม :- “มีแต่เรื่องตลอดเวลาเลยครับ”

หลวงพ่อ :- “ใช่ หาอารมณ์ว่างไม่ได้…”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หน้า ๘๒-๘๗ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน อานิสงส์การบวชชีพราหมณ์