ปัตตานุโมทนามัย กับ ไวยาวัจจมัย

ปัตตานุโมทนามัย กับ ไวยาวัจจมัย
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “มีคนฝากให้มาถามหลวงพ่อว่า พ่อแม่ไม่ค่อยทำบุญ แต่เป็นคนดี คนซื่อ ถ้าบุตรหลานทำบุญให้ แล้วจะใส่ชื่อของท่านด้วย อยากทราบว่า ท่านจะได้หรือไม่ครับ…?”

หลวงพ่อ :- “เขาโมทนาด้วยหรือเปล่า ถ้าลูกไปบอกว่า “พ่อ(หรือแม่) ฉันทำบุญให้แล้ว” ถ้าท่านยินดีด้วย ท่านได้แน่นอน ถ้าบอก “กูไม่รู้โว้ย” ด่าตะเพิด อันนี้ไม่ได้แน่”

ผู้ถาม :- “อย่างเวลาที่เลิกพระกรรมฐานแล้ว ก็มีคนไปถวายสังฆทานกับหลวงพ่อ แต่หนูไม่มีของ ก็ยกมืออนุโมทนาด้วย อย่างนี้จะมีอานิสงส์ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “อานิสงส์ที่จะพึงได้ ก็คือ ปัตตานุโมทนามัย เป็นผลกำไรจากการเจริญพระกรรมฐานไม่ต้องลงทุน ถ้าตั้งใจจริงถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เจ้าของได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราได้ครั้งละ ๙๐ ผ่านไป ๑๐ คน เราได้ ๙๐๐ มากกว่าเจ้าของ เอ้า! เยอะจริงๆ มันทำบารมีให้เต็มเร็ว เร็วมาก

การโมทนา เขาแปลว่า ยินดีด้วย ต้องยินดีด้วยความจริงใจนะ สักแต่ว่าสาธุ มันไม่ได้อะไร คำว่า สาธุ ไม่จำเป็นต้องออกเสียง ไม่จำเป็นต้องยกมือไหว้ก็ได้ เอาใจยินดีใช้ได้เลย

และการแสดงความยินดี มันก็คือ มุทิตา เป็นตัวหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ นี่บุญตัวใหญ่ ที่่พระพุทธเจ้าบอกว่า

จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา
ถ้าก่อนตายจิตเศร้าหมอง ก็ไปอบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น

จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา
ถ้าก่อนตายจิตผ่องใส ก็ไปสู่สุคติ หมายถึง สวรรค์ก็ได้ พรหมก็ได้ นิพพานก็ได้ สุดแล้วแต่กำลังใจของเรา

และการโมทนานี้ทำให้ชุ่มชื่นใจ ใช่ไหม…เขาทำดีเรายินดีด้วย ยินดีกับความดีของเขา ไม่ช้าเราก็ดีตามเขา เพราะเราเห็นเขาดี เราก็ชอบดีใช่ไหม…แต่อย่าไปชอบดีเฉยๆ นะ ต้องทำดีด้วยนะ ทำบุญด้วยตนเองบ้าง”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อครับ ปัตตานุโมทนามัย กับ ไวยาวัจจมัย นี่เหมือนกันไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ไวยาวัจจมัย เขาแปลว่า ขวนขวายในกิจการงาน เช่น เขาส่งสตางค์มาทำบุญ เราช่วยส่งต่อ หรือพวกที่ช่วยขนสังฆทาน นี่ก็พลอยได้บุญไปด้วย มีอานิสงส์ต่ำกว่าบวชเณรนิดหนึ่ง ไม่เบานะ

แต่ ปัตตานุโมทนามัย ไม่ต้องลงทุน แต่พวกถือมานี่ ยังต้องออกแรงนะ พวกโมทนานี่ไม่ต้องออกแรงเลย แต่อย่าลืมนะ ว่าเอาแค่โมทนาอย่างเดียวไม่ดีนะ ต้องอาศัยคนต้นตลอด ถ้าไม่ได้อาศัยคนต้นจริงๆ จะสำเร็จมรรคผลไม่ได้ เช่นเดียวกับพระนางพิมพา ต้องอาศัยพระพุทธเจ้าตลอด”

หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๓๕-๓๖ (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , , | ปิดความเห็น บน ปัตตานุโมทนามัย กับ ไวยาวัจจมัย

การอุทิศส่วนกุศล

การอุทิศส่วนกุศล
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ลูกทำสังฆทานให้สัมภเวสี ถ้ากลับไปแล้วจะ กรวดน้ำ ให้ได้ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “การอุทิศส่วนกุศล ในพระพุทธศาสนานี่ไม่มีน้ำ แต่ว่าที่พระเจ้าพิมพิสารทำเป็นองค์แรก เพราะว่าศาสนาพราหมณ์เขาถือว่า ถ้าจะให้อะไรกับใคร ต้องให้คนนั้นแบมือ แล้วเอาน้ำราดลงไป และตอนที่พระเจ้าพิมพิสารทำ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ห้าม เพราะเป็นประเพณีนิยม

เวลาที่พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนกุศลต้องใช้น้ำ เพราะว่าท่านเพิ่งพบพระพุทธเจ้า ประเพณีของพราหมณ์ยังชินอยู่ แต่ว่าใจท่านตั้งตรง เวลาอุทิศส่วนกุศลจริงๆ ในพระพุทธศาสนาไม่ต้องใช้น้ำ ผีกับเปรตต้องรีบวิ่งกลับ เพราะไม่ได้กินแน่ เพราะฉันเคยพบมาแล้ว แต่ไม่มีน้ำน่ะ ว่า อิมินา เพลินไป ยังไม่ถึงครึ่ง ก็มีคน ๒ คนถือโซ่มาคล้องคอปั๊บลากไปเลย”

ผู้ถาม :- “มีบางคนบอกว่า กรวดน้ำแบบแห้ง ตายไปชาติหน้าจะแห้งแล้งเพราะไม่มีน้ำ โบราณพูดอย่างนี้ จะจริงหรือเปล่าคะ…?”

อ่านเพิ่มเติม

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ | ปิดความเห็น บน การอุทิศส่วนกุศล

บุญถวายสังฆทาน

คำถวายสังฆทาน

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่าพร้อมกัน ๓ จบ)

(หลวงพ่อกล่าวนำ) ข้าแต่พระสงฆ์ทั้งหลายผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย พระพุทธปฏิมากร ผ้าไตรจีวร พร้อมด้วยของที่เป็นบริวาร ทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์ทั้งหลาย โปรดรับ พระพุทธปฏิมากร ผ้าไตรจีวร พร้อมด้วยของที่เป็นบริวาร ทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ

บุญถวายสังฆทาน
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

เรื่องเผาตามประเพณีจีน(กงเต็ก) มีหมอที่จังหวัดพิจิตร หมอผู้หญิงนะ แกเคยไปเจริญพระกรรมฐานที่วัดฯ พ่อเป็นจีน เวลาพ่อแกตาย แกทำบุญเต็มที่ทั้งประเพณีไทยและประเพณีจีน

ปรากฏว่า วันหนึ่งแกนั่งเจริญพระกรรมฐานอยู่ เตี่ยก็มาบอกว่า “อีหนู ตึกขี้เถ้า รถยนต์หรือแบงค์ขี้เถ้าที่มึงเผาไป กูไม่ได้รับเลย ผีเขาไม่ใช้ขี้เถ้า”

แกก็ถามว่า “จะให้ทำยังไงล่ะ?”

เตี่ยบอกว่า “ถวายสังฆทานให้กูก็แล้วกัน ที่เอ็งทำบุญไปครั้งนั้น เตี่ยไม่ได้รับเลย และเอ็งก็ไม่ได้บุญด้วย แต่ที่เตี่ยไม่ตกนรก เพราะเตี่ยนึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่”

อ่านเพิ่มเติม

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ | ปิดความเห็น บน บุญถวายสังฆทาน

อานิสงส์ถวายสังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน

อานิสงส์ถวายสังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ถวายสังฆทานให้พระองค์เดียวได้ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ได้ แต่พระไปกินองค์เดียวพระองค์นั้นลงนรก นี่เรื่องจริงนะ อย่างฉันรับนี่ฉันรับองค์เดียว แต่ว่าองค์เดียวนี่ถือว่าเป็นผู้แทนคณะสงฆ์นะ อย่าไปกินไปใช้แต่ผู้เดียวนี่ไม่ได้ ของเขาย่อมมีอานิสงส์สมบูรณ์แบบ พระองค์เดียวหรือพระ ๓ องค์ ถือว่าเป็นผู้แทนสงฆ์ พระ ๓ องค์ก็แบ่งไปใช้แค่ ๓ องค์ไม่ได้ จะต้องไปรวมทั้งคณะ คำว่า สังฆทาน สังฆะ เขาแปลว่า หมู่”

ผู้ถาม :- “ลูกเป็นคนยากจนมีเงินน้อย อยากจะได้อานิสงส์มากๆ จะทำบุญอย่างไรดีคะ…?”

หลวงพ่อ :- “คืออานิสงส์จริงๆ ต้องทำบุญให้มากที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ สมมุติว่าเรามีเงินอยู่ ๑๐ บาท จะไปมาที่นี่เสียค่ารถ ๖ บาท กินก๋วยเตี๋ยว ๓ บาท ได้ครึ่งชามแล้ว หมดไป ๙ บาท เหลือ ๑ บาท เขียนที่หน้าซองเลยว่า เงินนี้ถวายสังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน อันนี้อานิสงส์มากเหลือเกิน จำนวนเงินเขาไม่จำกัด เขาจำกัดกำลังใจ ถ้ากำลังใจมุ่งด้านดีนะ

การทำบุญมากๆ คำว่า ทำมาก หมายความว่า ทำบ่อยๆ แต่คำว่า บ่อย ไม่ต้องทุกวันก็ได้นะ คำว่า มาก หมายความว่า ทำเต็มกำลังที่พึงทำ ไม่ใช่ขนเงินมามาก เวลาทำบุญ ต้องดูก่อนว่า ค่าใช้จ่ายเรามีความจำเป็นเพียงไร ไอ้เงินที่มีความจำเป็น อย่านำมาทำบุญ มันจะเดือดร้อนภายหลัง และให้เหลือส่วนนั้นไว้บ้าง แล้วแบ่งทำบุญพอสมควร

และประการที่ ๒ การทำบุญถ้าใช้วัตถุมาก แต่กำลังใจน้อย ก็มีอานิสงส์น้อย ถ้าหากใช้วัตถุน้อย กำลังใจมีมาก ก็มีอานิสงส์มาก อย่างถวายสังฆทานที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทนำมานี่ ลงทุนไม่มาก แต่อานิสงส์มหาศาล

ความจริงถ้าจะพูดถึงอานิสงส์กันจริงๆ ละก็ รู้สึกว่าจะมากกว่าจัดงานที่บ้านหรือที่วัดตั้งเยอะแยะ ทั้งนี้เพราะว่าอะไร เพราะว่าถวายสังฆทานเราทำกันแบบเงียบๆ ไม่มีกังวล การบำเพ็ญกุศลแต่ละคราว ถ้ามีกังวลมาก อานิสงส์มันก็น้อย เพราะว่าจิตที่เราเข้าสู่กุศล มันห่วงงานอื่นมากกว่า ไม่ตั้งจิตโดยเฉพาะ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถวายสังฆทานในหมู่ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ตามพระวินัยท่านเรียกว่าคณะสงฆ์ ถ้าต่ำกว่านั้นเป็นคณะบุคคล ถ้าบุคคลเดียวเป็นปาฏิปุคคลิกทาน ทานโดยเฉพาะ ทีนี้การถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์เป็นหมู่นี้มีอานิสงส์มาก

เรื่องนี้ก็มีตัวอย่าง คนที่มีทรัพย์น้อย ทรัพย์มาก อย่าง ท่านอินทกะเทพบุตร กับ อังกุระเทพบุตร ไงล่ะ

ท่านอังกุระเทพบุตร ทำบุญนอกเขตพระพุทธศาสนา เวลานั้นพระพุทธศาสนาไม่มี ตั้งโรงทาน ๘๐ โรง ให้ทานถึงสองหมื่นปี เลี้ยงคนกำพร้า คนตกยาก คนเดินทาง พอตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทวดาที่มีบุญน้อยที่สุด เพราะเขตของบุญเล็กไป คนไร้ศีลไร้ธรรม ใช่ไหม…?

ตรงกันข้าม ท่านอินทกะเทพบุตร เกิดเป็นคนจน พ่อตาย ตัดฟืนเลี้ยงแม่ ก็ไม่ได้ตัดขายมากมาย เอาแค่วันๆ พอกินพอใช้ไปวันๆ วันหนึ่งพระสงฆ์เดินผ่านไปที่นั้น ท่านมีโอกาสได้ถวายทาน ในฐานะไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อน คนจนจะมีอะไรมากนักใช่ไหมล่ะ เพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิตเท่านั้น อาศัยคุณความกตัญญูรู้คุณอย่างหนึ่ง แล้วก็ถวายสังฆทานหนึ่ง สองอย่างด้วยกัน ตายแล้วไปเป็นเทวดาที่มีบุญมากที่สุดในดาวดึงส์ นอกจากพระอินทร์แล้วไม่มีใครโตกว่า”

อ่านเพิ่มเติม

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , , , | ปิดความเห็น บน อานิสงส์ถวายสังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน

อานิสงส์การทอดกฐินและการทอดผ้าป่า

อานิสงส์การทอดกฐินและการทอดผ้าป่า
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “การทอดผ้าป่า บางแห่งเขามีชะนีกับพุ่มไม้ แต่ที่วัดท่าซุงนี่ไม่เห็นมีอะไรเลย อานิสงส์จะสู้มีชะนีได้หรือเปล่าคะ…?”

หลวงพ่อ :- “สู้ไม่ได้หรอก เพราะไม่มีร้อง “ผัวโว้ยๆๆ” คือว่า ผ้าป่านี่นะ เดิมทีเดียวพระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้ถวายสังฆทาน ท่านบอกว่าถวายของไม่เจาะจงรูปหนึ่งรูปใด มีอานิสงส์มากเป็นสังฆทาน

ทีนี้ต่อมาญาติโยมมีน้อย พระมาก แกจะประเคนองค์ใดองค์หนึ่งก็เกรงใจองค์อื่น เลยเอาแบบนี้ก็แล้วกัน เราไม่เจาะจงพระ เอาไปแขวนตามต้นไม้ใกล้กุฏิหรือป่าช้า ถ้าพระองค์ไหนมาพบ ชักเอาไปก็ถือว่าเป็นสังฆทาน เขาถือตามรูปนี้นะ

ต่อมาญาติโยมอยู่ไกลป่า เลยตัดกิ่งไม้มา ชะนีก็ชะนีปลอม คือไม่มีความจำเป็นนะ ถวายผ้าป่าก็คือการถวายสังฆทานนั่นเอง ก็ทำมันตรงไปตรงมา ก็หมดเรื่อง”

ผู้ถาม :- “ที่วัดท่าซุง ชอบใจอยู่อย่างครับ คือไปถึงก็ถวายได้เลย ไม่ต้องไปว่า อิมานิ อิมาแนะ สู้สะดวกนิของหลวงพ่อไม่ได้”

หลวงพ่อ :- “จะไปว่าอะไร เขาตั้งใจมาตั้งแต่บ้านแล้ว ที่นำน่ะหมายถึงหลายๆคนด้วยกัน ต้องว่านำ ดีไม่ดีหัวหน้าว่ามากเกินไป รำคาญ บุญหล่นอีก อันที่จริงพระท่านก็ทราบแล้วว่าเป็นสังฆทาน ผู้รับองค์เดียวไม่มีสิทธิ์ใช้แต่ผู้เดียว”

ผู้ถาม :- “ปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งมักจะหาเงินเข้าโรงเรียนโดยการทอดผ้าป่า ผ้าไตรจีวร เสร็จแล้วก็แบ่งถวายพระเล็กน้อย ส่วนใหญ่ก็เข้าโรงเรียน ลูกมีความไม่สบายใจ เกรงว่าบุญอันนี้จะไม่สมบูรณ์แบบ เกรงว่าจะเป็นของสงฆ์ไปด้วย ลักษณะอย่างนี้ อยากเรียนถามหลวงพ่อว่า ได้บุญมากกว่าหรือบาปมากกว่าเจ้าคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ความจริงถ้าบอกเขาตรงๆว่าจะไปช่วยโรงเรียนนะ แล้วก็บอกว่าส่วนหนึ่งก็จะถวายพระ ถ้าทำตามนั้นอานิสงส์สมบูรณ์แบบ พูดตรงไปตรงมานะ โกงไปโกงมาไม่ได้ หมายความว่าส่วนใดถวายพระ นั่นเป็นสังฆทานแท้ ส่วนใดที่ให้โรงเรียน ก็เป็นทานบารมีไป เป็นทานส่วนบุคคลนะ อานิสงส์ต่ำหน่อย”

ผู้ถาม :- “เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ กระผมเป็นหัวหน้าจัดทอดผ้าป่าหลายครั้ง ได้เงินเป็นจำนวนมาก แต่เวลาเดินทางไปผมก็ซื้อขนมเลี้ยงกันในรถ เลี้ยงเหล้าเลี้ยงอาหารกันก็หลายครั้ง ตอนนี้ผมหูตาสว่างเมื่อได้พบหลวงพ่อ จึงอยากจะชดใช้เวรกรรมที่กระทำไว้ จึงขอปรึกษาหลวงพ่อว่า เราควรจะเพิ่มดอกเบี้ยเท่าใด พระยายมจึงจะอโหสิครับ…?”

หลวงพ่อ :- “เอ…เดี๋ยวๆ ขอคิดค่าติดต่อ ได้ตังค์แล้วตอนนี้ (หัวเราะ) มิน่าเล่าตอนนั่งสมาธิท่านลุง (พระยายม) ถึงได้ขึ้นมา ถาม “มีเรื่องอะไรลุง” บอก “วันนี้มีธุระ” อันนี้จริงๆ นะ”

ผู้ถาม :- “แสดงว่าท่านรู้ล่วงหน้าหรือครับ..?”

หลวงพ่อ :- “ใช่ ท่านรู้ว่าฉันจะได้สตางค์ เอายังงี้ก็แล้วกันนะ ประเดี๋ยวก่อน คนที่ไปกินด้วยกันคือพวกเดียวกันหรือเปล่า พวกออกสตางค์หรือเปล่า ต้องดูก่อนนะ ถ้าเงินที่อื่น คนอื่นด้วย ก็ควรชำระหนี้สงฆ์ไป

ถ้าหากว่าคนที่ไปเป็นคณะ เราเรี่ยไรเฉพาะคณะนั้นนะ แล้วไปด้วยกัน ซื้อแบ่งกันกิน อันนี้ไม่เป็นไร ต่างคนต่างกิน ลงก็ลงด้วยกัน แต่คนไม่ลง คือว่าเรี่ยไรเฉพาะคนนั้น เขาทราบอยู่ อันนี้ไม่เป็นไร ถ้าเอาเงินจากคนอื่นไปด้วย อันนี้ควรจะชำระหนี้สงฆ์”

ผู้ถาม :- “ต้องเป็นวัดที่เราเคยไปทอดใช่ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “วัดไหนก็ได้ เข้าเขตสงฆ์ก็แล้วกัน ใครทำบ่อย ก็จัดการแก้ไขเสีย”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ การทอดผ้าป่า กับ การทอดกฐิน อย่างไหนได้อานิสงส์มากน้อยกว่ากันคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ความจริง ผ้าป่า กับ กฐิน เป็นสังฆทานด้วยกันทั้งคู่นะ แต่ถ้าว่าอานิสงส์โดยเฉพาะ กฐินได้มากกว่า เพราะว่ากฐินมีเวลาจำกัด จะทอดตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ แต่อานิสงส์ได้ทั้งสองฝ่าย คือ ผู้ทอดก็ได้ พระผู้รับก็ได้ พระผู้รับมีอำนาจคุ้มครองพระวินัยได้หลายสิกขาบท ทำให้สบายขึ้น

ต้นเหตุแห่งการทอดกฐินนี้ ก็มีนางวิสาขาเป็นคนแรก ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติการจำพรรษา เพื่อป้องกันพระไปเดินเหยียบต้นพืชต้นข้าว ที่ชาวบ้านเขาปลูกไว้ในฤดูฝนไม่ให้เสียหาย

ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุชาวปาฐา ๓๐ รูป เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ในเวลานั้นพระสงฆ์ทั้งหลายมีผ้าจำกัดเพียง ๓ ผืนเท่านั้น เมื่อมาถึงในขณะที่นางวิสาขาเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่พอดี เห็นพระมีผ้าสบงจีวรเปียกโชกด้วยน้ำฝนและน้ำค้าง จึงได้กราบทูลขอพรแด่พระพุทธเจ้าว่า “หลังจากออกพรรษาแล้ว ขอบรรดาประชาชนทั้งหลาย มีโอกาสถวายผ้าไตรจีวรแก่คณะสงฆ์ด้วยเถิด” พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุมัติ

ส่วน ผ้าป่า ก็เป็นสังฆทาน แต่อานิสงส์จะน้อยไปนิดหนึ่ง แต่ทั้งสองอย่างก็เป็นสังฆทานเหมือนกัน แต่เป็นสังฆทานเฉพาะกิจ กับสังฆทานไม่เฉพาะกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าป่า ผู้ให้ก็ได้อานิสงส์ ผู้รับก็มีอานิสงส์แต่เพียงแค่ใช้

เป็นอันว่าทั้งสองอย่างนี้ ถือว่าอานิสงส์การทอดกฐินมากกว่าผ้าป่า แต่ว่าการทอดกฐินปีหนึ่งครั้งเดียว ผ้าป่าทอดได้ตั้งหลายครั้ง อานิสงส์ผ้าป่าย่อมได้มากกว่านะ”

ผู้ถาม :- “แล้ว องค์กฐิน ที่แท้จริงเป็นอย่างไรคะ…?”

หลวงพ่อ :- “องค์กฐินจริงๆ คือ ผ้าไตร นอกนั้นเป็นบริวาร เวลากรานกฐินจริงๆ เรากรานกันแต่ผ้า การถวายก็ไม่ยาก เรามีผ้าจีวรผืนหนึ่ง หรือว่าสบงผืนหนึ่ง หรือว่าสังฆาฏิผืนหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เขาเรียกว่า จุลกฐิน หรือจะถวายทั้งไตรก็ได้ เขาเรียกว่า ปกติกฐิน แต่ถ้าถวายไตรจีวรครบทั้งวัด เรียกว่า มหากฐิน

ฉะนั้นจะถวายมากก็ได้ ถวายน้อยก็ได้ อานิสงส์เท่ากัน โดยเฉพาะวัดท่าซุง จัดเป็นกฐินสามัคคี เป็นเจ้าภาพร่วมกันทุกคน ได้อานิสงส์เท่ากันหมด

สำหรับ การทอดกฐิน ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านเคยเทศน์ คือพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระปทุมุตตระ ท่านเคยเทศน์วาระหนึ่ง สมัยที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เป็นมหาทุคคตะ

คำว่า มหาทุคคตะ นี้จนมาก เป็นทาสของคหบดี ได้ไปฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าว่า อานิสงส์กฐินนี้มีมาก ท่านจึงกลับไปชวนนาย แต่นายก็มอบหมายทรัพย์สมบัติให้ท่านเป็นผู้จัดการทุกอย่าง ท่านมหาทุคคตะอยากมีส่วนร่วมทานนี้ด้วย แต่ไม่มีอะไร มีแต่เสื้อผ้าเก่าๆ ของตนที่มีติดตัวอยู่เพียงชุดเดียว จึงนำไปแลกที่ร้านในตลาด มีด้าย ๑ กลุ่ม เข็ม ๑ เล่ม เอามาร่วมในการทอดกฐินกับเจ้านาย เพื่อปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล

พระองค์ทรงตรัสว่า คนถวายผ้ากฐินหรือร่วมในการถวายกฐินทานครั้งหนึ่ง จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จะปรารถนาเป็นพระอัครสาวกก็ได้ จะปรารถนาเป็นพระอรหันต์ก็ได้

แต่ถ้าหากว่ายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด อานิสงส์จะให้ผลทานแก่ผู้นั้น เมื่อตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็นเทวดา แล้วก็จะลงมาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ปกครองโลก ๕๐๐ ชาติ บุญน้อยลงมา จะเป็นพระมหากษัตริย์ ๕๐๐ ชาติ เป็นมหาเศรษฐี ๕๐๐ ชาติ เป็นอนุเศรษฐี ๕๐๐ ชาติ เป็นคหบดี ๕๐๐ ชาติ

แต่คนที่ทอดผ้ากฐิน หรือว่าร่วมในการทอดผ้ากฐินครั้งหนึ่งก็ดี บุญบารมีส่วนนี้ยังไม่ทันจะหมดก็ปรากฏว่า ท่านเจ้าของทานไปนิพพานก่อน”

หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๙-๑๔ (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , , | ปิดความเห็น บน อานิสงส์การทอดกฐินและการทอดผ้าป่า

อานิสงส์สร้างพระพุทธรูป

อานิสงส์สร้างพระพุทธรูป
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ การสร้างพระพุทธรูป กับ การถวายปัจจัย อย่างไหนมีอานิสงส์ดีกว่าคะ…?”

หลวงพ่อ :- “การสร้างพระพุทธรูป จัดว่าเป็น พุทธบูชา ถ้าในเรื่องกรรมฐานจัดเป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้าตายจากคนไปเกิดเป็นเทวดา มีรัศมีกายสว่างไสวมาก

ถ้า ถวายปัจจัย ถวายเป็นของสงฆ์ จัดว่าเป็น พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา จัดเป็น จาคานุสสติกรรมฐาน เกิดมาชาติหน้าก็รวย

การสร้างพระถวาย ด้วยอำนาจพุทธบูชา ทำให้มีรัศมีกายมาก เป็นคนสวยตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พุทธบูชา มหาเตชะวัณโต การบูชาพระพุทธเจ้ามีเดชอำนาจมาก

แต่ถ้ามีอำนาจแต่ขาดสตางค์ก็อดตายนะ ใช่ไหม…แต่งตัวเป็นจอมพลแต่ไม่มีสตางค์ในกระเป๋า แย่นะ… อีกแบบหนึ่ง มีสตางค์มากๆ แต่ขาดอำนาจราชศักดิ์ ก็โดนโจรปล้นอีก ฉะนั้นทำมันเสีย ๒ อย่างเลยดีไหม…?”

ผู้ถาม :- “ดีค่ะ…แต่ได้ยินเขาว่า ถ้าสร้างพระพุทธรูปนี่ควรสร้างพระประธานจึงมีบุญมาก”

หลวงพ่อ :- “ก็เขียนไว้ซิ สร้างพระประธาน องค์เล็กองค์ใหญ่ก็เขียนไว้ ก็เป็นพระพุทธรูปเหมือนกัน เราสร้างก็ได้บุญแล้ว ใครไปโยนทิ้งก็ซวยเอง”

ผู้ถาม :- ถ้าหากว่าจะย้ายพระประธาน ไปบูชาเป็นพระประธานวัดอื่น จะได้ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “เรื่องของบูชาสำหรับที่วัดนี่ ถือว่าเขาถวายมาเพื่อบูชา ตั้งอยู่ที่ใดก็ตาม ถ้าพระย้ายไปที่อื่นนอกเขต ถือว่าย้ายเจดีย์ ทางวินัยท่านปรับอาบัติ และถ้าของนั้นเขาถวายสงฆ์ เขามีเจตนาเฉพาะจุดนั้น ถ้าเราเอาไป ถือว่าขโมยของสงฆ์ อันดับแรกเขาลงบัญชีอเวจีไว้ก่อน ของสงฆ์นี่แม้แต่เศษกระเบื้อง ถ้านำไปก็ลงบัญชีอเวจีเลย”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อเจ้าคะ การสร้างพระพุทธรูป ทำด้วยโลหะกับทำด้วยปูน อย่างไหนจะดีกว่ากันเจ้าคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้าเป็นเจตนาของฉันนะ ชอบให้ทำด้วยปูนมากกว่า ปั้นด้วยปูนแล้วปิดทอง เพราะอะไรรู้ไหม…เพราะพระปูนไม่มีใครขโมย พระโลหะเผลอหน่อยเดียว คนตัดเศียรแล้ว ดีไม่ดีเอาไปทั้งองค์ ฉะนั้นปูนดีกว่า มีอานิสงส์เท่ากัน ราคาถูกกว่า ทนทาน และรักษาง่ายกว่า”

หลวงพ่อ :- “การสร้างพระพุทธรูปนี่เป็นพุทธบูชา เป็นพุทธานุสสติในกรรมฐาน ๔๐ กอง ท่านบอกว่ากำลังพุทธานุสสติ เป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพานได้ง่ายที่สุด ง่ายกว่ากองอื่น ก็เห็นจะจริง เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านอยู่นิพพานนี่ และท่านก็เป็นต้นตระกูลของพระนิพพาน ใช่ไหม…

ทีนี้ถ้าเราต้องการสร้างให้สวยตามที่เราชอบ เห็นแล้วก็ทำให้จิตใจสดชื่น จิตมันก็นึกถึงพระอยู่เสมอ ถ้าจิตนึกถึงพระพุทธรูปองค์นั้นอยู่เสมอ ก็จัดเป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้าใจเราเกาะพระพุทธเจ้าเป็นปกติ ตายแล้วลงนรกไม่เป็น ฉะนั้นถ้าหากโยมเห็นว่าพระที่ทำด้วยโลหะสวยกว่า ชอบมากกว่า โยมก็สร้างแบบนั้น”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ถ้าหากว่าเราเดินไปเช่าตามร้าน กับการจ้างเขาหล่อให้แล้วเททองเอง อานิสงส์จะได้เท่ากันไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “กุศลน้อยกว่าที่เขาทำสำเร็จแล้ว เพราะว่าเราต้องเหน็ดเหนื่อย ดีไม่ดีหัวเสีย ที่เขาทำเสร็จแล้วนะ เราก็เลือกดูเอาตามชอบใจ ใช่ไหมล่ะ วิธีการแบบนั้น ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลยนี่ ร้อนก็ร้อน เหนื่อยก็เหนื่อย บางทีไอ้ตัวร้อนตัวเหนื่อยนี่มันตัดเลย

ทำบุญทุกอย่าง ทำให้จิตสบาย กายสบาย อันนี้ถือว่ามีผลสูง ถวายสังฆทานนี่มีค่าสูงมาก การที่นิมนต์พระมาเลี้ยงข้าวที่บ้าน ๔-๕ องค์ อานิสงส์เป็นสังฆทานเหมือนกัน แต่ดีไม่ดีมันน้อยกว่าอย่างนี้ เพราะยุ่งกว่า ดีไม่ดีคนแกงบ้าง คนต้มบ้าง เราไม่ชอบใจก็โมโห ไอ้ตัวโมโหนี่แหละมันตัด ใช่ไหม…?”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ถ้าเรามีพระบูชา เราควรจะหันหน้าไปทางทิศไหนคะ…?”

หลวงพ่อ :- “พระบูชาที่นิยมกัน เขาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ถ้าหันไปทางทิศใต้กับทิศตะวันตก สตางค์ไม่เหลือใช้ ลองดูก็ได้”

ผู้ถาม :- “เป็นเพราะเหตุใดคะ…?”

หลวงพ่อ :- “อันนี้ฉันไม่รู้ละ รู้แต่ว่าสมัยหลวงพ่อปาน ถ้าลูกศิษย์ท่านหันหน้าพระพุทธไปทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ ท่านบอกว่าควรหันไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ”

ผู้ถาม :- “แล้วอย่างพระพุทธรูปที่บอกว่ายังไม่ เบิกพระเนตร หมายความว่าอย่างไรคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้ายังไม่เบิกพระเนตร แสดงว่ายังไม่มีลูกตา พระองค์ไหนมีลูกตาแล้ว พระองค์นั้นเบิกพระเนตรแล้ว ใช่ไหม…?”

(ผู้ถามหัวเราะ)

หลวงพ่อ :- “ฉันว่ามันเป็นพิธีสมัยก่อนโน้นละมั้ง คือเขาปั้นพระพุทธรูปแล้ว ยังไม่ได้ทำลูกตา เลยหาช่างมาทำลูกตามากกว่า เวลานี้ก็เลยเอาวิธีการนั้น พระที่วัดฉันไม่ต้องเบิกเนตร เห็นท่านมีตาทุกองค์ ใครเขาถามว่าเบิกพระเนตรหรือยัง…ฉันไม่ทำละ มีแล้วนี่…ควรจะเบิกเนตรเราให้ดีเท่าเนตรท่านดีกว่า ใช่ไหม…?”

ผู้ถาม :- “แล้วถ้าหากว่าเรามีพระพุทธรูป แต่พระเนตรท่านปิด อย่างนี้ต้องเบิกพระเนตรไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “เอาละซิ ขืนไปเบิกเข้า ตาท่านฉีกแน่ บาป ต่อไปชาติหน้า ตาเหลือก”

ผู้ถาม :- (หัวเราะ) “คือท่านหลับตานั่งสมาธิค่ะ”

หลวงพ่อ :- “เขาทำหลับตาก็ปล่อยให้หลับตา ทำสมาธิก็ต้องหลับตาใช่ไหม…?”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อครับ การถวายพระพุทธรูปองค์เล็กๆ กับถวายพระประธานองค์ใหญ่ๆ พระประธานในโบสถ์น่ะครับ จะมีอานิสงส์เหมือนกันหรือเปล่าครับ…?”

หลวงพ่อ :- “เหมือนกัน คือเขียนเหมือนกัน เขียนว่า อานิสงส์ ถวายพระพุทธรูป…แต่ว่าเราไปเทียบกันไม่ได้นะ สุดแล้วแต่กำลังใจ ถ้าคนที่เขามีฐานะน้อยเขามีเงินจริงๆ แค่สร้างพระพุทธรูปขนาด ๓ นิ้ว ทำด้วยปูนปลาสเตอร์ แต่ว่ากำลังใจเขามั่นคง ฐานะมันแค่นั้น ก็มีอานิสงส์สูง ถือว่าเขาทำดีที่สุดของฐานะอยู่แล้วใช่ไหม…

สร้างพระประธานในโบสถ์ อานิสงส์ก็คือสร้างพระพุทธรูป ถ้าหากว่าเจ้าของคิดว่าสร้างเพื่ออวดชาวบ้าน ก็สู้สร้างองค์เล็กๆ ไม่ได้ เพราะคิดด้วยจิตบริสุทธิ์”

ผู้ถาม :- “แล้วถวายพระประธานเพื่อแก้บนเล่าครับ คือว่าลูกชายง่องๆ แง่งๆ ใจไม่ค่อยดี ก็คิดว่าถ้าหากลูกชายแข็งแรงดี จะถวายพระประธานประจำอุโบสถสักองค์หนึ่ง จะแตกต่างกับถวายพระประธานเนื่องในการไม่แก้บนไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ต้องดูเจตนาก่อน เราแก้บน แต่ตั้งเจตนาให้ถูกนะ ถือว่าสร้างพระพุทธรูปไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อสักการะของคนและพระ มันจะมีอานิสงส์เหมือนกัน แต่ถ้าคิดว่านี่เพราะลูกเราไม่ตาย เพราะการถวายพระพุทธรูปอย่างนี้ อานิสงส์น้อยมาก เพราะเรามีการแลกเปลี่ยน

เราบนก็จริงแหล่ แต่คิดว่าการสร้างพระพุทธรูปนี่ สร้างไว้เป็นที่สักการะของคนและพระเณร ก็ถือว่าเราสร้างไว้ในพระพุทธศาสนา ไม่ถือเป็นการแลกเปลี่ยน ถ้าคิดว่าการแก้บน มันเป็นการแลกเปลี่ยน แต่ว่าเราบนไว้จริง แต่ว่าเจตนาเราตั้งไว้อีกหน่อยหนึ่ง”

ผู้ถาม :- “เรื่องพระประธานผ่านไป ทีนี้เรื่องพระแตก มีบางคนเขาบอกว่า ห้อยพระที่แตกหรือหัก ลูกเมียจะทะเลาะกัน พระศุกร์จะเข้าพระเสาร์จะแทรก บางคนถึงขนาดเอาเศียรพระหักๆแตกๆ ไปไว้ตามต้นโพธิ์ ตามวัด ความจริงเป็นยังไงครับหลวงพ่อ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้าจะให้แน่ คุณก็ลองห้อยดูก่อน ใครได้พระสมเด็จแตกๆ มาให้ฉันทีเหอะ ฉันเอาหมด…ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอก มันจะด่ากันเองน่ะ เลยไปโทษพระใช่ไหม…

แต่ว่าที่เห็นเขาถือกัน ก็คือพระพุทธรูป ถ้าชำรุด เขาไม่บูชาไว้ที่บ้าน อันนี้ไม่มีตำรา อาจจะมีประสบการณ์ก็ได้นะ แต่พวกที่โบราณเขาเขียนบอกไว้ ต้องระวังหน่อย บางทีมีประสบการณ์ แต่หาเหตุมาไม่ได้ ก็ต้องเชื่อเหมือนกัน

อย่างสมัยหลวงพ่อปาน ถ้าลูกศิษย์ท่านหันหน้าพระพุทธไปทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ อันนี้ไม่มีเรื่องทะเลาะกัน แต่สตางค์ไม่เหลือใช้ ท่านบอกว่าควรหันไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ ทีนี้หากเราเห็นว่าชำรุด เราตกแต่งให้ดีก็คงจะดีมั้ง”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อขอรับ ได้ทราบข่าวว่าหลวงพ่อจะสร้างแท่นพระ สำหรับพระพุทธรูปข้างพระอุโบสถวัดท่าซุงนั้น อยากจะทราบว่าการสร้างแท่นพระมีอานิสงส์อย่างไรขอรับ…?”

หลวงพ่อ :- “สร้างแท่นก็เหมือนกับสร้างพระพุทธรูป คือแท่นพระพุทธรูปเขาบกพร่องอยู่ เราทำให้เต็ม อย่างนางวิสาขาหรือพระสิวลี อานิสงส์ไม่ใช่เล็กน้อยนะ อานิสงส์ใหญ่มาก คนจะรวยแล้วนะ วาสนาบารมีจะสูง สร้างแท่นพระ หนุนพระให้สูงน่ะ แล้วพระพุทธเจ้าด้วยนะ เราฐานะก็จะดีขึ้น”

ผู้ถาม :- “ดิฉันและน้องๆ ได้สร้างพระพุทธรูปปิดทองฝังเพชร ขนาด ๓๐ นิ้ว ถวายเป็นพุทธบูชา ไปไว้ที่วัดท่าซุง พอถวายแล้ว หลวงพ่อให้พรว่า “ขอให้รวยทุกคน รวยเท่าพระพุทธเจ้านะลูก” กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า รวยเท่าพระพุทธเจ้าเขารวยแบบไหนเจ้าคะ…?”

หลวงพ่อ :- “จะเอาแบบไหนล่ะ จะเอาแบบทรัพย์มาก หรือจะเอาแบบกิเลสหมด…?”

ผู้ถาม :- “ตอนนี้เอาทรัพย์ก่อนก็แล้วกันค่ะ เพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี”

หลวงพ่อ :- “พระพุทธเจ้านี่รวยมากเพราะกิเลสหมดนะ คือว่าพระพุทธเจ้าใครบอกไม่มีทรัพย์สินน่ะไม่ถูกหรอก ที่นั่งอยู่ที่นี่ ทรัพย์ที่นำมาให้ เป็นของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนะ ฉันไม่คิดว่าเป็นของฉัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ไหนไม่เคยจน อย่างวิหารของนางวิสาขาเขาสร้างราคาเท่าไร ก็รวมความว่าพระพุทธเจ้ามีทรัพย์สินมากราคาเป็นล้านๆ โกฏิ เอารวยแบบนั้นก็แล้วกันนะ…”

หลวงพ่อมักจะให้พรอย่างนี้เสมอว่า รวย…รวย…รวย

หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๑-๘ (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน อานิสงส์สร้างพระพุทธรูป