หลวงพ่อฤๅษีฯ สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน ๑๒

หลวงพ่อฤาษีฯ สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
ตอนที่ ๑๒ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๑

      วันนี้ก็ขอพูดถึงสกิทาคามีมรรค ด้านระงับโทสะ หรือตัดโทสะ คือเป็นการตัดแบบเบาๆ เพราะว่าพระสกิทาคามี ยังไม่สามารถทำลายราคะ หรือว่าโลภะ หรือว่าโทสะ หรือโมหะ ได้หมด เป็นแต่เพียงว่ามีอารมณ์ดีกว่าพระโสดาบันหน่อย ที่ความรักในระหว่างเพศก็ดี ความโลภ อยากได้ทรัพย์สินโดยไม่ชอบธรรมก็ดี หรือว่าโทสะ ความโกรธก็ดี โมหะ ความหลงก็ดี เป็นอาการบรรเทาลงไปมาก ดีกว่าพระโสดาบัน

 

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑

ตอนที่ ๑๒ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๑

สำหรับโอกาสนี้ บรรดาท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย ต่างพากันสมาทานพระกรรมฐาน สมาทานศีลแล้ว ต่อไปขอให้ท่านทั้งหลายปลงใจเช่นเดียวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันที่พระองค์จะทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันนั้นองค์สมเด็จพระพิชิตมารนั่งอยู่ที่โคนโพธิ์ หันหลังไปทางต้นโพธิ์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เลือดและเนื้อของเราจะเหือดแห้งไปก็ตามที หรือว่าชีวิตินทรีย์จะตักษัยไปก็ตาม ถ้าเราไม่สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด เราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้

กำลังใจอย่างนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัทผู้มีความหวังดีซึ่งพระนิพพาน จะต้องทำใจอย่างนี้ทุกขณะที่ปฏิบัติหรือที่ทรงอารมณ์อยู่ หมายความว่าขณะใดยังมีความรู้สึกอยู่ ขณะนั้นเราจะต้องใช้อารมณ์อย่างนี้เสมอ จะไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงกับความตายที่จะพึงบังเกิดขึ้นกับเรา ถือว่าชีวิตเป็นภาวะปรกติที่มันเกิดแล้วก็ต้องตาย แต่ถ้าหากว่าเราจะตายกับความบริสุทธิ์เราจะพอใจมาก ฉะนั้นเสียงก็ดีหรือว่าอาการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี จะพึงเกิดขึ้นในขณะที่เราคุมอารมณ์อยู่ คำว่าคุมอารมณ์นี่ ผมหมายความว่าทั้งวันนับตั้งแต่ตื่นยันหลับ จะต้องทรงอารมณ์อย่างนี้ไว้เป็นปกติ เราจะไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ใดๆ ทั้งหมดที่มันจะพึงเกิดขึ้น

ถ้าหากว่าจะเป็นเรื่องของอารมณ์ เราก็ถือว่าเป็นกฎธรรมดาที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์จะต้องประสบอย่างนี้ และการประสบกับความยากลำบากต่างๆ ในชีวิตไม่ใช่มีแต่เรา คนที่เกิดมาแล้วตายไปแล้วทั้งหมดนับไม่ถ้วน เขาประสบมาแล้วเหมือนกัน ในปัจจุบันคนทุกคนในโลกก็ประสบเช่นนั้น ในเมื่อโลกมันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ โลกเป็นทุกขัง ไม่มีอะไรจะทรงความสุขไว้ได้ โลกเป็นอนัตตา ในที่สุดมันก็สลายตัว ในเมื่อว่าสภาวะปกติของมันเป็นอย่างนี้ มันจะเป็นยังไงก็ช่างมัน ถือว่าชีวิตของเรานี้ไม่กี่วันมันก็จะสิ้นซาก ร่างกายจะสลายไป เราจะไปจุดที่เราต้องการนั่นคือพระนิพพาน

และก็ทรงอารมณ์ระงับโลภะ ความโลภ ราคะ ความรัก โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง ไม่ยอมนึกถึงเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาแล้ว และก็ไม่ยอมจะนึกถึงเรื่องต่างๆ ที่มันยังไม่มาถึง เราจะควบคุมกำลังใจของเราให้ดีที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด เยือกเย็นที่สุดในปัจจุบัน คำว่าอารมณ์นี่มันมีปัจจุบันอย่างเดียว ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ความรู้สึกของเรามันมีคำว่าเดี๋ยวนี้เป็นปรกติ ถ้าเดี๋ยวนี้ของเราดีเสียแล้ว เวลาไหนที่มันจะชั่วมันไม่มี

วันนี้ก็ขอพูดถึงสกิทาคามีมรรค ด้านระงับโทสะหรือตัดโทสะ คือเป็นการตัดแบบเบาๆ เพราะว่าพระสกิทาคามี ยังไม่สามารถทำลายราคะ หรือว่าโลภะ หรือว่าโทสะ หรือโมหะได้หมด เป็นแต่เพียงว่ามีอารมณ์ดีกว่าพระโสดาบันหน่อย ที่ความรักในระหว่างเพศก็ดี ความโลภอยากได้ทรัพย์สินโดยไม่ชอบธรรมก็ดี หรือว่าโทสะ ความโกรธก็ดี โมหะ ความหลงก็ดี เป็นอาการบรรเทาลงไปมาก ดีกว่าพระโสดาบัน

พระโสดาบันความรักยังเต็มภาคภูมิ แต่อยู่ในขอบเขตของศีล ความอยากรวยยังเต็มภาคภูมิ แต่อยู่ในขอบเขตของศีล ความโกรธยังมีอยู่เต็มภาคภูมิ แต่อยู่ในขอบเขตของศีล ความหลงในความสวยสดงดงามยังเต็มภาคภูมิ แต่ว่าไม่ลืมความตาย รักพระนิพพานเป็นอารมณ์ เคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอันว่าพระโสดาบัน กับพระสกิทาคามี พระพุทธเจ้ากล่าวว่าทรงอธิศีล มีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย แต่มีศีลหนัก หนักอยู่ในเรื่องของศีล นี่มันเป็นของไม่ยาก

แต่ว่าก่อนอื่นใดทั้งหมดขอย้ำว่า ท่านทั้งหลายอย่าลืม เวลานี้เราพูดกันถึงหมวดอานาปานุสสติกรรมฐาน เรื่องลมหายใจเข้าออก ท่านอย่าเผลอ ถ้าเผลอลมหายใจเข้าหายใจออกเมื่อไร แสดงว่าเราเลวเมื่อนั้น หรือว่าจะทรงคำภาวนาหรือการพิจารณาอะไรๆ ก็ตาม ลืมลมหายใจเข้าหายใจออกไม่ได้ นี้จุดหนึ่ง จิตเราถ้าจะตัดกิเลสได้ดี อันดับแรกให้ทรงอารมณ์ฌานคือสมาธิ ให้มีอารมณ์สงบสงัดที่สุด มีความกล้ามีความแข็งพอสมควร เมื่อจิตใจมีความเยือกเย็นดีแล้ว คลายอารมณ์ลงมาพิจารณาขันธ์ ๕ หรือว่าพิจารณาในด้านของอสุภกรรมฐาน กายคตานุสสติกรรมฐาน เป็นการทำลายหรือว่าระงับหรือว่าลดกำลังของความรักในระหว่างเพศ พิจารณาจาคานุสสติกรรมฐาน เป็นการลดกำลังความโลภ อย่างนี้ก็ได้

ต่อนี้ไปเรามาพูดกันถึงความโกรธ ความโกรธ ความพยาบาทนี่มันมีกับคนทุกคน ที่เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส หรือว่าพระโสดาบันและพระสกิทาคามียังมีความโกรธ แต่ว่าความโกรธของพระอริยเจ้าไม่เป็นพิษไม่เป็นภัยกับใคร ท่านโกรธเดี๋ยวท่านก็เหวี่ยงโกรธทิ้งไป แต่คนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส โกรธไม่จบ วันนี้เรามาหาทางจบของความโกรธ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ตายเลย เราก็จะพยายามตัดแข้งตัดขามันเสีย ให้มันตะเกียกตะกายไปไหนไม่ไหว มันจะพยายามค่อยๆ หมดกำลังลงไป ในเมื่อมันเดินไม่ได้ มันคลานไม่ได้

วิธีตัดความโกรธที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำ แนะนำไว้เป็นสองแบบ แบบที่หนึ่ง ก็คือใช้เมตตา พรหมวิหาร แบบที่สองใช้กสิณ ๔ สำหรับวันนี้ผมจะขอพูดแบบของกสิณก่อน เฉพาะกสิณที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ระงับความโกรธ หรือว่าทำลายความโกรธมีอยู่ ๔ อย่าง คือ กสิณสีแดง กสิณสีเขียว กสิณสีเหลือง กสิณสีขาว

พอพูดถึงกสิณ ท่านจะทำตาโตหรือตกใจ เพราะว่ามีนักปฏิบัติมากด้วยกัน พอพูดถึงกสิณรู้สึกทำท่าทางใหญ่โต รู้สึกว่าเหมือนว่าเป็นของใหญ่ของหนักเสียจริงๆ แต่ความจริงกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง จะเป็นกสิณหรือไม่ใช่กสิณก็ตาม เป็นของมีค่าเสมอกัน ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย ผมเคยฝึกมาแล้วผมไม่เห็นมันแปลก อนุสสติ ๑๐ ก็ดี อสุภ ๑๐ ก็ดี กสิณ ๑๐ ก็ดี อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน ๔ หรือว่าอรูป ๔ อรูปก็มาจากกสิณ มันก็แค่นั้นแหละ ไม่มีอะไรวิเศษวิโสไปจากกัน เป็นแต่เพียงว่ากสิณเป็นกรรมฐานหยาบ สามารถจะทรงฌาน ๔ ได้ทุกอย่างเท่านั้นเอง สร้างความเข้าใจตามนี้ไว้ด้วยนะครับ อย่าทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต พอจับกสิณเข้ามาก็แสดงว่าฉันน่ะเก่งเสียเต็มที นั่นมันเป็นความเลวที่ให้อภัยอะไรไม่ได้เลย เป็นคนที่มีแต่สัญญา แต่เป็นคนที่ไม่มีปัญญา

วันนี้มาพูดกันถึงกสิณ ตัวอย่างก็คือ พระลูกชายนายช่างทอง ตามที่พูดให้ฟังแล้วในด้านของพระสูตร ท่านบวชกับพระสารีบุตร ท่านเป็นคนมีโทสะจริต พระสารีบุตรให้อสุภกรรมฐาน คิดว่าคนหนุ่มคนสวยคนรวยย่อมหนักไปในกามารมณ์ เมื่อให้กรรมฐานผิด ผิดกับจริต ไม่ตรงกัน การตีข้าศึก ข้าศึกมาหน้าบ้าน เราไปตีหลังบ้าน ข้าศึกเขาก็ปล้นบ้านหมด ๓ เดือนท่านก็ไม่สามารถจะบรรลุมรรคผลได้ เมื่อออกพรรษาพระสารีบุตรพาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระจอมไตร พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสว่า สารีบุตร กุลบุตรผู้มีศรัทธา ที่ตถาคตไม่สามารถจะสอนนั้นไม่มี ถ้าอย่างนั้นขอพระสารีบุตรกลับไปก่อน

เมื่อพระสารีบุตรกลับไปแล้ว องค์สมเด็จพระชินวร จึงได้ทรงมอบกสิณอันหนึ่ง ที่เรียกว่าโลหิตกสิณคือกสิณสีแดง โดยเนรมิตดอกบัวเป็นสีแดง ดอกบัวทองคำให้พระองค์นั้นไปนั่งที่กองทรายหน้าวิหาร เอาดอกบัวปักอยู่บนกองทรายแล้วก็นั่งเพ่งมอง จำว่านี่ สีแดงๆๆ นึกในใจ พร้อมกันนั้นก็เห็นจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วย พอลืมตาขึ้นมาใหม่ ก็มองจับสีแดง เมื่อสีมันพร่าไป ใจจำไม่ถนัด ลืมตามาดูใหม่ แล้วก็หลับตานึกถึงสีแดง ประเดี๋ยวเดียวสีแดงก็คลายตัว จางลงทีละน้อยๆๆ กลายเป็นสีเหลือง จากสีเหลืองเป็นสีขาว จากเป็นสีขาวเป็นประกายเหมือนแก้ว เป็นแก้วใสก่อน จากแก้วใสเป็นประกายคล้ายๆ แก้วทอแสงจากพระอาทิตย์ ตอนนี้แสดงว่า จิตของท่านเป็นผู้ทรงฌานเข้าถึงฌาน ๔

ตอนนั้นองค์สมเด็จพระมหามุนี ทรงพิจารณาดูว่า โอหนอ พระองค์นี้ถ้าเราไม่ช่วยเวลานี้เธอได้ฌาน ๔ แล้ว ถ้าเราไม่ช่วยเธอจะบรรลุมรรคผลเป็นอรหันต์ได้หรือไม่ สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงทราบด้วยอำนาจพระพุทธญาณ ว่าถ้าเราไม่ช่วยเธอ เธอไม่สามารถจะบรรลุมรรคผลได้ เวลาที่เธอหลับตาอยู่อย่างนั้น สมเด็จพระจอมไตรจึงได้ทรงเนรมิตดอกบัวที่มีสีสดใสให้กลายเป็นสีเศร้าหมอง เมื่อท่านนั่งเพ่งภาพของกสิณคือสีแดงที่เป็นประกายพอกำลังใจก็ลืมตามาดูดอกบัว เห็นดอกบัวเศร้าหมองคิดในใจว่า โอ้หนอ ดอกบัวนี่เมื่อกี้นี่ผ่องใส เวลานี้มันเศร้าหมองไปเสียแล้วหรือ ก็หลับตานึกว่า อ้อ ร่างกายของเราก็เป็นอย่างนั้น มันผ่องใสแต่เมื่อถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวเท่านั้น กาลเวลาล่วงไปร่างกายเราก็เศร้าหมองแบบนี้ เธอก็พิจารณาแบบนี้

ต่อมาองค์สมเด็จพระชินสีห์ก็ทรงเนรมิตให้กลีบบัวหล่นลง เธอพิจารณาภาพกสิณด้วย และก็ใช้อารมณ์ใจพิจารณาถึงกำลังของร่างกายด้วย ว่ามันมีความไม่เที่ยง มันมีความทรุดโทรมเป็นธรรมดา ลืมตามาอีกที ตายจริง กลีบบัวหล่นเสียหมดแล้ว เหลือแต่ฝัก เกสรก็ไม่มี เหลือแต่ก้าน เธอก็หลับตาลงไป คิดว่าร่างกายเรานี้ ทรุดโทรมลงไปๆ เช่นเดียวกับดอกบัว เศร้าหมอง แต่ในที่สุดกลีบก็ร่วงลง เหมือนกับคนแก่ที่มีร่างกายค้อมไปข้างหน้า หลังงอ หูก็ฝ้า ตาก็ฟาง ผมก็หงอก ฟันก็หัก หนังก็เหี่ยวย่น ทุกสิ่งทุกอย่างในร่างกายที่เห็นว่าเป็นของดีของสดใสมันไม่มีแล้วสำหรับคนแก่ ชีวิตร่างกายของเรามันเป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง ไม่มีอะไรเป็นสรณะ แล้วก็ลืมตามาดูอีกที

ตอนนี้สมเด็จองค์พระชินสีห์ทรงเนรมิตให้ก้านบัวหัก ดอกบัวหล่นป่นปี้ไปหมด เธอเห็นภาพที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตทรงเนรมิตดอกบัวอย่างนั้น ก็มานึกถึงกาย ว่าร่างกายนอกจากจะแก่ไม่ช้ามันก็ตาย เมื่อเธอพิจารณาไปก็คิดว่า ร่างกายไม่มีความหมายสำหรับเรา ดอกบัวที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานเป็นดอกบัวทองคำ เป็นภาชนะที่มีความแข็ง ในไม่ช้ามันก็สลายตัวได้ฉันใด ร่างกายของเราก็มีสภาพฉันนั้น ฉะนั้นเราจะไม่ติดในร่างกายนี้ต่อไป ท่านก็ทำใจเห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา คือไม่สนใจในร่างกาย ร่างกายมันจะเป็นยังไงก็ช่าง เมื่อสภาพมันเป็นอย่างนี้ ทำจิตของท่านนี้จับภาพกสิณกับพิจารณาร่างกายควบกัน ไม่ช้าไม่นานท่านก็ได้สำเร็จอรหัตตผล พร้อมไปด้วยปฏิสัมภิทาญาณ

นี่สำหรับตัวอย่าง ในการเจริญพระกรรมฐานกองใดกองหนึ่ง ก็เป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าทำเป็น สำหรับท่านทั้งหลายชอบสีอะไร สีแดง หรือว่าสีเขียว หรือว่าสีเหลือง หรือว่าสีขาว จะทำกองไหนมันก็มีสภาพเหมือนกัน กสิณไม่มีอะไรยาก เป็นของง่ายๆ เป็นกรรมฐานหยาบ ชอบกองไหน ชอบสีอะไร เพ่งสีนั้น แล้วก็ทำตัวอย่างพระลูกชายนายช่างทอง หลับตาไปก็นึกถึงภาพ สีอะไรนึกถึงสีนั้น มันเป็นชื่อสีนั้น จนกระทั่งสีนั้นทรงตัวไม่ต้องลืมตามาดูใหม่ จะนั่งอยู่ จะยืนอยู่ จะเดินอยู่ จะนอนอยู่ นึกขึ้นมาเมื่อไร เห็นภาพนั้นติดตาทันที อย่างนี้เรียกว่าอุคหนิมิตเบื้องต้น

ถ้าสีนั้นค่อยคลายจากสีเดิม จากเหลือง จากแดง จากเขียว มาเป็นเหลืองอ่อนๆ จนกระทั่งเป็นสีขาว จนกระทั่งเป็นประกายแท่งทึบ เป็นสีขาวแท่งทึบใหญ่ จะบังคับให้อยู่สูงก็ได้ อยู่ต่ำก็ได้ บังคับให้เล็กก็ได้ บังคับให้ใหญ่ก็ได้ อย่างนี้ชื่อว่าถึงอุปจารสมาธิเต็มภาคภูมิ

ถ้าสีนั้นเป็นประกายพฤกษ์ สีกสิณนี่เหมือนกัน จะเป็นกสิณกองไหนก็เหมือนกัน ทำไปแล้วสีต้องเป็นประกายพฤกษ์หมด ถ้าเป็นประกายพฤกษ์แสดงว่าจิตเข้าถึงฌาน ขณะที่เพ่งสี สีกสิณที่เป็นประกายพฤกษ์นั้น ปรากฎว่าไม่รู้ว่าหายใจหรือเปล่า มีสภาพเหมือนไม่หายใจ ใจสว่างโพลง จิตไม่รับสัมผัสภายนอก หูไม่ได้ยินเสียง ยุงจะกินริ้นจะกัดไม่รู้ แต่ความจริงพระเจริญกรรมฐานนี่ยุงไม่กินริ้นไม่กัด ถ้าจิตเป็นฌานนะยุงริ้นไม่ทำ ไม่ทำแน่ ท่านก็ควรจะพิสูจน์ดู และต่อไปเป็นเวลากลางวันกลางคืนก็ตาม ถ้าท่านไปทางไหน จิตของท่านไม่ทิ้งอุปจารสมาธิ หรือปฐมฌาน หรือว่าทุติยฌาน ฌานที่สอง ยุงมันไม่ชอบ ยุงไม่ชอบกัด ยุงมันเกลียดคนใจดี เป็นอันว่าเป็นเครื่องพิสูจน์จิตของตน

ในเมื่อจิตเข้าถึง ทรงจิตจับประกายพฤกษ์สว่างไสว ใจสว่างโพลง แล้วก็มีอารมณ์คล้ายกับไม่รู้สึกว่าหายใจ นั่นคือฌานสี่ ถ้าทรงอยู่ได้อย่างนี้ก็ดี ถ้ามันได้ไม่ถึง นึกถึงสีได้ก็ใช้ได้ แล้วก็ใช้จิตใจพิจารณาในขันธ์ ๕ ตามที่กล่าวมาแล้วในเรื่องของพระช่างทอง เรื่องพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ไม่มีความหมาย กลายเป็นพระอรหันต์ไป แต่ว่าตอนนี้เราพูดกันถึงสกิทาคามี ผมก็พูดไปยังงั้นแหละ พระองค์ไหนที่จะทรงจิตหรือคนใดจะทรงจิตเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ไล่เบี้ยไปตามนี้ไม่มีในประวัติศาสตร์ เป็นแต่เพียงว่าท่านทรงพระโสดาบันแล้ว บางท่านก็เป็นอนาคามีเลย บางท่านก็เป็นอรหันต์ไปเลย แต่ไหนๆ พูดกันถึงพระสกิทาคามี ก็พูดกันสักหน่อย

เวลาที่เราจับกสิณ ๔ กอง กองใดกองหนึ่ง คือสีแดง สีเขียว สีเหลือง สีขาว ถ้าอารมณ์จิตของเราเป็นสมาธิถึงอุปจารสมาธิ กำลังความโกรธมันก็ลด ถ้าจิตเข้าถึงฌานความโกรธมันก็คลานต้วมเตี้ยมๆ ไม่มีกำลัง เพราะฌานมีกำลังใหญ่ ทำลายกำลังความโกรธได้ดี แต่ทว่าไม่สามารถจะฆ่าให้ตาย ฉะนั้นในเมื่อจิตของเราจับฌานในกสิณส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือสมาธิส่วนใดส่วนหนึ่งได้ เราก็ไปจับสักกายทิฐิเข้ามาพิจารณาควบคู่กันไป ขณะที่เพ่งถึงภาพกสิณ จงอย่าใช้สักกายทิฐิเข้ามาควบ มันจะยุ่ง จับกสิณให้มันทรงตัว จะสีตามเดิมก็ตาม สีใดก็ตาม สีประกายพฤกษ์ก็ตาม สำหรับสมาธิได้แค่ไหน พอใจแค่นั้น อย่าทำจิตให้มันวุ่นวาย

ในเมื่อท่านทั้งหลายทรงอารมณ์ได้อย่างนี้แล้ว เมื่อจิตสบายตามปรกติเป็นที่พอใจ คลายอารมณ์มานิดหนึ่ง คิดพิจารณาถึงขันธ์ ๕ กับภาพกสิณ ในเมื่อเราพิจารณาขันธ์ ๕ ภาพกสิณก็หาย จึงเอาขันธ์ ๕ กับกสิณเข้ามาประกอบกัน นั่นก็คือนึกว่าภาพกสิณนี่ เดิมทีเป็นสีแดง (ผมว่าสีเดียวนะ กี่สีก็เหมือนกันพูดเสียเวลา) แต่ต่อมาก็กลายเป็นสีเหลือง เหลืองอ่อนๆ แดงค่อยๆ จางกลายเป็นเหลืองเข้ม เข้มแล้วก็อ่อน อ่อนแล้วก็ขาว ขาวแล้วก็ใส แต่พอเราขยับใจนิดเดียว ภาพกสิณก็หายไป

ภาพกสิณกับร่างกายของเราก็มีสภาพเหมือนกัน ภาพกสิณนี่กลายสีได้ แสดงว่าภาพกสิณนั้นเป็นของไม่เที่ยง ถ้ามันเที่ยงสีมันจะต้องปรากฎตามเดิม เหมือนกับร่างกายของเราที่มันมีความไม่เที่ยง มันทรุด มันโทรม มันเปลี่ยน มันแปลงไปได้ตามปรกติ นี่มาตอนหลังที่เราทิ้งภาพกสิณ ภาพกสิณหายไป เรามาเทียบกับร่างกายของเรา ก็มีสภาพเช่นเดียวกัน เพราะร่างกายของเรานี้ในที่สุดมันก็สลายตัวแบบเดียวกับภาพกสิณ

ฉะนั้นเราจะไปสนใจเรื่องโทสะ ความโกรธ เพื่อประโยชน์อะไร เราโกรธเขามันเป็นปัจจัยของความทุกข์ เพราะอะไร เพราะว่าคนโกรธไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว เราโกรธเขาเพื่ออะไร เพราะทำไม่ชอบใจเรา เราอยากจะฆ่าเขา แล้วถ้าเราไม่ฆ่าเขา เขาจะตายหรือไม่ตาย เขาก็ตาย ถ้าเราอยากจะประทุษร้ายเขา ให้มีความเจ็บช้ำทางกาย เราก็คิดว่าถ้าเราไม่ประทุษร้ายเขา ร่างกายเขาจะโทรมหรือไม่โทรม มันก็โทรม แล้วจะทำร้ายเขาทำไม เป็นอันว่าประโยชน์แห่งความโกรธมันไม่มี

คนโกรธทำลายชีวิตร่างกายของตนเอง ทำลายปัญญาของตนเอง ยิ่งโกรธมากเท่าไหร่ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร่างกายก็ทรุดโทรม จิตใจก็มีความวุ่นวาย มันก็มีแต่ความเร่าร้อน ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า โทสัทธิ ปัสสะ โทสะมันมาเผาผลาญร่างกายให้พินาศไป ใจก็ไม่เป็นสุข กายก็ไม่เป็นสุข โกรธเขาทำไม โกรธเขามันดีตรงไหน คนที่โกรธคนได้ก็คือคนบ้า

ถ้าเราโกรธคนอื่นมาเมื่อไร เรานึกไว้ในใจว่านี่เรามันบ้าพอตัว บ้ามาก ความโกรธมันไม่ได้มีประโยชน์ คนมันตายด้วยกันทั้งหมด ทำไมจะต้องโกรธ คนที่เกิดมาในโลกนี้ก็มีกิเลส คนที่มีกิเลส จิตมันเศร้าหมอง จิตมันมืด มีแต่ความโง่ เพราะเขาโง่ เขาจีงสร้างอารมณ์ที่ไม่ชอบใจให้ใจเราให้เกิด ในเมื่อเขาทำลายความดีของเขา เราทำไมต้องทำลายความดีของเราด้วย เขาอยากจะเลวก็ปล่อยเขาเลวไปแต่คนเดียว เราไม่ยอมเลวด้วย ใครอยากประกาศเป็นศัตรูก็ให้เขาประกาศแต่ผู้เดียว เราไม่ประกาศตนเป็นศัตรูกับเขา ใจเราก็เป็นสุข อันนี้จิตเป็นสุขด้วยอำนาจของกำลังฌาน

ต่อมาจิตจะเป็นสุขใจ เมื่อร่างกายของเราก็ดี ของเขาก็ดี ของสัตว์ทั้งหลายก็ดี วัตถุอื่นใดก็ดี ไม่เป็นที่น่าชื่นชมสำหรับเรา เพราะหนึ่ง มันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ สอง ทรงอยู่ก็ประกอบไปด้วยความทุกข์ สาม ในที่สุดมันก็สลายตัว สภาวะมันเป็นอย่างนี้ ทำไมเรายังจะถือรักในร่างกายของเขา เราจะถือโลภอยากได้ทรัพย์สินของเขา เราจะถือโกรธ ต้องการประหัตประหารเขา แล้วมันมีประโยชน์อะไร เราจะอยู่ไปกี่วัน ไม่ช้าเราก็พลันตาย ดีไม่ดีเราอาจจะตายเดี๋ยวนี้

เพราะฉะนั้น นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ชื่อว่าความโกรธคิดประทุษร้ายจะไม่มีสำหรับเรา ใครเขาจะทำยังไงก็ช่างเขา ใช้คาถาภาวนาไว้บทหนึ่ง ใครเขาชมเราว่าดี เราก็ช่างมัน เจ้านี่จะมาหลอกใช้ ใครเขาว่าเราชั่ว เราก็ถือว่าช่างมัน ถือว่าความดีหรือว่าความชั่ว มันอยู่ที่เราเท่านั้น เราอย่าดิ้นรนจนเกินไป เมื่อเราระงับใจได้อย่างนี้แสดงว่า อารมณ์พระสกิทาคามีของท่านเข้ามาอีกขั้นหนึ่ง คือระงับความโกรธให้มีกำลังน้อย

แต่ทว่าเรื่องราวของการระงับความโกรธนี่ยังไม่หมด จะพูดต่อไปอีกก็คือพรหมวิหาร ๔ แต่ทว่าเวลานี้ ดูเวลามันหมดซะแล้วนี่ท่าน ผมเข้าใจว่าคำอธิบายเพียงเท่านี้ ก็สามารถจะทำให้ท่านทั้งหลายผู้ทรงความดี คนดีน่ะจะจำได้ และก็คนดีจะปฏิบัติได้ ถ้าคนที่ปฏิบัติไม่ได้อย่ามาคุยนะ อย่าคุยให้ผมฟังว่าเป็นคนดี ประเดี๋ยวผมจะหาว่าเลวกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะของแค่นี้ทำกันไม่ได้จะทำอะไรได้

เอาละต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านทั้งหลาย พยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะถึงวาระที่ท่านเห็นว่า สมควรควรจะเลิก สวัสดี

— จบ ตอนที่ ๑๒ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๑ —

 

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ มีทั้งหมด ๑๘ ตอน

ตอนที่ ๑ อานาปานุสสติกรรมฐาน
ตอนที่ ๒ ขณิกสมาธิ
ตอนที่ ๓ อุปจารสมาธิ
ตอนที่ ๔ อารมณ์ของฌาน
ตอนที่ ๕ วิปัสสนาญาณ
ตอนที่ ๖ อารมณ์พระโสดาบัน (๑)
ตอนที่ ๗ อารมณ์พระโสดาบัน (๒)
ตอนที่ ๘ พระสกิทาคามีมรรค
ตอนที่ ๙ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๑
ตอนที่ ๑๐ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๒
ตอนที่ ๑๑ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๓
ตอนที่ ๑๒ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๑

(รออ่านต่อ)
ตอนที่ ๑๓ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๒
ตอนที่ ๑๔ พระสกิทาคามีมรรค-โมหะ
ตอนที่ ๑๕ พระอนาคามีมรรค ๑
ตอนที่ ๑๖ พระอนาคามีมรรค ๒
ตอนที่ ๑๗ พระอรหัตตมรรค
ตอนที่ ๑๘ พระอรหัตตผล (ตอนจบ)

 

ฟังเสียงธรรม-หลวงพ่อฤาษีฯ สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน ๑๘ ตอน

เรื่องนี้ถูกเขียนใน หลวงพ่อสอนอานาปานสติ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร