การเจริญมหาสติปัฏฐาน

การเจริญมหาสติปัฏฐาน โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “แล้วเรื่องมหาสติปัฎฐานสูตร หมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องเจริญอยู่เป็นนิจใช่ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “อ๋อ…ใช่ๆ มหาสติปัฎฐานสูตร หมายความว่าเป็นทางตรงแน่วไปนิพพาน ถ้าเราจะอ่านทั้งหมดมันก็พัง จำไม่ได้ เขาต้องดูจุดสุดท้าย คือ ใช้อารมณ์ตัดจริงๆ เขาใช้อารมณ์ไม่หนัก เบาๆ ถ้าเราไม่เข้าใจก็มาอ่านหนังสือทุกตัว ไปไม่รอด

ในมหาสติปัฎฐานทั้งหมดแหละ ลงท้ายตัวเดียว พอลงท้าย ก่อนจะสอนว่า เธอทั้งหลายจงอย่าสนใจกายในกาย คือกายของเราเอง

คำว่า ไม่สนใจ นี่เวลามีชีวิตอยู่เราสนใจ เราเลี้ยงมัน เรากินยา หาอาหาร มันหนาวมันร้อนเราก็ต้องประคับประคองอีก ถือว่าเป็นของธรรมดา

แต่ไอ้คำว่า ไม่สนใจ ในที่นี้หมายความว่า ถ้ามันสิ้นลมปราณแล้วเมื่อไหร่ เราไม่สนใจมันอีก ถือว่ามันมีโทษ เวลานี้เราถือว่าเรามาเกิด เรามาเกิดเพราะถูกขัง เพราะทำความผิดมา แล้วไอ้ความผิดเช่นนี้ การตัดสินใจผิด มันจะไม่มีข้างหน้า เรายอมรับโทษที่เราหลงผิดมาในกาลก่อนแต่ชาติเดียว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ตัดสินใจแค่นี้ และต้องการพระนิพพาน

ความจริงเขาดูตัวสุดท้าย พระพุทธเจ้าสอนต้องดูตัวลง บางทีท่านเทศน์ชาดก เทศน์เสียยาวเหยียด อ่านเสียหลายวันก็ไม่จบ แต่เนื้อหาจริงๆ ท่านลงท้ายด้วย อริยสัจ ทุกเรื่อง ความมุ่งหมายจริงๆ ของท่าน คือต้องการอริยสัจ

อริยสัจ สัจจะ คือความจริง ความจริงที่ทำให้บุคคลเป็นพระพุทธเจ้า ให้เป็นพระอริยเจ้า ก็ได้แก่ ทุกข์ ร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มันผสมกันเป็นเรือนร่าง ด้วยกำลังของ ตัณหา เป็นผู้สร้างขึ้นมา เพราะอารมณ์ชั่วเดิม คือจิตเราไม่สะอาด จึงต้องมีร่างกายแบบนี้

ทีนี้เรารู้ว่า ชาตินี้เรามีร่างกายนี้มันเป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์ก็จริงแหล่ แต่ให้มันทรงตัวตลอดก็ยังดี แต่มันก็ไม่ทรงตัว มันเคลื่อนไหว มันทรุดตัวลงทุกวัน และในที่สุดมันก็ตาย ถ้าเราต้องการร่างกายประเภทนี้อีก กี่ชาติก็ตามเราก็มีสภาพแบบนี้ เราก็ไม่หมดทุกข์ และไอ้แดนที่หมดทุกข์ มันมีอยู่แดนหนึ่งคือนิพพาน

และการจะไปนิพพาน ไปได้ยังไง ถ้าตัดตัวยอดจริงๆ การจะไปนิพพาน คือไม่ห่วงร่างกายตัวเดียว คือ ตัดสักกายทิฏฐิ มันตัดตัวเดียว

ทีนี้ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ตัดตัวท้ายตัวเดียว คือ ไม่สนใจกับร่างกาย เห็นว่าร่างกายเราก็ไม่ดี ร่างกายของคนอื่นก็ไม่ดี วัตถุธาตุทั้งหมดในโลกก็ไม่มีอะไรดี แต่ว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ เราต้องอาศัยมัน เราต้องประคับประคอง ถ้าร่างกายนี้พังเมื่อไร เราก็ไม่ห่วงกัน เท่านี้ง่ายๆ ไม่ยากนะ”

เห็นทุกข์ตัวเดียว

หลวงพ่อ :- “แต่ไอ้คำว่า ไม่ยาก น่ะมันพูดได้นะ แต่ว่าการจะปลดจะเปลื้องต้องค่อยๆทำ อย่าหักโหม ดูเหตุดูผล เห็นทุกข์เสียตัวเดียวเท่านั้นแหละพอ เห็นทุกข์ จงอย่าเมาในทุกข์ อย่าตกใจในทุกข์ เห็นว่ามันเป็นทุกข์จริง โลกนี้มันเป็นทุกข์

แต่ที่เราอยู่ในโลกนี้ เราจำเป็นจะสนองความต้องการของมัน แต่จิตตัวหนึ่งเราหวังตัดทุกข์ คือไม่ต้องการมันอีก ไอ้ตัวนี้มันทุกข์อยู่แล้วเราไม่กลุ้ม

สมมติว่าเราถูกไปจับขัง เรามีโทษถูกขัง ไอ้โทษประเภทนี้เราถูกขัง เราจะไม่ทำอย่างนี้ต่อไป เราก็จะไม่ถูกขัง เมื่อพ้นมาแล้ว

นี้ก็เหมือนกัน ที่เรามาเกิดได้ เดิมทีเดียวมันมีเหตุ ๔ ประการที่นำให้เรามาเกิด ได้แก่ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม

กิเลส คืออารมณ์ชั่วของจิต ที่เราเศร้าหมองเพราะจิตมันชั่ว มันจึงปรากฏ นี่เป็นมิจฉาทิฎฐิ ไอ้ตัว มิจฉาทิฎฐิ ทำให้เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี ถ้าเราเข้าใจว่าของชั่วเป็นของดี ของดีเป็นของชั่ว ของชั่วเป็นของดี อุปาทาน ก็เลยจับยึดมั่นว่าไอ้ของชั่วที่เราคิดว่าดีน่ะ ทำมันไปตามนั้น เกาะมันว่าดี

ตัณหา ตัวอยาก เมื่อมันเห็นว่าชั่วเป็นดี ดีเป็นชั่ว เราต้องการชั่ว มันก็อยากได้ อยากได้ก็ทำ ทำตามนั้น ตัวยึดมั่นเข้าไว้ พอยึดมั่นแล้วก็ปฏิบัติตาม ปฏิบัติตามเป็นเหตุให้เราเกิด”

พรหมวิหาร ๔

หลวงพ่อ :- “ทีนี้มาชาตินี้ เมื่อเรามีความเข้าใจว่า ไอ้กิเลสเป็นความเศร้าหมอง เป็นความชั่วของจิตว่ามันไม่ดี ก็ควรจะทำจิตให้ผ่องใส จิตผ่องใสตัวแรกที่มีความสำคัญ ถ้าตัวนี้ทรงกำลังใจ มันจะได้ทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นก็คือมี พรหมวิหาร ๔

พรหมวิหาร ๔ นี่ถ้ายืนลงในจิตของใคร คนนั้นลงนรกไม่เป็น ลงไม่ได้แน่นอน เขาไม่ให้ลง ถ้าลงไปเขาขับขึ้นมา ลงไม่ได้ไม่มีสิทธิ์

คือว่าอารมณ์ของเราให้ทราบอยู่ ให้มี เมตตาจิต เราจะไม่เป็นศัตรูกับใครเลยในโลก ทั้งคนและสัตว์เราจะเป็นมิตรที่ดีของเขา แต่ว่าเขาจะเป็นศัตรูกับเราน่ะเป็นเรื่องของเขา เราหวังดีแต่เขาหวังร้าย อย่างนี้เราต้องใช้ อุเบกขา วางเฉยเข้าไว้ ถ้าเราพูดกับเขา เขาโกรธเราก็หยุดพูด เราใช้อุเบกขาตัวท้าย แต่ว่าเราไม่ได้โกรธ

กรุณา ความสงสาร จิตคิดไว้เสมอว่าใครเขาทุกข์ยากลำบาก ถ้าไม่เกินวิสัยของเราที่จะช่วยให้เราพร้อมที่จะช่วย ถ้าเราช่วยได้ด้วยทรัพย์สิน เราจะให้ทรัพย์สิน ทรัพย์สินไม่มี เราจะให้กำลังกาย กำลังกายให้ไม่ได้เราให้ด้วยปัญญา แต่ทั้งนี้ถ้าเขารับความช่วยเหลือจากเรา ถ้าเราให้การช่วยเหลือกับเขา เขาโกรธเรา เราต้องวางเฉย เราไม่โกรธตอบ เราไม่ช่วย เพราะช่วยไม่ได้

ต่อมา มุทิตา ตัวสุดท้าย เราไม่มีจิตคิดอิจฉาริษยาใคร ใครได้ดีเรายินดีด้วย

ถ้าอารมณ์ ๔ ประการนี้ทรงตัวอยู่จริงๆ ศีลก็บริสุทธิ์ ศีลก็ไม่บกพร่องเลย ถ้าเราจะทำสมาธิ สมาธิก็ทรงตัว อารมณ์แจ่มใส ไม่มีมัวหมอง ถ้าสมาธิไม่มัวหมอง ปัญญา คือวิปัสสนาก็เกิด เท่านี้เอง”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หน้า ๕๔-๕๘ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ | ปิดความเห็น บน การเจริญมหาสติปัฏฐาน

อานิสงส์การสวดมนต์

อานิสงส์การสวดมนต์ โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ สวดมนต์แบบในใจ กับ สวดมนต์แบบออกเสียง อานิสงส์เท่ากันไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ไม่เท่าหรอก เพราะมันเหนื่อยไม่เท่ากัน…อานิสงส์ ถ้าแปลตามความหมายแปลว่า ผลที่จะพึงได้รับ ลีลาการสวดมนต์ในใจก็ไม่แน่ สุดแท้แต่คน บางคนนึกในใจ จิตเขาฟุ้งซ่าน ใช่ไหม…บางคนออกเสียงเหนื่อยเกินไป ในใจดีกว่า

ก็รวมความว่า สุดแล้วแต่ ทำอย่างไหนจิตจะมีสมาธิดีกว่ากัน บางคนนึกในใจไม่ได้หรอก จิตฟุ้งซ่าน ต้องว่าออกเสียงดังๆ

ถ้าอย่างหลวงพ่อออกเสียงดังไม่ดี นึกในใจดีกว่า ก็สุดแล้วแต่คนนี่ ผลก็ต้องอยู่ที่ว่าคนใดจิตมีสมาธิดีกว่า และสวดมนต์ได้ดีกว่ากัน ต้องถือตามนั้นนะ

การสวดมนต์มีอานิสงส์ใหญ่ สวดน้อยก็มีอานิสงส์ใหญ่ อานิสงส์ใหญ่จริงๆ อยู่ที่เจตนา จิตมีความเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์จริง และเวลาสวด สวดด้วยความเคารพจริง ถึงสวดน้อยก็มีอานิสงส์ใหญ่ ถ้าสวดว่าเรื่อยเปื่อยไปไม่ได้ตั้งใจ ว่าส่งเดช อย่างนี้ว่ามากก็มีอานิสงส์น้อย

ทีนี้ถ้าจะถามว่า สวดมนต์ กับ ภาวนา อย่างไหนจะมีอานิสงส์มากกว่ากัน?

ถ้า สวดมนต์ อย่างเก่งก็แค่อุปจารสมาธิ ถ้า ภาวนา สั้นๆ จิตเป็นฌานได้ ต่างกัน ทีนี้ถ้าคนภาวนาส่งเดชก็ไม่เป็นเรื่องเหมือนกัน แต่ภาวนาส่งเดชก็ดีกว่าไม่ภาวนาเลย ใช่ไหม…”

ชอบสวดมนต์

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อเจ้าขา คนที่ชอบสวดมนต์ แต่ไม่เคยเจริญพระกรรมฐานเลย แต่อธิษฐานว่า ตายเมื่อไรขอไปนิพพานทันที อย่างนี้เขาจะไปได้หรือเปล่าเจ้าคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้าเขากำลังใจดี เขาไปได้นะ ถ้านั่งสวดมนต์ก็กรรมฐานนี่ สวดมนต์อย่างต่ำเป็นอุปจารสมาธินะ ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิเราสวดไม่ได้ กรรมฐานไม่ใช่ว่าต้องนั่งหลับตาเสมอไป

ที่เขาอธิษฐานจิตว่า ถ้าเขาต้องการไปนิพพานชาตินี้ การสวดมนต์ถือว่าเป็นสมถภาวนาด้วยนะ ถ้าเขาเกิดมีปัญญา คิดว่าการเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ไม่สบายก็ทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็ทุกข์ ความตายก็ทุกข์ ความทุกข์อย่างนี้ไม่ต้องการมีต่อไปอีกในชาติต่อไป อย่างนี้ตายแล้วไปนิพพานได้แน่ ปัญญาถึง”

วิ่งสวดมนต์

ผู้ถาม :- “เวลาประมาณตี ๕ ลูกได้ออกมาวิ่งออกกำลังกาย ในขณะที่วิ่งลูกก็สวดมนต์ไปด้วย ตัดขันธ์ ๕ ไปด้วย มาวันหนึ่งคิดว่า ทำไปทำมา เอ…สติจะเสียหรือเปล่า ชักไม่ไว้ใจตัวเอง”

หลวงพ่อ :- “เขาทำถูกแล้วไม่เสีย นั่นสติดี นั่นดีมากจริงๆ แบบจงกรม เขาวิ่งนี่ฉันเคยใช้นะ ใช้ก็สะดวกดี เมื่อก่อนก็เดิน เดินช้าหน่อย ต่อมาก็เร็ว หนักๆ เข้าในป่าไผ่ ล่อกันครึ่บๆ วิ่ง…วิ่งแบบกวดหมานะ วิ่งกวดวัวแต่หนีหมา

ปรากฏว่ามีท่านผู้เฒ่าท่านหนึ่งย่องแอบไปเห็นเข้า ก็ฟ้องหลวงพ่อปาน “พระ ๓ องค์ วิ่งกันพรึ่บๆ ไม่เป็นพระเป็นเจ้า”

หลวงพ่อปานเลยสวดเอาว่า เขาทำในป่าแล้วเสือกเห็นทำไม…ท่านบอกว่าปากหมา นั่นเขาทำกรรมฐานกัน สังเกตไหม…เขาวิ่งเขาไม่ได้วิ่งส่งเดช เขาวิ่งภาวนาไปด้วย

นี่เหมาะสำหรับพระที่ไปธุดงค์หรือคนเดินป่า เพราะอะไรรู้ไหม…เวลาเสือกวดเรา เราวิ่งหนีเป็นตัวคุมสติให้อยู่ นี่ทำถูกต้องแล้วนะ สังเกตไหม…แค่จงกรมธรรมดา สมาธิยังไม่เสื่อมเลย ต้องถือว่าเก่งมาก น่าจะฝึกอภิญญา”

ผู้ถาม :- “อย่างนี้ฝึกได้จริงๆหรือครับ?”

หลวงพ่อ :- “ฝึกได้ จะได้หรือไม่ได้ไม่รู้ เอางี้ซิ ว่างๆ ก็ตั้งเวลาไว้โก้ๆ สัก ๑ ชั่วโมง นั่งบ้าง นอนบ้าง ภาวนาว่า สัมปจิตฉามิ เป็นอภิญญาตรง”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หน้า ๕๘-๖๑ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน อานิสงส์การสวดมนต์

อานิสงส์การบวชชีพราหมณ์

อานิสงส์การบวชชีพราหมณ์ โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

เรื่องการบวชชีนี้มีบางคนก็รักษาศีล ๘ ห่มผ้าขาว โกนหัว บางคนก็ไม่โกนหัวเพียงแต่นุ่งขาว ห่มขาว รักษาศีล ๘ เหมือนกัน อย่างนี้เป็นที่นิยมกันมากเรียกว่า ชีพราหมณ์ เรื่องนี้จึงมีผู้หญิงคนหนึ่ง กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า

ผู้ถาม :- “ลูกได้บวชชีพราหมณ์มา ๗ ครั้งๆ ละ ๓ วัน พระท่านเทศน์ว่าการบวชชีพราหมณ์จะได้อานิสงส์มาก อยากเรียนถามหลวงพ่อว่า อานิสงส์จะได้สักประมาณเท่าไรเจ้าคะ…?”

หลวงพ่อ :- บวชชีพราหมณ์ บวชชีพุทธ บวชชีเจ๊ก ก็เหมือนกันแหละ มันอยู่ที่เรารักษาศีลบริสุทธิ์ไหม…เขาให้ชื่อว่า บวชชีพราหมณ์ ก็หมายความว่าไม่ต้องโกนหัว ศัพท์นี้ท่านวิริยังค์ท่านตั้งขึ้น ไม่ผิดอะไรหรอก

คือว่าในอันดับแรก เรารักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ รักษาได้ดีขนาดไหน…ถ้ารักษาได้ดี ถือว่าเป็นผู้ทรง สีลานุสสติกรรมฐาน ได้เป็นอันดับหนึ่ง

และประการที่ ๒ ขณะที่บวชชีพราหมณ์ เราสามารถ ระงับนิวรณ์ ไหวไหม…เรากังวลใจมากหรือเปล่า…บางขณะไม่กวนใจเลย ขณะนั้นเป็นปฐมฌาน และหลังจากนั้นมีปีติ มีความเอิบอิ่มก็เป็นทุติยฌาน คือฌาน ๒ ต่อไปถ้าจิตสงัดดีมาก เวลาภาวนาอยู่ได้ยินเสียงภายนอกเบา จิตทรงอารมณ์ดี เวลานั้นเป็นฌานที่ ๓ ต่อไปไม่รู้ลมหายใจเข้าออก จิตโพรงสว่างเป็นฌานที่ ๔ แบบนี้เป็นฌานสมาบัติ

เวลาที่บวชชีพราหมณ์ บวชมาแล้วกี่ครั้งก็ตาม ถ้าจิตสามารถทรงอารมณ์ได้ ๓ ประการ คือ
๑.เห็นว่าร่างกายจะต้องตาย
๒.เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
๓.ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์
และแถมอีกนิดหนึ่ง มีนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้เขาเรียก พระโสดาบัน

ผู้ถาม :- “อย่างนี้ถ้าไม่ไปวัด จะบวชที่บ้านได้ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ได้”

ผู้ถาม :- “ไม่ต้องนุ่งขาว ห่มขาว หรือครับ…?”

หลวงพ่อ :- “นุ่งเขียวได้ ใส่แดงได้ คือว่ามันอยู่ที่การรักษาศีลเป็นอันดับแรกนะ

รักษาศีลก็ได้อานิสงส์ของศีล

๑.สีเลนะ สุคติง ยันติ เรามีศีล ใจเราก็เป็นสุขในปัจจุบัน ตายแล้วเราก็เป็นสุข

๒.สีเลนะ โภคสัมปทา ถ้ามีศีลแล้วทรัพย์มันไม่เปลือง

๓.สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ศีลทำให้อารมณ์สงบ คือดับจากกิเลสชั่วคราวนะ

นี่อานิสงส์ของศีลนะ แล้วมีสมาธิไหมล่ะ…? ถ้ามีสมาธิ ตัดอารมณ์นิวรณ์ได้ ก็มีอานิสงส์สูงขึ้นไป ถ้าเป็นฌานสมาบัติก็เป็นขั้นของพรหม ถ้าหากว่าเรามีจิตนิยมการตัดสังโยชน์ เป็นพระอริยเจ้าเป็นขั้นๆ อยู่วัดก็ได้ ถ้าไปอยู่วัดออกมาด่ามากกว่าเก่าก็ลงนรก”

ผู้ถาม :- “เพิ่ม ๒ เท่าหรือครับ…?”

หลวงพ่อ :- “หลายเท่า มีโยมคนหนึ่งแกไปประชุมพุทธสมาคมที่วัด เสร็จแล้วแกยังไม่กลับ แกบอกว่าเคยเข้ากุฏิกับเขา เขาเข้ากัน ๑ เดือน แกเข้า ๑๓ เดือน กลับออกมาแกบอกว่ากิเลสมากขึ้นกว่าเดิม ถามว่าทำไมล่ะ…แกบอกกลุ้ม

แต่นี่อยู่ที่ใจนะ คือว่าจะบวชที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ ถือการรักษาศีลดีกว่านะ ถ้าที่บ้านรักษาแค่ศีล ๕ ก็พอ เมื่อมีศีล ๕ แล้วก็ทรงสมาธิ สมาธิก็อย่าเคี่ยวเข็ญให้มันมาก เอาแค่จิตสบาย ข้อสำคัญ สังโยชน์ ๓ ละให้ได้”

บวชชีชั่วคราวหรือตลอดดี

ผู้ถาม :- “การที่ลูกถือเนกขัมมะ คือศีล ๘ กับการที่ลูกจะลาจากงานไปบวชตลอดชีวิต จะได้อานิสงส์เท่ากันไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ไม่เท่า เพราะว่าบวชตลอดชีวิตได้เวลามากกว่า ถ้าบวชเฉพาะเวลา เวลามันน้อยกว่า มีเงินไหม…ถ้าลาไปแล้วมีเงินใช้ก็ใช้ได้ แต่ไม่มีอย่าเพิ่งบวช เดี่ยวเดือดร้อน ความจริงการบวชถ้าอยู่บ้านก็บวชได้ ใช่ไหม…เราอยู่บ้านเราก็ถือศีล ๘

เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน วันธรรมดาเรารักษาศีล ๕ วันเสาร์-อาทิตย์เราก็รักษาศีล ๘ แต่ว่าถ้ามีกำลังมั่นคงออกไป ถือตลอดชีวิตก็ดี เพราะว่าคนที่จะรักษาศีล ๘ ได้จริง ต้องมีกำลังใจแท้ ต้องเป็นวิสัยของอนาคามี นิสัยอนาคามีเริ่มเข้ารักษาศีล ๘ จึงรักษาได้ ถ้าอารมณ์ถึงจริงๆ ไอ้ตัวนั้น มันเริ่มมาแล้ว”

แม่ชีเป็นพระอรหันต์

ผู้ถาม :- “ทีนี้ถ้าบวชเป็นแม่ชีแล้วสำเร็จเป็นอรหันต์ จะอยู่ได้กี่วันครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้าเป็นอรหันต์นะไม่เกินพรุ่งนี้ตาย คือว่าชีหรือฆราวาสก็มีสภาพเท่ากันละ เขาไม่ได้ถือว่าเป็นภิกษุณี คำว่า ชี รักษาศีล ๕ บ้าง รักษาศีล ๘ บ้าง ฆราวาสเขาก็รักษาได้ คือว่ามีเวลาปลีกตัวออกจากบ้านไปนุ่งขาวเท่านั้นเอง และสภาวะทุกอย่างก็เหมือนฆราวาส ฉะนั้นจะทรงความเป็นอรหันต์อยู่ไม่ได้ เป็นอรหันต์ก็ต้องนิพพาน”

ผู้ถาม :- “อ๋อ…ก็เหมือนฆราวาส”

หลวงพ่อ :- “ก็เท่ากันนั่นแหละ ทำไมจะต้องไปวิตกกังวล คนที่เป็นอรหันต์จริงๆ ท่านไม่อยากอยู่ต่อไปแม้แต่ ๑ วินาทีนะ ให้มันเป็นจริงๆ เถอะ เพราะว่าอยู่นั้นไม่มีอะไรดีเลย อยู่ก็ขันธ์ ๕ มันรบกวนอยู่ตลอดเวลา ใช่ไหม…

ทีนี้ถ้าหากได้อรหันต์แล้วนิพพานทันทีทันใด ความสุขก็สมบูรณ์แบบ ถ้าอยู่อย่างนี้ต้องใช้สังขารุเปกขาญานระงับตลอดเวลา ไปนิพพานแล้วไม่ต้องระงับไม่ต้องระวัง อย่างนั้นดีกว่ากัน

สำหรับพระนี่กรรมหนัก พระกับเณรมีกรรมหนัก ถ้าเป็นอรหันต์แล้วยังตายไม่ได้น่ะซิ ต้องทรมานสังขารไปอีก ดีนักเมื่อไรล่ะ”

ผู้ถาม :- “ถ้าพระไปนิพพานเลยจะได้ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ไม่ได้ พระนี่ไม่ได้ ถ้านึกนิพพานเลยได้ พระสารีบุตรท่านก็อยู่ไม่นาน เพราะว่าพระสารีบุตรท่านพูดเองว่า “เราอยู่ด้วยความอึดอัด เราอยู่ด้วยความรำคาญ แต่ว่าสังขารเราไม่พัง เราจะอยู่เต็มความสามารถ จนกว่ามันจะพังของมันเอง”

เห็นไหม…ในเมื่อวาระยังมาไม่ถึง พระอรหันต์ไม่ฆ่าตัวตายแน่นอน แต่ว่าจิตท่านเป็นสุขจริง แต่ขันธ์ ๕ มันไม่สุข อย่าลืมนะพระอรหันต์ก็หิวข้าวเป็น ปวดท้องขี้เป็น ปวดท้องเยี่ยวเป็น ป่วยเป็น เป็นทุกอย่าง มันเป็นปกติของมัน แต่ว่าที่อารมณ์ท่านเป็นสุขได้ เพราะจิตท่านทรงอยู่ในสังขารุเปกขาญาน ตัวนี้ที่ทำให้พระอรหันต์เป็นสุข ใจท่านเป็นสุข แต่ขันธ์ ๕ มันไม่สุข”

ผู้ถาม :- “มีความรำคาญไหมครับ พระอรหันต์ตอนป่วย…?”

หลวงพ่อ :- “ก็ไม่ป่วยท่านยังรำคาญเลย ถ้าป่วยทำไมท่านจะไม่รำคาญ แต่ว่าใจท่านไม่ดิ้นรน ถือว่าภาวะของขันธ์ ๕ มันต้องเป็นอย่างนั้น ใช่ไหม…มันจะต้องเป็นอย่างนั้นเราก็รู้แล้ว ถ้าเราไปเสียได้มันก็จะดี การคิดทำลายขันธ์ ๕ ไม่มีสำหรับพระอรหันต์

ถ้ายังมีชีวิตอยู่ ถ้าความสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขแก่ชาวโลกได้ ก็ทำเต็มความสามารถ เท่านั้นเอง ถือว่าสร้างความดีทิ้งทวน แต่ผลความดีจะเพิ่มอีกน่ะไม่มีหรอก ความดีมันก็มีที่สุดแค่พระอรหันต์”

ผู้ถาม :- “เอ…ทำไมไม่เพิ่มครับ?”

หลวงพ่อ :- “น้ำมันล้นตุ่มจ้ะ…ถ้ามันเต็มตุ่มใส่เท่าไรมันก็แค่ปากตุ่มนั่นแหละ ใช่ไหม…ที่ทำไปก็เพื่อเป็นการสงเคราะห์เท่านั้นเอง แต่ก็หวังดีนะ พวกนี้ถ้าสงเคราะห์ได้ ใจท่านก็เป็นสุขนะ ดีใจที่เห็นคนอื่นเขาดี ความพอใจมีเท่านี้ล่ะ

สมมุติได้อรหันต์เดี๋ยวนี้ไปนิพพานเลย เขาจะดีใจมากเพราะอะไร…เพราะมองดูแล้วไม่มีอะไรเป็นสุข การเกิดเป็นคนหาความสุขจริงๆ สัก ๑ วินาทีมันก็ไม่มี ใช่ไหม…ไม่ปวดมันก็เมื่อย ไม่เมื่อยมันก็หิว ไม่หิวมันก็อยาก”

ผู้ถาม :- “มีแต่เรื่องตลอดเวลาเลยครับ”

หลวงพ่อ :- “ใช่ หาอารมณ์ว่างไม่ได้…”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หน้า ๘๒-๘๗ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน อานิสงส์การบวชชีพราหมณ์

อานิสงส์นอนฟังเทปธรรมะ

อานิสงส์นอนฟังเทปธรรมะ โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “ผมอยู่บ้านเปิดเทปธรรมะของหลวงพ่อฟัง แต่เวลาฟังนั้นนอนฟัง อย่างนี้จะเกิดโทษหรือเปล่าครับ…?”

หลวงพ่อ :- “เดี๋ยวก่อนต้องถามก่อน ผมอยู่บ้าน แล้วตัวไปไหน”

ผู้ถาม :- ?…?…?…

หลวงพ่อ :- “ผมเปิดเทปฟังได้เรอะ…”

ผู้ถาม :- (หัวเราะ) “อ้อ…จริงแฮะ คือตัวอยู่ด้วยครับ”

หลวงพ่อ :- “เกิดแน่ มีโทษมหันต์เลย ถ้าฟังเรื่อยๆ ไปจนกระทั่งตาย จะไม่รู้จักนรกเป็นยังไง เลยกลายเป็นคนโง่เง่าเต่าตุ่น นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน จะไม่รู้จักเลย ขาดความฉลาดในเรื่องนี้”

ผู้ถาม :- “ถ้าไม่โง่ลงข้างล่างก็ยอมครับ”

หลวงพ่อ :- “เอาเรอะ?…ชอบโง่เรอะ ใช้ได้ๆ คือว่าฟังเสียงฉัน แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า นั่ง นอน ยืน เดิน เขาไม่ได้ห้าม นอนฟังปล่อยให้หลับไปเลยยิ่งดีใหญ่ ฟังเทปไม่ทันจบก็หลับไป เทปก็ว่าไปตามเรื่องตามราว นั่นแหละจิตเป็นฌาน ถ้าฟังแล้วรำคาญมันจะหลับไม่ได้ ถ้าเกิดความเพลิดเพลิน จิตจะสบายเรื่อยไป พอถึงฌานปั๊บตัดหลับเลย อันนี้มีประโยชน์ใหญ่”

ผู้ถาม :- “แล้วบังเอิญตอนนั้นต้องเข้าห้องส้วม เลยไปฟังต่อในส้วม ตอนนี้จะบาปไหมครับ”

หลวงพ่อ :- “อาจารย์เอาอะไรฟัง…เอาหูฟังหรือเอาทวารฟัง…?”

ผู้ถาม :- “เอาหูครับ”

หลวงพ่อ :- “เอาหูฟังไม่เป็นไร”

ผู้ถาม :- “แหม…ถ้าคนช่างคิดก็คิดจริงๆ นะ เวลาปล่อยอึก็กลัวกลิ่นจะเหม็นออกมารบกวน”

หลวงพ่อ :- “ไม่เป็นไร”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่ออโหสิเลยนะ”

หลวงพ่อ :- “ไม่ใช่อโหสิ การปวดอุจจาระปัสสาวะนี่ไม่มีใครต้องการ แต่มันปวดตามเรื่องตามราวของมันใช่ไหม…แต่ในขณะนั้นจิตยังเป็นกุศลอยู่ พอใจในธรรมะ ยังเป็นบุญอยู่เท่าเดิม

ไอ้เรื่องนี้เมื่อฉันเจริญกรรมฐานใหม่ๆ รุ่นพี่บอกว่า เวลาที่ถ่ายปัสสาวะก็ดี ถ่ายอุจจาระก็ดี อย่าภาวนานะ บาป พอไปถาม หลวงพ่อปาน ท่านบอกว่า “แกไปเชื่อไอ้ควาย ภาวนานี่จิตเป็นกุศล”

ท่านเลยถามว่า “ถ้าเวลาท้องถ่าย แล้วตายเวลานั้น จะว่ายังไง”

พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้าม ใช่ไหม…การภาวนามันอยู่ที่จิต ไอ้ตัวภาวนาไม่ได้อยู่ที่ส้วม ทำได้ตลอดเวลาอย่าให้มันขาด อันนี้ดีมาก ถ้าทางที่ดีก็ควรจะมีสายสะพาย พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่าง ท่านสะพายเวลาท่านจะเดินเล่น ท่านเดินเล่น ๑ ชั่วโมงฟังเทป ๒ หน้า ถ้าจะเดินเล่น ๒ ชั่วโมง ก็ฟัง ๔ หน้า เวลาท่านบรรทมท่านฟังจนหลับ ท่านทำเป็นปกติเลย”

ผู้ถาม :- “ท่านสนพระทัยด้วยหรือครับ…?”

หลวงพ่อ :- “เรื่องนี้หนักมาก เรื่องกรรมฐานนี่นะ อย่าว่าแต่สนพระทัยเฉยๆ ไม่ได้ เข้าฌานออกฌานได้ตามเวลา เก่งมาก ฉันไม่กล้าปะทะกับท่านนะ”

ผู้ถาม :- “เห็นท่านมีภาระยุ่งกับทางโลกหนัก”

หลวงพ่อ :- “อันนี้แหละ เราจะเห็นว่าท่านน่ะมีเวลาน้อยนะ และความเข้าใจในธรรมะนี่ลึกซึ้งมากเหลือเกิน ละเอียดลออมาก ฉันนึกสงสัยเหมือนกันว่า ท่านเอาเวลาไหนไปวิจัยธรรมะ

เพราะวันทั้งวันท่านเกือบไม่มีเวลาว่าง ถึงเวลา ๒ ยาม ท่านจะทรงเซ็นหนังสือ ถ้าไม่มีแขกนะ บางทีก็มีงานเลี้ยงจนถึงตี ๑ ถึงตี ๑ ท่านก็เริ่มเซ็นหนังสือ ถึงตี ๒ ท่านก็เริ่มฟังเทปแล้ว ท่านทำกรรมฐานหรือฟังเทปตอนตี ๒ เวลาแน่นอนของท่าน”

หลวงพ่อ :- “ฉันเคยเทศน์มาตั้งเยอะ คำถามด้านธรรมะไม่ละเอียดเหมือนพระเจ้าอยู่หัว รู้สึกว่าต้องระวังมากเวลาคุยกับท่านด้านธรรมะ ต้องระวังหนักจริงๆ และต้องฟังทุกคำไม่พลาด บางทีก็ถามยาว ก็ต้องพยายามฟังทุกคำ เรื่องธรรมะนี่พลาดหน่อยเราเจ๊งเลย บางทีถามเรื่องเดียว ๓ รอบก็มี แล้วสำนวนจะไม่ซ้ำกันเลย สำนวนนี่สำคัญมาก ต้องฟังทุกคำ”

ผู้ถาม :- “เคยฟังเทปตอนหนึ่งที่หลวงพ่อบันทึกถวายในเรื่อง บารมี ๑๐ ที่พระองค์ทรงถามเรื่อง จาคะ”

หลวงพ่อ :- “ท่านถามว่า จาคะตัวเดียวไปนิพพานได้ไหม…ชักอึ้งเลยเรา เราไม่เคยเจอะตำราเลย ก็ต้องนั่งนึก เข้าเครื่องเตรียมบันทึกเทปแล้ว แต่ยังไม่เปิดสวิทซ์ไฟ ก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่า คำว่า จาคะ แปลว่า เสียสละ ถ้าเสียสละแสดงว่ายังขี้ตืดอยู่มาก”

ผู้ถาม :- “เป็นยังไงครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ขี้เหนียวน่ะ ดึงไม่ค่อยออก ต้องตัดสินใจอย่างหนัก ถ้าให้ต้องให้ในเกณฑ์ของบารมีต้น

ถ้า บารมีต้น เขาจะให้แบบเสียสละ ต้องดึงใจหน่อย “เอ้า ให้มันหน่อย” แต่ความจริงเสียดายนิดๆ

ถ้าหากว่า อุปบารมี ความเข้มข้นมันขึ้นมาแล้ว ก็ใช้คำว่า “สละ” ตัดตัว “เสีย” ออก สละเพื่อตัดโลภะในจิตของเราออก

ถ้าเป็น ปรมัตถบารมี ก็ละเลย ตัดตัว “ส” ออก เหลือ “ละ” คือเราไม่ติดในวัตถุทั้งหลาย ตายแล้วเราเอาไปไม่ได้ ไม่ติดในร่างกายเราด้วย ไม่ติดในร่างกายคนอื่นด้วย ไม่ติดในวัตถุธาตุทั้งหลายด้วย

ในมหาสติปัฏฐานสูตรท่านจะลงท้ายไว้ว่า
จงอย่าสนใจกายภายใน คือกายของเรา
จงอย่าสนใจกายภายนอก คือกายคนอื่น
จงอย่าสนใจในวัตถุธาตุใดๆ ทั้งหมด

นี่ทุกข้อในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านสอนถึงนิพพานหมด ถ้าเป็นปรมัตถบารมีก็ละได้ ถ้าถึงละเฉยๆ ก็ถึงนิพพานได้ ที่ท่านถามมานี่นักเทศน์ไม่เคยถาม เคยเจอะไหม…อาจารย์?”

ผู้ถาม :- “ไม่เคยเลยครับ พอฟังเทปยังสะดุ้งเลยครับ คิดว่าที่เราสอนคงโมเมโมมะ…”

หลวงพ่อ :- “โมเม…โมมะ…ก็ไม่แน่นะ…”

ผู้ถาม :- “เป็นยังไงครับ”

หลวงพ่อ :- “มองดูกันฑ์เทศน์ เขาติดเท่าไหร่หว่า อ้อ…ยายคนนี้ติดมากเทศน์ยาวหน่อย ติดน้อยเทศน์สั้นนิดหนึ่ง อย่างนั้นเขาเรียกว่า คนฟังไปสวรรค์ คนเทศน์ไปนรก”

ผู้ถาม :- “อ้าวทำไมยังงั้นล่ะครับ”

หลวงพ่อ :- “คือเกิดโลภะ เทศน์แลกสตางค์ไงล่ะ”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หน้า ๕๐-๕๔ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน อานิสงส์นอนฟังเทปธรรมะ

เรื่องกฎของกรรม

เรื่องกฎของกรรม โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

เรื่องตัดกรรม

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อ ตัดกรรมได้ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ตัดกรรมนี่มันตัดไม่ได้หรอก กรรมที่เป็นกุศลก็ตัดไม่ได้ กรรมที่เป็นอกุศลก็ตัดไม่ได้ นี่พูดตามพระพุทธเจ้านะ

แต่ว่าที่เราทำดีนี่ คือสร้างกรรมดีที่เป็นกุศลมากขึ้น หนีกรรมที่เป็นอกุศล คือกรรมที่เป็นอกุศลมันมีอยู่ แต่เราสร้างกรรมดีที่เป็นกุศล กรรมที่เป็นอกุศลก็ตามช้าลง เราฝึกวิ่งหนีให้มันเร็วเข้า ใช่ไหม…”

ผู้ถาม :- “อย่างนี้ก็ไม่มีทางหมดบาปน่ะซิคะ…?”

หลวงพ่อ :- “การจะทำให้หมดบาปน่ะไม่มีทางหรอก ในทางพระพุทธศาสนามีอยู่ทางเดียวคือ ทำบุญหนีบาป ใช้กำลังบุญให้สูงขึ้น ความชั่วที่มันเป็นบาปกรรมอยู่มันก็ตามทันยากหน่อย ใช่ไหม…

แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันก็สบาย ตัดกรรมจริงๆ แต่ว่าเศษของกรรมยังมีอยู่บ้าง แต่กรรมก็ไม่สามารถจะดึงให้เราลงนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานได้

แต่ถ้ามาเป็นมนุษย์ ถ้าเรามีโทษปาณาติบาต มันก็ทำให้เราป่วยบ้าง
ถ้ามีโทษอทินนาทานอยู่ ก็ทำให้ของหาย ไฟไหม้ ขโมยลัก น้ำท่วม ลมพัด
ถ้าเราเคยมีโทษกาเมสุมิจฉาจาร คนใต้บังคับบัญชาเราก็หัวดื้อ ไม่เชื่อฟัง
ถ้าเราเคยมีโทษมุสาวาท พูดโกหกเขา เราพูดอะไรก็ไม่มีใครเชื่อ
ถ้ากินเหล้าเมายามาก่อน ก็เป็นโรคประสาทบ้าง เป็นคนบ้าบ้าง มันก็แค่นี้

แต่ว่าถ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว มันไม่ถึงบ้าแค่มึนๆ ไปหน่อย นี่เป็นโทษจากเศษของกรรม”

ผู้ถาม :- “ถ้าสร้างพระพุทธรูปปางนิพพาน จะหนีกรรมได้ไหมคะ”

หลวงพ่อ :- “หนีกรรมได้ เป็นการสร้างกำลังความดีให้สูงเข้าไว้”

ผู้ถาม :- “ยังงั้นเราก็สร้างพระมากๆ ซิคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ประเดี๋ยววัดไม่มีที่เก็บอีก มีกรรมอีก ต้องไปสร้างตึกให้พระอยู่อีก เอาไหม…?”

ผู้ถาม :- (หัวเราะ)

หลวงพ่อ :- “สร้างพระมากๆ เป็นพุทธบูชา เป็นพุทธานุสติไม่ดีเรอะ…ในกรรมฐาน ๔๐ กอง ท่านบอกว่า กำลังพุทธานุสตินี่เป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพานได้ง่ายที่สุด ง่ายกว่ากองอื่นที่สุด และรวดเร็วกว่าอย่างอื่น”

อ่านเพิ่มเติม

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ | ปิดความเห็น บน เรื่องกฎของกรรม

ปัญหาเครื่องรางของขลังและพระบรมสารีริกธาตุ

ปัญหาเครื่องรางของขลังและพระบรมสารีริกธาตุ
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ปัญหาเรื่องนี้ได้นำคำตอบของหลวงพ่อ มาเพื่อความกระจ่างของความหมายที่อยู่ในความรู้สึกของท่านพุทธศาสนิกชนบางท่าน ที่ยังเข้าใจไม่ครบถ้วน ในความหมายของคำว่า เครื่องรางของขลัง ซึ่งในปัจจุบันนี้บางท่านมีความเข้าใจไปว่า พระที่ชอบแจกเครื่องรางของขลังจะทำให้คนติดอยู่ในวัตถุว่าหลงใหลงมงาย ปัญหานี้โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา นำมาถามกันอยู่เสมอ ซึ่งหลวงพ่อท่านได้กรุณาอธิบายว่า

“ความมุ่งหมายในการใช้พระคล้องคอ โดยมากพวกเรามักจะเข้าใจผิดกัน ที่พระท่านทำพระไว้ให้คล้องคอ ก็หมายถึงว่า บุคคลใดที่มีใจเคารพในพระพุทธเจ้า มีใจเคารพในพระธรรม มีใจเคารพในพระอริยสงฆ์ แต่ทว่ามีกำลังใจที่เข้าถึงพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ ยังอ่อนอยู่

ฉะนั้นจึงได้ทำรูปเปรียบของพระพุทธเจ้าก็ดี รูปเปรียบของพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งก็ดี ที่เป็นที่เคารพนบถือห้อยคอไว้ ถ้าหากว่าเรานึกถึงพระท่านไม่ออก จะได้นำพระขึ้นมาดู รูปนี้เป็นรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแนะนำให้เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามระบอบแห่งความดีที่เรียกกันว่า พระธรรมวินัย

นี่เป็นความจริง เป็นความมุ่งหมายของผู้ทำ ต้องการอย่างนี้ หมายความว่า คนที่มีพระห้อยคอ ก็ควรจะทำใจอย่างพระ หรือมิฉะนั้นคนที่มีพระห้อยคอ ก็ควรจะทำตามที่พระแนะนำ ให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่ว่าพวกเราก็กลับมาพลิกแพลงเสีย เอาพระไปตีกับชาวบ้านเขา ไปยุให้พระตีกัน

พระที่นำมาห้อยคอนี่ พระท่านทำขึ้นมา ก็ด้วยอาศัยอำนาจของพระพุทธานุภาพนะ อำนาจของพระพุทธานุภาพนี่ สามารถที่จะช่วยคนที่ไม่ถึงอายุขัย ให้พ้นจากอันตรายได้

ที่เรียกว่า พระเครื่อง อันนี้ใช้ได้ แต่ถ้าหากจะเรียก เครื่องรางของขลัง อันนี้ใช้ไม่ได้ พระทุกองค์ท่านทำมาไม่ใช่ของขลัง ท่านทำมาด้วยวิชาที่เขาเรียกว่า พุทธศาสตร์ ไม่ใช่ ไสยศาสตร์

พุทธศาสตร์ กับ ไสยศาสตร์ มีค่าต่างกัน
พวก ของขลัง นี่เป็น ไสยศาสตร์ เขาทำมาเพื่อทำลาย
สำหรับ พุทธศาสตร์ เขาทำมาเพื่อการสงเคราะห์ เพื่อให้บุคคลที่มีพระประเภทนี้ไว้ ถ้ามีจิตใจเคารพในคุณพระรัตนตรัย ถ้าไม่ถึงอายุขัย ถ้าอันตรายของชีวิตถึงจะเกิดขึ้น ก็สามารถปลอดภัยจากอันตรายนั้นได้”

(ต่อไปนี้เป็นคำตอบปัญหาของหลวงพ่อในเรื่องนี้)

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ อ่านประวัติหลวงพ่อปานแล้วมีความรู้สึกว่า ถ้าเรามีวัตถุมงคลที่มีพลังสูง เช่น ยันต์เกราะเพชร ก็ดีนะคะ ตอนที่ลาวปล่อยของมาแล้ว ของอื่นแตกหมด แต่ยันต์เกราะเพชรนี้อยู่ ไม่เป็นไร ทำให้นึกอยากได้ของที่แจ๋วๆ อย่างนั้นค่ะ”

หลวงพ่อ :- “จะเอาเพชรสีอะไรล่ะ สีน้ำมันก๊าด? จะไปยากอะไร

ยันต์เกราะเพชร บทเสกกับบทเขียนก็มี พระพุทธคุณ คือ อิติปิโส บทต้น แล้วก็ทุกวันต้องบูชาด้วย อิติปิโส ๑ จบ

มีพระองค์ไหนก็เหมือนกัน หรือมีพระคล้องคอ เวลาสวด อิติปิโส ก็นึกถึงบารมีของพระพุทธเจ้า ห้องที่สองนึกถึงบารมีพระธรรม ห้องที่สามนึกถึงบารมีพระอรหันต์ทั้งหลาย

พวกบูชายันต์เกราะเพชร ก็ต้องใช้บทนี้เป็นประจำ ถ้าไม่ใช้ประจำ ฉันก็ไม่แน่ใจว่าจะคุ้มครองได้นะ”

ผู้ถาม :- “ก็แสดงว่ายังมีวัตถุมงคลที่มีพลังสูงจริง”

หลวงพ่อ :- “มันอยู่ที่เราด้วย ทำมาให้ดีแล้ว เราดีเท่าของหรือเปล่า ถ้าเรามีความเข้มแข็ง แล้วเราก็ดีเท่าของ อย่างเขาเอารถยนต์มาให้เรา เราใช้ไม่เป็น รถยนต์ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยใช่ไหม…เขาให้มาแล้ว เราก็ใช้ให้ถูกทางด้วย ก่อนที่จะใช้ก็ต้องหาน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเผาอะไรพวกนี้ใช่ไหม…

ก็เหมือนกัน เมื่อได้พระมาแล้ว นึกน้อมความดีของพระ นึกถึงความดีของพระ ไม่มีอะไรมาก อิติปิโส บทเดียวพอ ทุกๆ วัน ตอนเช้าตื่นขึ้นมานึกถึงบารมี นึกถึงพระที่เรามีอยู่”

ผู้ถาม :- “บางคนห้อยพระราคาเป็นแสนก็ตาย”

หลวงพ่อ :- “ถ้าถึงวาระก็ต้องตาย ความจริงที่ให้มีพระคล้องคอ ท่านมีความหมาย ให้ทำใจเป็นพระ ว่าเราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงสอนในหลักใหญ่ ๓ ประการ

๑.สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง พวกเธอทั้งหลาย จงอย่าทำความชั่วทุกอย่าง
๒.กุสะลัสสูปะสัมปะทา จะสร้างแต่ความดี
๓.สะจิตตะปริโยทะปะนัง จงทำจิตให้ผ่องใสจากกิเลส

แล้วก็ลงท้ายว่า
เอตัง พุทธานะสาสะนัง เราขอยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทุกองค์ สอนอย่างนี้เหมือนกันหมด

นี่ท่านต้องการทำจิตให้เป็นพระ ไม่ใช่เอาพระไปตีกับชาวบ้าน บางทีพาพระไปขโมยเขาเสียอีก พระขโมยของตั้งแต่ ๑ บาทขึ้นไป ศีลขาดหมดแล้ว พาพระไปกินเหล้าเป็นปาจิตตีย์ พาพระไปเล่นการพนัน พระก็ถูกสึก ไมไหว ใช่ไหมคุณ”

(และปัญหาข้อสุดท้ายเรื่อง พระบรมสารีริกธาตุ)

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อครับ กระผมมี พระธาตุ อยู่องค์หนึ่ง เราจะมีวิธีดูยังไงครับ จึงจะรู้ว่าเป็นของพระองค์จริง…?”

หลวงพ่อ: “ฉันไม่ดูเลย ฉันคิดว่าจะบูชาอะไรก็ตาม ถ้าใจเรานึกถึงพระพุทธเจ้าก็ใช้ได้หมด จะมัวไปนั่งติดธาตุอยู่ทำไม เราหาองค์ท่านไม่ดีรึ ใช่ไหม…เรามีพระบรมสารีริกธาตุอยู่ แต่ไม่นึกถึงท่านเลย จะเกิดประโยชน์อะไร

ประโยชน์จริงๆ ก็คือว่า ถ้าเราเคารพพระพุทธเจ้าเพียงใด นั่นผลจึงจะเกิด ถ้าเรามีอยู่ เราไม่เคารพ ก็ไม่มีความหมาย ดีไม่ดีจะเกิดเป็น การปรามาส เข้าอีก จะซวยใหญ่ ใช่ไหม…ว่าตรงไปตรงมานะ

แต่ว่าถ้าเรามีอยู่จริง เราเคารพจริง ก็เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวดีเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่ดี เอาอย่างนี้ดีกว่า จริงหรือไม่จริงเราก็ไหว้ เรานึกถึงพระพุทธเจ้าก็หมดเรื่อง ยังไงๆ ก็ถึงพระพุทธเจ้าแน่”

ผู้ถาม :- “ถ้าหากว่าบ้านมี ๒ ชั้น แล้วเอาพระพุทธรูปไว้ข้างล่าง ถ้ามีคนเดินผ่านชั้นบนจะเป็นไรไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราไม่ได้ตั้งใจปรามาส ก่อนขึ้นก็ไหว้ ขอขมาอภัยท่าน”

ผู้ถาม :- “แต่ถ้าหากเป็นพระธาตุนี่เอาไว้ชั้นล่าง ไม่ได้ใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “มันก็ครือกัน แล้วแต่ถ้าหากว่าไม่มีความจำเป็นอะไร ก็เอาไว้ชั้นบนก็ดี ใจจะได้สบาย พระพุทธรูปก็เหมือนกัน แต่ถ้าจำเป็นกรณีพิเศษ เราเดินขึ้นไปโดยไม่มีใจปรามาสก็ไม่เป็นไรนะ”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๑๑๑-๑๑๕ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน ปัญหาเครื่องรางของขลังและพระบรมสารีริกธาตุ