ธรรมโอวาทเพื่อพระนิพพาน
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง)
ธรรมะและโอวาท ของพระเดชพระคุณ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) นั้นมีมากมาย ศูนย์พุทธศรัทธาได้คัดเลือกธรรมะสั้นๆ ของหลวงพ่อฯท่าน ที่มีนัยยะสำคัญนับเนื่องแต่เบื้องต้นจนถึงพระนิพพาน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ต่อไป
ธรรมโอวาทเพื่อพระนิพพาน
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
จัดทำโดย
ศูนย์พุทธศรัทธา
คำนำ
ธรรมะและโอวาทของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) นั้นมีมากมาย ศูนย์พุทธศรัทธาได้คัดเลือกธรรมะสั้นๆ ของหลวงพ่อฯท่าน ที่มีนัยยะสำคัญนับเนื่องแต่เบื้องต้นจนถึงพระนิพพาน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
ปัญญาทางธรรม เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของคนเรา ที่ต้องศึกษาและปฏิบัติ เพื่อให้รู้จักเรื่องราวของชีวิตตามความเป็นจริง ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ อริยสัจ ๔ อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งธรรมโอวาทเพื่อพระนิพพาน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ฉบับนี้ ได้รวบรวมไว้ครบถ้วน
ศูนย์พุทธศรัทธาขอน้อมถวายกุศลจากธรรมทานนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชา และบูชาพระคุณ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ขอให้ทุกท่านที่ได้อ่านได้ศึกษาและปฏิบัติ ได้เข้าถึงซึ่งอมตธรรมคือแดนพระนิพพาน ในชาติปัจจุบันนี้ เทอญ.
พ่อสอนลูก
๑.ขอลูกรักจงรักษากายไว้ด้วยดี อย่าเอากายไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม และจงรักษาวาจาไว้ให้ดี อย่าพูดปดมดเท็จที่ไม่ตรงความจริง อย่าพูดคำหยาบหรือด่าคนอื่น อย่าใช้วาจาเป็นเครื่องทำลายความสามัคคี คือ ยุให้คนแตกร้าวกัน อย่าใช้วาจาเหลวไหลไร้ประโยชน์
ด้านใจจงรักษาใจไว้ด้วยดี คือ ไม่อยากได้ของๆใครที่เขาไม่เต็มใจให้ ไม่โกรธแค้นอาฆาตพยาบาทใคร ไม่เมาใจจนเห็นผิด คิดว่าตัวเป็นคนประเสริฐ อารมณ์เท่านี้เป็นพื้นฐานที่จะให้เข้าถึงพระนิพพาน เมื่อรักษากายใจได้ดังนี้แล้ว ต่อไปใจจะสะอาดขึ้นทีละน้อย จนไม่ต้องระวังทั้งกาย วาจา ใจ จะทรงไว้แต่ความดีอย่างเดียว ในที่สุดก็ถึงนิพพาน
๒.ลูกรักทั้งหลาย จงจำไว้ว่า ท่านกับเรามีสภาวะเหมือนกัน คือ มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนไปในท่ามกลาง และก็มีการสลายตัวไปในที่สุด ท่านกับเราก็เสมอกัน เสมอกันโดยไตรลักษณ์ คือ อนิจจังหาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง เมื่อมีความเป็นอยู่ต้องทำมาหากินทางอาชีพ ทำการงานเลี้ยงชีพ สุขบ้างทุกข์บ้าง ไปตามสภาพของคนที่มีชีวิต ในที่สุดชีวิตก็สลายตัวไป
จงจำไว้อย่ายึดมั่นถือมั่นในร่างกายจนเกินไป อย่ายึดถือในทรัพย์สินมากเกินไป จงจำไว้ว่า เราจะต้องตาย ถ้าเรายังไม่ดีพอ ตายแล้วเราก็ต้องเกิดอีก เกิดแล้วเราก็มีทุกข์ เกิดเป็นคนมีทุกข์อย่างคน เกิดเป็นสัตว์มีทุกข์อย่างสัตว์ เกิดเป็นอสุรกายเป็นทุกข์อย่างอสุรกาย เกิดเป็นเปรตเป็นทุกข์อย่างเปรต เกิดเป็นสัตว์นรกเป็นทุกข์อย่างสัตว์นรก เกิดเป็นเทวดาสุขอย่างเทวดา เกิดเป็นพรหมสุขอย่างพรหม แต่สุขไม่นาน ผลที่สุดก็ละความสุขนั้นมาหาความทุกข์ สู้ไปพระนิพพานไม่ได้ นิพพานมีความสุขที่เป็นเอกันตบรมสุข เป็นความสุขที่ยอดเยี่ยม
พิจารณาตน
๑.ถ้าบุคคลใดไม่สนใจจริยาของบุคคลอื่น ไม่เพ่งเล็งบุคคลอื่น ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่มีความประมาท มีจริยาดี มีความสงบใคร่ครวญเฉพาะความประพฤติของตัว อย่างนี้ชื่อว่าเข้าถึงสะเก็ดความดีที่ตถาคตสอน
แล้วบุคคลใดไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้คนอื่นทำลายศีล ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว สามารถระงับนิวรณ์ ๕ ได้ตามต้องการ จิตทรงฌาน มีอารมณ์ทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ ชื่อว่าเป็นผู้ทรงฌานโลกีย์ อย่างนี้ถือว่าเข้าถึงเปลือกความดีที่พระองค์ทรงสอน
ถ้าบุคคลใดทำความดีดังนี้ตามลำดับมา ครบถ้วนทรงตัว สามารถทำจิตให้ระลึกชาติได้โดยไม่จำกัด อย่างนี้เข้าถึงกระพี้ความดีที่พระองค์สอน
ถ้าบุคคลใดทำจุตูปปาตญาณให้เกิดขึ้น เห็นคนและสัตว์รู้ได้ทันทีว่าคนและสัตว์นี้ก่อนเกิดมาจากไหน คนตายแล้วไปอยู่ไหน อย่างนี้ถือว่าเข้าถึงแก่นความดีที่พระองค์สอน แต่เป็นแก่นขั้นฌานโลกีย์
ต่อไปทบทวนความดีนี้ให้ทรงตัว ทำวิปัสสนาญาณ ถ้ามีบารมีแก่กล้าจะตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทประหานได้ภายใน ๗ วัน ถ้าบารมีอย่างกลางจะตัดกิเลสได้หมดภายใน ๗ เดือน ถ้าบารมีอย่างอ่อนจะตัดได้หมดภายใน ๗ ปี
๒.ดีหรือชั่วมันอยู่ที่การควบคุมกำลังใจ ถ้าใจของเราบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียอย่างเดียว ใครจะว่าดีหรือชั่วไม่มีความสำคัญ เขาจะประนามว่าเลว มันก็เลวไม่ได้ มันก็ต้องดีอยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตของเราชั่ว เขาจะสรรเสริญว่าดี มันก็ดีไม่ได้เหมือนกัน นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รักษากำลังใจเป็นสำคัญ ควบคุมกำลังใจให้ดีไว้ แล้วมันดีเอง ไม่ต้องไปฟังคำชาวบ้านเขา การที่เราดีเพราะรอให้ชาวบ้านเขาสรรเสริญ นั่นมันป็นอารมณ์ของความชั่ว
ศีล
๑.ท่านพร่องในศีล ด้วยเจตนาเพียงนิดเดียว ท่านไม่มีหวังที่จะทรงสมาธิเพื่อฌานสมาบัติได้เลย เพราะเพียงศีลมีการรักษาแบบหยาบๆ ท่านยังรักษาไม่ได้ ท่านจะเป็นผู้ทรงสมาธิที่มีอารมณ์ละเอียดกว่านี้ได้อย่างไร ผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานมาเป็นเวลาหลายสิบปี ที่ไม่ได้สำเร็จผลใดๆ แม้แต่ฌานโลกีย์ก็ไม่ได้ ก็เพราะพร่องในศีลเป็นสำคัญ
๒.ศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ จะเป็นข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม ถ้าเราละเมิดนั้นก็หมายความว่า เราเปิดช่องของอบายภูมิ หรือเปิดทางเดินไปสู่อบายภูมิ มีเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน การเจริญกรรมฐานของพุทธบริษัทก็ไม่มีผล
เพราะฉะนั้น ญาติโยมพุทธศาสนิกชนที่คิดว่า จะเจริญพระกรรมฐานให้มีผลวันนี้และตลอดไปในชีวิต จงตั้งจิตคิดว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป เราจะเป็นผู้ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์ตลอดชีวิต บางวันข้างหน้าอาจจะเผลอไปบ้างก็เป็นของธรรมดา ถ้าบังเอิญรู้ตัวว่าเผลอไป เราก็ยับยั้งมันเสีย และตั้งใจว่าต่อไปเราจะไม่ทำผิดอีก และจงเข้าใจว่า ศีล ๕ ประการนี้ ถ้าจะขาดได้ ก็ต้องอาศัยความตั้งใจทำ อย่างปาณาติบาตสัตว์เล็กๆ เราเดินๆไปเราไม่เห็นบังเอิญเหยียบตาย อันนี้ศีลไม่ขาด หรือสัตว์เล็กๆ มียุงเป็นต้น มาเกาะกินเลือดของเรา ถ้าไม่คิดจะฆ่ามัน แต่มันเกาะนานเกินไป เราจะเอามือลูบให้มันหนีไป บังเอิญมันหนีไม่ทัน ถูกมันตาย อันนี้เราไม่บาป ศีลไม่ขาดเพราะเราไม่มีเจตนาจะฆ่า
พรหมวิหาร ๔
๑.ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน พยายามทรงอารมณ์จิตให้อยู่ในพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ คิดว่าเราจะมีความรักในคนอื่นและสัตว์อื่นนอกจากตัวเรา เสมอด้วยตัวเรา เราจะมีความสงสาร เกื้อกูลเขาให้เป็นสุข ตามกำลังที่เราพึงจะทำได้ เราไม่มีอารมณ์อิจฉาริษยาบุคคลอื่น เห็นใครได้ดีก็พลอยยินดีตาม ถ้าสิ่งใดเป็นเหตุเกินวิสัยด้วยอำนาจกฎของกรรมหรือกฎของธรรมดาเกิดขึ้น เราจะไม่มีความหวั่นไหวในจิต นี่อารมณ์อย่างนี้ ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททรงไว้ดี ก็จัดว่าเป็นศูนย์รวมกำลังใจที่มีความสำคัญที่สุด อันจะพึงก้าวเข้าไปสู่ความดี
๒.ถ้าจิตของเราทรงอยู่ในพรหมวิหาร ๔ แล้ว มีอะไรบ้างที่มันจะเกิดขึ้น นั่นก็คือ ศีลบริสุทธิ์ ไม่ต้องระมัดระวังศีล ความเป็นผู้มีเหตุมีผล มีความเคารพในองค์สมเด็จพระทศพลก็มีพร้อมบริบูรณ์ เพราะอะไร เพราะคนที่ทรงศีลบริสุทธิ์ ก็แสดงว่ามีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์
เพราะว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทรงแนะนำให้จิตอยู่ในขอบเขตนี้ เรามีความเคารพในองค์สมเด็จพระชินสีห์ เป็นต้น เราจึงมีศีลบริสุทธิ์ เราจึงรู้จักอายความชั่ว เกรงกลัวความชั่ว จึงได้มีการประกอบความดี คือ จิตทรงพรหมวิหาร ๔ มีหิริและโอตัปปะ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ อยู่ที่ไหนก็มีแต่ความเยือกเย็น มีแต่ความเป็นสุข เราก็เป็นสุข บุคคลอื่นก็เป็นสุข เพราะกายไม่เสียปากไม่เสีย ทั้งนี้เพราะว่าใจไม่เสีย ถ้ากายเสีย ปากเสีย ก็แสดงว่าใจมันเสีย เสียมากจนล้นมาถึงกาย ถึงวาจา นี่เป็นอันว่าถ้าทรงคุณธรรมอย่างนี้ได้ ความเป็นพระโสดาบันย่อมปรากฏ
สมาธิ
๑.เวลาปฏิบัติ เวลาเริ่มทำสมาธิ ตัดกังวลเสียก่อน สิ่งใดที่จะห่วงใย ยกเลิกทิ้งไป ประเดี๋ยวเดียวมันไม่ตายหรอก และก็ตัดสินใจว่าเราจะต้องปฏิบัติให้มีผลตามคำแนะนำของครู ไม่ห่วงแม้แต่ร่างกาย
ทุกคนเมื่อตัดกังวล ไม่ห่วงแม้แต่ร่างกายได้แล้ว ก็ตั้งใจสมาทานศีล เรื่องศีลที่จริงไม่ใช่จะมีเฉพาะเวลาปฏิบัติ ศีลนี่เป็นเครื่องค้ำจุนฌานสมาบัติ สมาธิหรือฌานจะมีขึ้นมาได้ก็เพราะศีล ถ้าศีลบกพร่อง ฌานก็บกพร่องด้วย ถ้าศีลสมบูรณ์แบบ สมาธิหรือฌานจึงจะสมบูรณ์แบบ เรื่องนิวรณ์ ๕ ประการอย่านึกถึงมันเลย
นอกจากนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์ ให้ทุกคนคุมอารมณ์ให้ดีในพรหมวิหาร ๔ ให้จิตทรงตัวไว้ในพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ คำว่าปกติต้องเหมือนศีล ศีลนี่ต้องบริสุทธิ์ทุกวัน และพรหมวิหาร ๔ ต้องทรงตัว
๒.สำหรับอานาปานุสสติกรรมฐาน ขอแนะนำให้ทุกท่านใช้ทุกอิริยาบถที่ทรงอยู่ จำไว้ให้ดีด้วยนะ ถ้าท่านใช้ทุกอิริยาบถที่ทรงอยู่ละก็ อารมณ์จิตมันจะเลี้ยวเข้าไปหาความเลวไม่ได้ จะมีเวลาว่างเพื่อสร้างความเลวตรงไหน จะกินอยู่ก็ดี จะเดินอยู่ก็ดี จะนั่งอยู่ จะนอนอยู่ ทำการงานอยู่ จะพูดจาปราศรัยก็ดี ให้เอาใจของทุกท่านกำหนดจับอานาปานุสสติกรรมฐานไว้เป็นปกติ จำได้ไหม และก็ลองคิดดูทีเถอะว่า ถ้าเราเอาจิตไปจับอานาปานุสสติกรรมฐานไว้เป็นปกติ จิตมันไม่มีเวลาว่างจากการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก แล้วก็จิตดวงนี้ มันจะเอาอารมณ์เลวมาจากไหน อกุศลกรรมใดๆที่ไหน จะเข้ามาแทรกจิตได้
มหาสติปัฏฐาน
มหาสติปัฏฐานสูตรที่ยากจริงๆ ก็คือ อานาปานุสสติกรรมฐานเท่านั้น ที่ต้องทำกันช้าหน่อย แล้วก็ทำถึงฌาน ที่เหลือทั้งหมดเป็นอารมณ์คิด ฉะนั้นก่อนจะใช้อารมณ์คิดทุกครั้ง ขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าที่เคารพ โปรดทำสมาธิจิตจนถึงฌานให้เต็มที่ก่อน ได้ระดับไหนทำให้ถึงระดับนั้น ทำแล้วปล่อยให้จิตสบายจึงค่อยใช้อารมณ์คิด ปัญญาจะเกิด
นี่เป็นหลักการในการปฏิบัติพระกรรมฐาน ถ้าใช้อารมณ์คิดแล้ว จิตใจมันฟุ้งออกนอกลู่นอกทาง ก็ทิ้งอารมณ์คิดนั้นเสีย กลับมาจับอานาปานุสสติใหม่ จนกระทั่งจิตสบาย แล้วก็ใช้อารมณ์คิดต่อไป นี่เป็นหลักการที่ปฏิบัติ นักปฏิบัติที่ได้ผลจริง ๆ เขาทำกันแบบนี้ แม้แต่ในสมัยพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน เขาปฏิบัติกันอย่างนี้จึงได้ผลตามกำหนด ที่องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาตรัสไว้
บารมี ๑๐
บารมีทั้งหมดนี้ให้ใช้กำลังใจ สร้างกำลังใจให้มันทรงอยู่ในใจทั้งหมด ให้มันเต็มครบบริบูรณ์ ไม่มีอะไรบกพร่อง คือ
๑.ทานบารมี มีกำลังใจพร้อมจะให้เสมอ ไม่ต้องการสิ่งตอบแทน
๒.ศีลบารมี มีกำลังใจรักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต
๓.เนกขัมมะบารมี เนกขัมมะแปลว่าการถือบวช พยายามระงับนิวรณ์ในเบื้องต้น ตัดสังโยชน์เป็นเรื่องสุดท้าย
๔.ปัญญาบารมี พิจารณาว่าการเกิดเป็นต้นเหตุของทุกข์ ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง
๕.วิริยะบารมี มีกำลังใจต่อสู้อุปสรรค สู้ให้ถึงที่สุดไม่ถอยหลัง
๖.ขันติบารมี อดทนต่ออุปสรรค สู้ให้ถึงที่สุดไม่ถอยหลัง
๗.สัจจะบารมี ทรงความจริงเป็นปกติ ตั้งใจทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ
๘.อธิษฐานบารมี ตั้งใจไว้ว่า มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก เป็นทุกข์ ตั้งใจไว้เฉพาะว่า “เราจะไปพระนิพพาน”
๙.เมตตาบารมี ตั้งใจให้มั่นว่าจะเมตตา คำว่าศัตรูไม่มีสำหรับเรา
๑๐.อุเบกขาบารมี เฉยต่ออุปสรรค เช่น คำนินทา การเจ็บไข้ เฉยในเรื่องร่างกาย
ถ้ากำลังใจของเราพร้อม ทรงบารมีทั้ง ๑๐ ประการ ครบถ้วนเพียงใด บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ความเป็นพระอริยเจ้าเป็นของง่าย แต่ถ้ากำลังใจในการสร้างตนเป็นพระโสดาบัน มันยังครบถ้วนไม่ได้ ก็หันมาจัดการกับบารมีทั้ง ๑๐ ประการ ให้มันครบถ้วนบริบูรณ์ เท่านี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้ากำลังใจในบารมี ๑๐ บริบูรณ์เพียงใด คำว่าพระโสดาบันนั้น ท่านพุทธบริษัททั้งหลายจะรู้สึกว่าง่ายเกินไป
ทรงความดี
๑.การปฏิบัติเพื่อเอาดีจริงๆ การเริ่มต้นของการปฏิบัตินอกจากศีลบริสุทธิ์แล้ว ก่อนที่จะภาวนา ให้ใช้ปัญญาพิจารณาความเป็นจริงของร่างกายเสียก่อน คิดว่าการเกิดของเราแต่ละชาติเป็นทุกข์ เรื่องทุกข์นี่ให้มองดูกันเองนะ เพราะเห็นทุกข์กันอยู่ทุกวัน คนไม่เห็นทุกข์ นั่นหมายถึงว่าตั้งหน้าตั้งตาลงนรก เพราะจิตมันไม่ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง เราต้องมองเห็นและพิจารณาว่า การเกิดนี่มันเป็นทุกข์ แก่ก็เป็นทุกข์ ป่วยไข้ไม่สบายก็ทุกข์ พลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์ ตายก็ทุกข์
๒.เวลานี้เราพบพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าคือคำสอน องค์สมเด็จพระชินวรก็ไปนิพพาน พระอรหันต์ทั้งหลายไปนิพพานนับไม่ถ้วน ก็เคยปฏิบัติอย่างนี้ ฉะนั้นนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
เราจะไม่มีความอาลัยในชีวิตและร่างกายของเรา
เราจะไม่สนใจร่างกายของบุคคลอื่น
เราจะไม่สนใจในวัตถุธาตุใดๆ
เราจะทำจิตของเราให้ผ่องใส มีพระนิพพานเป็นอารมณ์
ถ้าบังเอิญมันจะตายในขณะที่เรานั่งนี่ก็เชิญ ร่างกายตายแต่ใจเราไปพระนิพพาน ตัดสินใจอย่างนี้ไว้ก่อน หลังจากนั้นก็ภาวนา
มโนมยิทธิ
๑.มโนมยิทธิ แปลว่า มีฤทธิ์ทางใจ คำว่า ฤทธิ์ทางใจ หมายความว่า ใช้ใจ โดยเฉพาะอันดับต้น ต้องฝึกให้ได้ทิพจักขุญาณก่อน คำว่า ทิพจักขุญาณ ก็หมายความว่า ใช้ความรู้ทางใจคล้ายตาทิพย์ ไม่ใช่ลูกตาเป็นทิพย์
ถ้าฝึก “ทิพย์จักขุญาณ” ได้แล้ว ต่อไปจิตจะเคลื่อนไปสู่สวรรค์ก็ได้ พรหมโลกก็ได้ ไปแดนนิพพาน แดนเปรตแดนอะไรก็ได้ทั้งหมด ถึงแม้จะเป็นมุมหนึ่งหรือจุดใดในโลกมนุษย์นี่ง่ายกว่า หรือว่าใครอยากจะไปเที่ยวดวงดาวต่าง ๆ ก็ไปได้ ไปดวงอาทิตย์เราก็ไปได้ ไม่ตายเพราะใจเราไม่ตาย
แต่ว่าวิธีปฏิบัติแบบนี้ เวลาจะเคลื่อน ใช้อารมณ์แนบแน่นสนิทไม่ได้ ต้องมีอารมณ์เบา ๆ พอสมควร คือ แค่อุปจารสมาธิ ให้เริ่มสัมผัสภาพได้ก่อน ไม่ได้เห็นด้วยลูกตา พอรับสัมผัสภาพได้ ตอนนี้จิตเริ่มเป็นฌาน ตอนนี้ก็ยังเบาอยู่ แต่เคลื่อนจิตไปพระจุฬามณีได้
เมื่อเข้าไปถึงจุดนั้น มันจะมีทั้งฌานและญาณบอก ฌานอย่างเดียวมันก็ไปไม่ได้ ถ้าไปแล้วมันไม่เห็น ต้องมีตัวญาณเป็นตัวรู้ ฉะนั้น การขึ้นตอนแรก ขึ้นด้วยญาณก่อน เมื่อไปถึงที่นั่น ชำระจิตดี จิตสะอาดมากขึ้น ความสว่างไสวจะดีขึ้น แต่ไม่ใช่ลูกตาเห็น เป็นการเห็นจากจิต เป็นความรู้สึกจากจิต แต่เมื่อจิตสะอาดมากก็เห็นเหมือนตาเห็น
๒.ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านที่ปฏิบัติมโนมยิทธิได้แล้ว จงอย่ายับยั้งความดีไว้แค่มโนมยิทธิ เพราะถ้าหากท่านทำความดีได้แค่นี้ มันยังไม่พ้นการลงนรก การให้ฝึกมโนมยิทธิ เพื่อเป็นการยืนยันว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตายมีจริง การระลึกชาติมีจริง ตายแล้วไม่สูญจริง สวรรค์มีจริง พรหมโลกมีจริง นิพพานมีจริง นรก เปรต อสุรกายมีจริง
เมื่อทำได้แล้ว จงรวบรวมกำลังใจของท่าน ทำให้ตนเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ พระโสดาบัน จะได้ป้องกันอบายภูมิ ไม่ต้องตกนรกเป็นเปรต เป็นอสุรกายและสัตว์เดรัจฉานต่อไป เป็นการก้าวไปหาพระนิพพานเร็วขึ้น
วิปัสสนาญาณ
๑.ร่างกายมันจะแก่ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ร่างกายมันจะป่วย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ร่างกายมันจะตาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดามันเป็นอย่างนี้ มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน
เมื่อร่างกายมันพังเมื่อไร เราไปนิพพานเมื่อนั้น ตั้งใจไว้เพียงเท่านี้ หากว่าชาตินี้ ถ้าไม่สามารถไปนิพพานได้ ถ้าอารมณ์ใจท่านเป็นอย่างนี้แล้ว ดีไม่ดีไปพักอยู่แค่เทวดา หรือพรหมอยู่ไม่กี่วัน เพียงแค่พระศรีอาริย์ตรัสรู้ เห็นหน้าพวกท่านเข้า พระพุทธเจ้าท่านจะเทศน์กายคตานุสสติกรรมฐาน หรือ ปฏิกูลบรรพ ฉับพลันทันที
เพราะองค์สมเด็จพระชินสีห์รู้ทุนเดิมของเรา ถ้าฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระทศพลเพียงกัณฑ์เดียว เลวที่สุดได้พระโสดาบัน นี่เรียกว่าเลวที่สุดนะ ถ้าฟังซ้ำอีกที ก็ได้อรหัตผล ตัวอย่างก็เยอะที่ปรากฏมาในพุทธประวัติ
๒.ถ้าหากว่าเรารู้จริงเห็นจริง ด้วยอำนาจของปัญญาว่า ร่างกายเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี เต็มไปด้วยความสกปรกแบบนี้ เราจะเอาจิตเข้าไปพัวพัน ร่างกายของบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์อะไร แม้แต่ร่างกายของเราก็เหมือนกัน มันเพียงแต่ว่าเป็นแดนสำหรับที่เราอาศัยเท่านั้น เราจะไม่หลงใหลใฝ่ฝันในรูปกายจนเกินสมควร และก็รู้อยู่เสมอว่าร่างกายของเรานี้มันสกปรก ร่างกายของคนอื่นก็สกปรก มันสกปรกไม่สกปรกเปล่า ในที่สุดมันก็พังทลาย เหมือนผีตายทั้งหลายนั้นแหละ
ความจริงเราต้องการความสะอาด เราไม่ต้องการความสกปรก เมื่อจิตของเราเห็นว่า อัตภาพร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดีสกปรก ความรัก ความปรารถนา ความใคร่มันก็หมดไป เพราะว่าไม่มีใครต้องการความสกปรก
พิจารณาความตาย
๑.เรื่องของความตายนี้ ทางพระท่านถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่ว่าใครทั้งสิ้นที่เกิดมาแล้ว ก็ต้องตายเหมือนกันหมด จะตายด้วยโรคอะไรหรืออาการอย่างไร ในที่สุดก็ตายเหมือนกัน พระท่านสอนไม่ให้เสียใจ เพราะเหตุแห่งความตายมาถึง คนรับฟังมีเยอะ แต่รับปฏิบัติคือตัดใจไม่ให้เศร้าโศกถึงคนตายนี่หายาก
เรื่องของการระงับความเศร้าโศกอาลัย ในเมื่อมีคนที่เรารักตาย นี้มันเป็นเรื่องที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง คนที่จะทำได้แน่นอน ไม่มีอารมณ์หวั่นไหวในเรื่องของความตายนั้น ท่านว่ามีพระอรหันต์เท่านั้น ที่จะเห็นเรื่องของความตายเป็นของปกติธรรมดา เหมือนเห็นใบไม้ที่แก่งอมร่วงลงมาจากต้น ไม่มีความรู้สึกเสียดายห่วงใยใดๆ
ถ้าว่ากันตามภาษาชาวบ้าน ถ้ามีคนตายเกิดขึ้นที่บ้านใคร ถ้าคนที่เกี่ยวข้อง เช่น สามีหรือภรรยาของผู้ตาย ไม่ร้องไห้แสดงความเสียใจ เขาก็หาว่าเป็นคนใจจืดใจดำ กลายเป็นคนไม่ดีไปเสียอีก ต้องแสดงออกถึงความโศกเศร้ารำพันนั่นแหละ เขาถึงจะนิยมว่าเป็นคนดี รักกันจริง เรื่องความเห็นของพระกับชาวบ้าน ไม่ใคร่จะลงกันก็อีตอนนี้แหละ
๒.คนเราเมื่อตายจากอัตภาพนี้แล้ว มันไม่ตายจริง คือไม่หมดความรู้สึกสุขทุกข์ ยังมีสุขมีทุกข์ มีความรู้สึกเหมือนเมื่อยังไม่ตาย แต่สิทธิต่างๆในเมื่อวิญญาณออกจากร่างนี้แล้ว ก็มีบางอย่างที่วิญญาณไม่มีสิทธิจะครอง นั่นก็คือ ทรัพย์สินที่พยายามสะสมไว้ ตั้งแต่สมัยเมื่อยังทรงอัตภาพนี้ ส่วนอื่นนอกจากนี้ คือความสุขและความทุกข์ยังมีตามเดิม
บางท่านเมื่อก่อนตาย ทำความดีไว้มาก เมื่อตายแล้วก็มีความสุข บางรายก่อนตายสร้างความเลวร้ายไว้มาก เมื่อตายแล้วก็ได้รับความทุกข์ อันนี้เป็นกฎของความเป็นจริง ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้
อริยสัจ
๑.เราเกิดมาเพื่อประสบกับความทุกข์ คนที่เกิดมาแล้วทุกคนจะไม่มีทุกข์เป็นไม่มี ถ้าหากว่าเรายังยึดถือว่า ร่างกายเป็นของเรา ทรัพย์สินเป็นของเรา ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเป็นของเรา อารมณ์ทุกข์มันก็เกิด เกิดเพราะว่าเราเกาะ ที่เรียกว่าอุปาทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกธรรมแปดประการ คือ มีลาภดีใจ ลาภสลายตัวไปเสียใจ มียศดีใจ ยศสลายตัวไปเสียใจ มีความสุขในกามดีใจ ความสุขหมดไปร้อนใจ ได้รับคำนินทาเดือดร้อน ได้รับคำสรรเสริญมีสุข องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แนะนำให้พวกเราใช้อารมณ์คิดอยู่เสมอว่า ทุกข์นี้เป็นกฎธรรมดาของโลก ทุกอย่างเราทำงานตามหน้าที่
๒.สำหรับการที่เราเจริญพระกรรมฐาน ก็ต้องใคร่ครวญอยู่เสมอว่า เราเจริญพระกรรมฐานเพื่อต้องการความรู้ เป็นเครื่องพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพราะความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บความตายเป็นทุกข์ ถ้าเรายังต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่อย่างนี้ เราก็มีแต่ความทุกข์ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะ การเจริญสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน เราทำเพื่อสิ้นความเกิด เพราะเราไม่ต้องการความทุกข์ต่อไป จงพิจารณาหาทุกข์ให้พบในอริยสัจ
พิจารณาขันธ์ ๕
๑.ให้พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา โดยให้พิจารณาเป็นปกติ เมื่อเห็นว่าขันธ์ ๕ ป่วยก็รักษา เพื่อให้ทรงอยู่ แต่เมื่อมันจะพังก็ไม่ตกใจ หรือมันเริ่มป่วยไข้ ก็คิดว่าธรรมดามันต้องเป็นอย่างนี้ เราจะรักษาเพื่อให้ทรงอยู่ ถ้าทรงอยู่ได้ก็จะอาศัยเพื่องานกุศลต่อไป ถ้าเอาไว้ไม่ได้มันจะผุพัง ก็ไม่มีอะไรหนักใจ ความทุกข์จะเกิดแก่ตัวเองหรือใครอะไรก็ตาม ไม่ผูกจิตติดใจอย่างนี้ จนกระทั่งบรรลุอรหัตผล
๒.จิตต้องยึดเป็นอารมณ์ว่า ถ้าตายคราวนี้เรามุ่งนิพพาน ต้องคอยชำระจิต ก็หมายความว่า อย่าให้ความโลภคลุมใจ อย่าให้กามฉันทะมันคลุมใจ ความโกรธและโมหะอย่าให้คลุมใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหันเข้ามาตัดจุดเดียว คือ ขันธ์ ๕ ของเรา ตัดให้ขาด ทุกอย่างมันจะเกาะไม่ได้
สังโยชน์ ๑๐
๑.อารมณ์ที่จะพึงสนใจมากที่สุดหรือโดยตรง นั่นก็คือ สังโยชน์ ๑๐ ตัวตัดอยู่ตรงนี้ เราจะทำอะไรก็ตาม ถ้าไม่สามารถจะตัดสังโยชน์ได้แม้แต่หนึ่ง ก็ไม่มีผลในการปฏิบัติ เหนื่อยมาเกือบตาย กิเลสก็ยังท่วมตัวอยู่ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ไม่มีเวลากำจัดก็แย่ บางท่านก็มีความฉลาด เริ่มปฏิบัติไม่กี่วันก็สามารถกำจัดกิเลส เข้าถึงเขตแห่งความเป็นพระอริยเจ้าได้ อันนี้เป็นกำไรมาก
๒.นักปฏิบัติเพื่อมรรคผลท่านปฏิบัติกันมา และได้รับผลเป็นมรรคผลนั้น ท่านคอยเอาสังโยชน์เข้าวัดอารมณ์เป็นปกติ เทียบเคียงจิตกับสังโยชน์ ว่าเราตัดอะไรได้เพียงใด แล้วจะรู้ผลของการปฏิบัติ ให้ปฏิบัติตามอารมณ์ที่ละนั่นเอง ไม่ใช่คิดเอาเองว่าเราเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ ตามแบบคิดแบบเข้าใจเอาเอง
พระโสดาบัน
๑.ความเป็นพระโสดาบัน ต้องทรงคุณธรรม ๓ ประการ จำไว้ให้ดีเป็นของไม่ยากคือ
ประการที่ ๑ มีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง พระสงฆ์นี่ เลือกเอาพระอริยสงฆ์นะ เพราะถ้าไม่ใช่พระอริยะ แกก็ไม่ค่อยแน่นัก ดีไม่ดีแกก็เลวกว่าชาวบ้านเขาก็มี
ประการที่ ๒ งดการละเมิดศีลโดยเด็ดขาด เรียกว่า รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต ศีล ๕ ประการนี้รักษาโดยเด็ดขาด
ประการที่ ๓ จิตใจของพระโสดาบัน มุ่งอย่างเดียวคือนิพพาน ขึ้นชื่อว่าทำความดี ตั้งแต่ฟังเทศน์ปฏิบัติธรรม ลงไปถึงเทกระโถน ล้างส้วม ตั้งใจอย่างเดียว เราทำเพราะเมตตาปรานีแก่บุคคลทั้งหลาย ความดีนี้ไม่ต้องการผลตอบแทนจากบุคคลผู้ใด เราต้องการอย่างเดียวทำเพื่อผลของพระนิพพาน เพียงเท่านี้เขาเรียกว่าพระโสดาบัน
๒.คนที่เขาเป็นพระโสดาบัน เขาทรงอารมณ์แบบนี้ คือ ปรารภความตายเป็นปรกติ ไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าการเกิดมานี่มันต้องตาย เมื่อคิดว่าจะต้องตายเขาก็ไม่ประมาท ไม่ยอมไปอบายภูมิ นั่นคือ เคารพในพระพุทธเจ้าจริง เคารพในพระธรรมจริง เคารพในพระอริยสงฆ์จริง เป็นปกติ และก็มีศีล ๕ บริสุทธิ์ มีจิตต้องการพระนิพพานเป็นอารมณ์ การทำความดีทุกอย่าง ไม่หวังผลตอบแทนในปัจจุบัน คิดว่าผลความดีที่เราต้องการมีอย่างเดียวคือพระนิพพาน เท่านี้เองความเป็นพระโสดาบัน
พระสกิทาคามี
พระสกิทาคามีนี่ อารมณ์ทุกอย่างเหมือนพระโสดาบันทั้งหมด ตัดสังโยชน์สามเหมือนกัน แต่ว่ามีการบรรเทาความรักในระหว่างเพศ บรรเทาความร่ำรวย บรรเทาความโกรธ เมื่อสามอย่างนี้มันบรรเทา ความหลงก็เลยบรรเทาด้วย กำลังใจของพระสกิทาคามี มีข้อสังเกตดังนี้
ประการที่หนึ่ง อารมณ์จะไม่มีความกำเริบในระหว่างเพศ จิตใจเยือกเย็นลง แต่ยังไม่หมด เบาลง
ประการที่สอง เรื่องความโลภ ความอยากรวย ความดิ้นรนของความอยากรวยเบาลง ความรู้สึกว่าพอเริ่มมี แต่การทำความดีความขยันหมั่นเพียรยังปรากฎ แต่ว่าจิตไม่ดิ้นรนเกินไป
สิ่งที่เราจะสังเกตได้ง่าย สำหรับพระสกิทาคามี นั่นก็คือ กำลังความโกรธลดลงมาก การถูกด่าถูกนินทาโกรธเบา บางทีก็โกรธช้าไป
พระอนาคามี
ถ้าจิตของบรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าสู่พระอนาคามีมรรคได้ มันเข้ามาเอง ทำไป ๆ จิตมันก็โทรมลงมา คือว่า จิตหมดกำลังในด้านความชั่ว ทรงความดีมากขึ้น มีความเบื่อหน่ายในเรื่องระหว่างเพศ มีความสลดใจ คือ ถ้าจิตไม่มีความรู้สึกระหว่างเพศอย่างนี้ท่านเรียกว่าพระอนาคามีมรรค
ถ้าหากว่าจิตเราไม่พอใจในศีล ๕ มีความพอใจในศีล ๘ แล้ว ก็มีความมั่นคงในศีล ๘ อย่างนี้ ท่านถือว่าเริ่มเข้าอนาคามีมรรค เรียกว่าเดินทางเข้าหาพระอนาคามี ต่อไปถ้าจิตมีความเบื่อหน่ายในเรื่องระหว่างเพศ คือถ้าหมดความรู้สึก ก็ถือว่าเป็นพระอนาคามีผล
และต่อมาถ้าจิตลดจากความโกรธ ความไม่พอใจ ปฏิฆะ คืออารมณ์กระทบกระทั่งใจนิดๆ หน่อยๆ ความไม่พอใจ การแสดงออกน่าจะมีสำหรับคนในปกครอง ถ้าทำไม่ดีต้องดุต้องด่าต้องว่าต้องลงโทษ อันนี้เป็นธรรมดา เป็นการหวังดี แต่ว่าเนื้อแท้จริงๆ จิตคิดประทุษร้ายไม่มี เป็นการหวังดีแก่คนทุกคน คือตัดตัวปฏิฆะ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ถือว่า เต็มภาคภูมิของพระอนาคามีผล
รวมความว่าจากพระสกิทาคามีแล้ว จะเป็นพระอนาคามี ก็คือ
๑.สังเกตว่าใจเราพอใจในศีล ๘ รักษาศีล ๘ ได้ครบถ้วนจริง ๆ
๒.จิตตัดอารมณ์ในกามารมณ์ได้เด็ดขาด ไม่มีความรู้สึก
๓.ตัดความโกรธ ความพยาบาทได้เด็ดขาด อย่างนี้เป็นพระอนาคามีผล
พระอรหันต์
๑.อารมณ์พระอรหันต์ นั่นคือ จิตคิดว่าไม่หลงในรูปฌานและอรูปฌาน จิตไม่มีมานะการถือตัวถือตน จิตไม่มีอารมณ์ฟุ้งซ่านออกนอกรีดนอกรอย จิตไม่ติดในอวิชชา คือฉันทะกับราคะ ฉันทะ-ความพอใจในมนุษย์โลก เทวโลกไม่มี ราคะ-จิตเห็นมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก สวยไม่มี ไม่พอใจในสามโลก จิตพอใจจุดเดียวคือนิพพาน นี่เป็นอารมณ์พระอรหันต์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์พระอรหันต์ คือยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ไล่ลงมาอีกทีนะ จิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดาว่า ธรรมดาคนเกิดมาแล้ว ต้องแก่ ต้องป่วย ต้องมีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ คนเกิดมาแล้วต้องตาย ความปรารถนาไม่สมหวังย่อมมีแก่ทุกคน ถ้าทุกอย่างมันเกิดขึ้น ใจท่านไม่หวั่นไหว ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็จิตคิดว่าถ้าร่างกายนี้พังเมื่อไร ฉันไปนิพพานเมื่อนั้น ใจสบาย
๒.ศีลเราบริสุทธิ์อยู่แล้ว สมาธิทรงตัวอยู่แล้ว วิปัสสนาญาณปลดเปลื้องร่างกายของเรา ร่างกายของบุคคลอื่น วัตถุธาตุ ขันธ์ ๕ คือร่างกาย อย่าไปเสียดายมัน มันจะพังเมื่อใดก็เชิญมันพัง เพราะใจเราพร้อมที่จะไปนิพพาน ตัวจิตบริสุทธิ์อยู่ที่นี่
๓.อรหัตผลนี่เป็นของไม่ยาก ก็ตัดกามฉันทะกับราคะ คือไม่สนใจกับร่างกายของเราด้วย ไม่สนใจกับร่างกายของบุคคลอื่นด้วย ไม่สนใจกับวัตถุธาตุในโลกทั้งหมด คิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ช้ามันก็สลายตัว ไม่มีอะไรดีสำหรับเรา เราไม่ถือว่ามันเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งของเรา และเราก็ไม่ถือวาทะของบุคคลอื่นไม่ถืออารมณ์ของบุคคลอื่น ทำใจให้แช่มชื่นอยู่อย่างเดียว ว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ทรัพย์สินในโลกไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของกิเลส ตัณหา อุปาทาน มันพังเมื่อไร พอใจเมื่อนั้น
ขึ้นชื่อว่าความเกิด มีขันธ์ ๕ ร่างกายอย่างนี้ จะไม่มีสำหรับเรา ความเป็นเทวดาหรือพรหม จะไม่มีสำหรับเรา สิ่งที่เราต้องการคือนิพพาน นี่แค่นี้เท่านั้นแหละ ไม่เห็นมีอะไรยาก ถ้าพูดกันแบบง่ายๆ แต่ความจริงพูดกันมาเยอะ ทำอารมณ์ให้มันทรงตัวเถอะ มันก็ไม่ลำบาก มันก็สำเร็จมรรคสำเร็จผล
— จบ —
ธรรมโอวาทเพื่อพระนิพพาน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
ศูนย์พุทธศรัทธา ขออนุโมทนากับทุกๆท่าน ที่ได้อ่านมาจนถึงบทสุดท้ายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านที่ตั้งใจอ่าน แล้วใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุหาผล และปฏิบัติตามธรรมโอวาทของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน คงจะได้รับประโยชน์และความสุข ตามสมควร ตามกำลังวาสนาบารมี ของแต่ละท่านแต่ละบุคคล
ท้ายนี้ ขอนำพรของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯท่าน ที่เมตตาโปรดญาติโยมพุทธศาสนิกชนบ่อยๆ มาฝาก
ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน เทอญ