ศูนย์พุทธศรัทธา
- ประวัติศูนย์พุทธศรัทธา
- ดำริในการสร้างศูนย์พุทธศรัทธาของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
- เยี่ยมชมศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๒๐ ปี ผลการดำเนินงานและกิจกรรมของศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๒๕ ปี ผลการดำเนินงานและกิจกรรมของศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๓๗ ปี /๒๕๖๕
- สมเด็จองค์ปฐม ปางพุทธลีลาประทานพร
- ตำนานเมืองขีดขิน-เมืองโบราณใกล้ศูนย์พุทธศรัทธา
- พระบูชา/วัตถุมงคลของศูนย์พุทธศรัทธา
- การเดินทางไปศูนย์ฯ
มโนมยิทธิ
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
กิจกรรมบำเพ็ญกุศล
ห้องธรรมะ/เรื่องเล่า
ลิ้งก์เว็บไซต์ที่เกี่ยวเนื่อง
เสียงธรรม-ธรรมะเพื่อชีวิต
ศรัทธาจริต-จริต ๖ ชุดทูลถวาย
โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
สำหรับในตอนนี้ อาตมาก็ขอถวายพระพรในเรื่องของ ศรัทธาจริต สำหรับศรัทธาจริตนี้ก็รู้สึกว่า ถ้าจิตใจของบุคคลใดหนักในด้านศรัทธา จะมีกำไรมาก แต่ทว่าทั้งนี้ก็เว้นไว้แต่ว่า จะต้องมีผู้นำในทางที่ดี คนที่มีศรัทธาจริต องค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์ทรงตรัสว่า เป็นคนเชื่อง่าย ในเมื่อท่านผู้นั้นเป็นคนเชื่อง่าย ถ้าใครจูงไปในทางที่ผิดก็ผิดง่าย ถ้าผู้จูงจูงไปทางที่ถูกก็ถูกง่าย ถ้าจูงไปหาความเลวก็เลวง่าย จูงไปหาความดีก็ดีง่าย ทีนี้ถ้าหากว่า ท่านผู้ชัก ผู้จูง ผู้แนะ ผู้นำ เป็นผู้ที่ทรงความดีอยู่เป็นปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าท่านผู้นั้นเป็นพระอริยเจ้า ก็จะสามารถดึงเอาบุคคลผู้มีอารมณ์ทรงศรัทธาจริตเป็นพระอริยเจ้าได้ง่าย
ฉะนั้น สำหรับท่านที่ทรงศรัทธาจริตอยู่ อาตมาเห็นว่า เป็นจริตที่มีกำไรมาก เพราะว่าเขาสามารถจะเข้าถึงฌานสมาบัติ เข้าถึงมรรคถึงผลตั้งแต่เบื้องต่ำถึงเบื้องสูงได้โดยไม่ยาก เพราะว่าเป็นคนเชื่ออยู่แล้ว
ทีนี้ความเชื่อที่จะต้องแก้ เพราะว่าความเชื่อมีได้ ๒ สถาน คือ เชื่อในทางที่ผิดเขาก็เชื่อ ในทางที่ถูกก็เชื่อ การเชื่อในทางที่ผิด ใครแนะนำประการใดมา ก็เชื่อทันที อันนี้องค์สมเด็จพระมหามุนีกล่าวว่าเป็น อธิโมกขศรัทธา การน้อมใจเชื่อ เป็นของไม่ดี มักจะเดินทางไปในสายที่ผิดได้
ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงแนะนำไว้ว่า ถ้าจะเชื่อก็ควรใช้ปัญญาช่วยพิจารณาด้วย ที่ตามพระบาลีบอกว่า ต้องใช้ศรัทธาสัมปยุตไปด้วยปัญญา คำว่า สัมปยุต ก็แปลว่า ประกอบ เอาปัญญาช่วย เชื่อด้วย ใช้ปัญญาพิจารณาด้วย ตัวปัญญาตัวนี้น่าจะเป็นพุทธจริต
ปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน(๙)
ผู้ถาม:- “หลวงพ่อครับ ถ้าหากว่าตอนปฏิบัติพระกรรมฐาน ถ้าเราไม่สนใจต่อร่างกายคือว่าให้ยุงกัด เสร็จแล้วเราแกล้งหลับ แต่ว่ามีสติอยู่นะครับ แล้วจะเอาจิตไปเกิดยังไงครับ…?”
หลวงพ่อ:- “เอาใจไปเกิดที่ไหนล่ะ แกยังไม่ตายนี่ ยังไม่ตายไปเกิดได้เรอะ…?”
ผู้ถาม:- “คือเตรียมตายล่วงหน้าครับ”
หลวงพ่อ:- “เตรียมตายใช้ได้ แต่ยังไม่ตายนี่ ไอ้หนู มันเป็นไปไม่ได้หรอก ไอ้ยุงมันกัด ถ้าแกทนเจ็บได้ก็ถือเป็นบุญใหญ่ อย่าทำให้มันเกินคนไปเลย ทำแค่คนเขาทำน่ะพอแล้ว ยุงมันกัดเราทนไม่ไหวเราก็เข้ามุ้ง การเจริญพระกรรมฐานเขาไม่ได้จำกัดว่าจะต้องนั่งกลางแจ้งนี่ ในมุ้งก็ได้ ใช่ไหม…
เอาแค่พอเหมาะๆ ซิ เอ็งอย่าแกล้งตายเลย ชักจะยุ่งแล้ว เดี๋ยวพระยายมท่านก็แกล้งลงนรก เอามันจริง ๆ ดีกว่า อย่าเอาแกล้ง ๆ เลย
ถ้าหากขืนปล่อยให้ยุงกัดก็ไม่มีผล เพราะยุงกัดมันเจ็บ เจ็บแล้วจะเอาสมาธิจิตที่ไหนมา มันก็มีอย่างเดียวได้รับเชื้อโรคจากยุง รับความเจ็บจากยุง จิตมันก็อยู่ที่เจ็บ จิตที่เป็นกุศลไม่มี ในที่สุดเสียผลเปล่า
ค่อย ๆ ทำไปนะไอ้หนู อย่าไปคิดอะไรมากเลย ถ้าคิดมากไม่เป็นผล ต้องทำแบบสบายตามปกติ กลางคืนถ้าเราไม่มีมุ้ง ยุงมันมาก เราก็ใช้เวลากลางวัน กลางวันใช้ไม่ได้มาก ใช้นิดหน่อยก็ได้
การเจริญพระกรรมฐาน ไม่จำเป็นต้องนั่งขัดสมาธิเสมอไป ถ้าเป็นสุกขวิปัสสโกก็คิดใคร่ครวญไปตามเรื่องตามราว คิดหาทางตัดกิเลส โลภะมันโลภแบบไหน ความโลภหมายถึงแย่งทรัพย์เขา ขโมยทรัพย์เขา โกงเขาเรียกว่าโลภ ถ้าหากินโดยทางสุจริตเขาไม่เรียกว่าโลภ อย่าไปนึกว่าหากินทุกอย่างเป็นโลภไปหมด ไม่ใช่นะต้องถือว่าการหากินไม่เป็นความโลภ นั่นเป็นผลจากการทำความดี โลภจริง ๆ มันต้องขโมยเขา แย่งเขา โกงเขา จิตคิดอย่างนี้จึงเรียกว่าจิตโลภ
ต่อไปก็หาทางว่าไอ้ความโลภประเภทนั้นมันชั่ว เพราะเป็นศัตรูสร้างความทุกข์แก่ตัวเอง เราไม่ทำ ต่อมาก็ความโกรธ โกรธเป็นการสร้างศัตรู เราก็ไม่ทำ อารมณ์มันก็ตัด
ถ้าด้านภาวนานี่ก็เหมือนกัน ไม่ต้องตั้งท่า เดินไปเราก็ภาวนาของเราเรื่อยไป ภาวนาบ้างลืมไปบ้าง นั่งรถไปภาวนาไป กระจุ๋มกระจิ๋ม นิดๆ หน่อยๆ อย่างนี้ดีมาก ถ้าแบบนี้มันจะใช้อารมณ์ได้ทุกเวลา
และการเจริญพระกรรมฐาน ถ้ายังเก่งในมุ้งอยู่ ยังอีกนาน ถ้าไม่ถึงเวลาสงัดเราทำสมาธิไม่ได้ ยังอยู่ไกลมาก ถ้าทำจุ๋งๆ จิ๋งๆ นิดๆ หน่อยๆ ตามเรื่องตามราว นั่งคุยอยู่กับเพื่อน เพื่อนเขาลุกไปทำธุระ เราจับลมหายใจเข้าออก ภาวนา ๒-๓ คำ เพื่อนมาก็คุยกันใหม่ ดีไม่ดีทำงานทำการไป เหนื่อยๆ ก็วางปากกา วางเครื่องมือ จับคำภาวนาเสียนิด ไม่ต้องขัดสมาธิ อย่างนี้ดีไหม”
ผู้ถาม:- “ดีครับ”
.
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๒ หน้า ๖๗-๖๙ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
ขอเชิญร่วมทำบุญปิดทองพระชำระหนี้สงฆ์ทันใจ
ขณะนี้กำลังจะปิดทองคำแท้ทั้งองค์ ให้เสร็จทันวันพ่อแห่งชาติ (วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔) เพื่อถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสครบรอบ ๘๔ พรรษา และเพื่อทุกท่านที่ร่วมสร้างจะได้มีอานิสงส์ในการชำระหนี้สงฆ์สมบูรณ์
ได้มีผู้มีจิตศรัทธาหลายท่านสอบถามเข้ามา อยากจะร่วมทำบุญเพื่อจะได้มีส่วนในการชำระหนี้สงฆ์ด้วย ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
ชมภาพ พิธีสร้างพระชำระหนี้สงฆ์ทันใจ (เสร็จในวันเดียว) หน้าตัก ๔ ศอก ณ ศูนย์พุทธศรัทธา เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ ในงานบวชเนกขัมมะบารมีครั้งที่ ๗๐ และงานทำบุญครบรอบ ๒๕ ปีศูนย์พุทธศรัทธา และโมทนาบุญร่วมกันครับ
ชมภาพ พิธีถวายพระชำระหนี้สงฆ์ ปิดทองคำแท้ทั้งองค์ เพื่อถวายพระราชกุศลในวันพ่อแห่งชาติ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ในงานบวชเนกขัมมะบารมี ครั้งที่ ๗๔ ณ ศูนย์พุทธศรัทธา และโมทนาบุญร่วมกันครับ
เพื่ออานิสงส์ในการชำระหนี้สงฆ์จะได้กับทุกท่านที่ร่วมทำบุญ
หลวงพ่อฤาษีฯ สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน ๑๐
ตอนที่ ๑๐ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๒
วันนี้พูดกันถึงว่าสกิทาคามีมรรคในด้านของกามฉันทะ เราหาทางตัดกามคุณ โดยอารมณ์ที่เห็นว่ารูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ เป็นของดี เรามานั่งพิจารณากันดู ว่ามันดีจริงๆ หรือว่ามันเลว มันทรงตัวหรือเปล่า มันจะทรงตัวสวยสดงดงามอยู่ตามนั้น มันจะหอมหวลยวนใจอยู่ตามนั้น มันจะมีรสอร่อยในการสัมผัสอยู่ตามนั้น มันมีมั้ย
ในที่สุดเราก็มองเห็นว่ามันไม่มี ไม่มีอะไรทรงตัวเป็นปรกติ มันมีการเคลื่อนไปเพื่อสลายตัว มันมีสภาพนำมาซึ่งความทุกข์
โพสท์ใน หลวงพ่อสอนอานาปานสติ
ติดป้ายกำกับ อานาปานสติ
ปิดความเห็น บน หลวงพ่อฤาษีฯ สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน ๑๐
ปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน(๘)
ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ ไม่ทราบว่าหนูพอจะสร้างบารมีไหวไหมคะ…?”
หลวงพ่อ:- “บารมี เขาแปลว่า กำลังใจ หนู ก็พยายามกระตุ้น ๆ มัน อารมณ์ของเรามันมี ๒ อารมณ์ อารมณ์ที่เป็นกุศลอย่างหนึ่ง อารมณ์ที่เป็นอกุศลอย่างหนึ่ง
คำว่า กุศลนี่เขาแปลว่าฉลาด อกุศลแปลว่าไม่ฉลาด ที่ไม่ฉลาดก็เพราะสร้างอารมณ์ที่มีความเร่าร้อนเกิดขึ้น นี่เรียกว่าอารมณ์ไม่ฉลาด ทีนี้อารมณ์ที่ไม่ฉลาดมันมีกำลังมาก มันคุมกำลังใจเราไว้มากมานานแล้ว เราก็ก็ต้องแพ้มันบ้างชนะมันบ้าง นี่เราพยายามค่อย ๆ คุมมันจนกว่ามันจะแพ้
อย่าลืมนะ บารมีแปลว่ากำลังใจ ทำกำลังใจให้เต็มในด้านของความดี
๑.ทานบารมี เราคิดจะสงเคราะห์คนและสัตว์อื่นแทนที่จะคิดเบียดเบียน
๒.ศีลบารมี มีศีลนี่เขาแปลว่าปกติ เราต้องรักษาอารมณ์ไว้อย่าให้มันผิดปกตินะ ปกติของคนและสัตว์มีความรู้สึกว่า
ข้อ ๑ ร่างกายของเรา เราไม่ต้องการให้ใครมาทำร้ายร่างกาย ไม่ต้องการให้ใครมาฆ่า เรามีความคิดอย่างไร สัตว์อื่นและบุคคลอื่นก็มีความคิดเหมือนเรา เราก็เว้น
ข้อ ๒ ทรัพย์สินของเรามีอยู่ เราไม่ต้องการให้ใครมาลักมาขโมยยื้อแย่งของเราไป เรามีความคิดเห็นเช่นไร คนอื่นเขาก็มีความคิดเห็นเหมือนเรา เราก็เว้น
ข้อ ๓ คนรัก เราไม่ต้องการให้ใครมาแย่งคนรักฉันใด คนอื่นเขาก็ไม่ต้องการให้แย่งคนรักเหมือนกัน
ข้อ ๔ วาจาที่เรารับฟังต้องการความจริง คนอื่นเขาก็ต้องการความจริงเหมือนกัน
ข้อ ๕ เราไม่ต้องการเป็นคนบ้า ชาวบ้านเขาก็ไม่ต้องการให้เราบ้า
ก็รวมความว่า อาการทั้ง ๕ อย่างนี้ คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม มุสาวาท ดื่มสุราเมรัย ต้องไม่มีสำหรับเรา ถ้าเราพลาดไปข้อใดข้อหนึ่ง แสดงว่าเราผิดปกติ ใช่ไหม…
ถ้าจะสร้าง บารมีที่ ๓ คือ เนกขัมมะบารมี
ต้องแยกออกเป็น ๔ คือ เนกขัมมะบารมีของศีล ๕ เนกขัมมะบารมีของศีล ๘ เนกขัมมะบารมีของศีล ๒๒๗ แล้วก็เนกขัมมะบารมีของพระอริยเจ้า ข้อหลังนี่ฉันตั้งเอง อ้าว…ไม่งั้นเนกขัมมะบารมีเขาแปลว่าถือบวช ก็เจ๊งหมด ชาวบ้านรักษาไม่ได้
เนกขัมมะบารมีของศีล ๕ ก็คือ เราไม่สนใจกับรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศซึ่งไม่เนื่องกับเรา คู่ครองของใครก็ไม่ไปยื้อแย่งใคร
เนกขัมมะบารมีของศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี่ต้องพยายามระงับอาการ ๕ อย่าง ให้มันครบถ้วน นั่นก็คือว่า
๑.กามฉันทะ อารมณ์ต้องไม่ข้องในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ แต่ไม่ใช่ตัดเลย เนกขัมมะบารมีนี่สำหรับเรื่องศีลเราแค่ยับยั้ง
๒.เราจะต้องพยายามระงับความโกรธ ความพยาบาท ในบางขณะ มันไม่ใช่ทุกขณะนะ
๓.ระงับความง่วงขณะทำความดี
๔.จะไม่ยอมให้จิตฟุ้งซ่านไปนอกอารมณ์ที่เราต้องการ คือเป็นด้านอารมณ์ของความดี
๕.จะไม่สงสัยในผลปฏิบัติที่ความดีเกิดขึ้น คือผลของความดีที่เกิดจากการปฏิบัติเราจะไม่สงสัยขณะที่เรารวบรวมกำลังใจให้จิตทรงตัวในด้านของความดี จะต้องป้องกันในเหตุ ๕ ประการ ไม่ให้เข้ามายุ่งกับจิต นี่ก็ต้องถือเป็นบางเวลานะ
สำหรับเนกขัมมะบารมีของพระอริยเจ้า ต้องทำลายให้มันพังไปเลย
๑.กามฉันทะ ต้องไม่มีในจิต คิดฆ่าตลอดเวลา
๒.ความโกรธ ความพยาบาท ต้องไม่ให้มันมีเหมือนกัน ต้องพยายามฆ่ามันเรื่อย จนหมด
๓.ไม่ยอมให้ความง่วงเข้ามาครอบงำ ในขณะปฏิบิตความดี
๔.จะไม่ยอมให้จิตฟุ้งซ่านไปนอกอารมณ์ดีที่เราตั้งไว้คือ นิพพาน
๕.จะไม่สงสัยในผลปฏิบัติที่ความดีถ้าหากว่าสามารถฆ่านิวรณ์ ๕ ประการนี้ได้เมื่อไร เป็นอรหันต์ได้เมื่อนั้น ต้องฆ่าทีละตัวสองตัวนะ ฆ่าทีเดียวหมดพระพุทธเจ้าอาย ใช่ไหม…
อันดับแรกแค่ระงับยับยั้งก่อนนะ ต้องยั้งเป็นเวลาก่อน จะคิดฆ่ามันทีเดียวหมดมันไม่ได้ ถ้าฆ่าทีเดียวหมดได้ก็ดี ยิ่งดี แต่ว่ามันเป็นไปได้ยาก”
.
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๒ หน้า ๖๔-๖๗ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม
ติดป้ายกำกับ กรรมฐาน, ปัญหาธรรม
ปิดความเห็น บน ปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน(๘)