ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ ไม่ทราบว่าหนูพอจะสร้างบารมีไหวไหมคะ…?”
หลวงพ่อ:- “บารมี เขาแปลว่า กำลังใจ หนู ก็พยายามกระตุ้น ๆ มัน อารมณ์ของเรามันมี ๒ อารมณ์ อารมณ์ที่เป็นกุศลอย่างหนึ่ง อารมณ์ที่เป็นอกุศลอย่างหนึ่ง
คำว่า กุศลนี่เขาแปลว่าฉลาด อกุศลแปลว่าไม่ฉลาด ที่ไม่ฉลาดก็เพราะสร้างอารมณ์ที่มีความเร่าร้อนเกิดขึ้น นี่เรียกว่าอารมณ์ไม่ฉลาด ทีนี้อารมณ์ที่ไม่ฉลาดมันมีกำลังมาก มันคุมกำลังใจเราไว้มากมานานแล้ว เราก็ก็ต้องแพ้มันบ้างชนะมันบ้าง นี่เราพยายามค่อย ๆ คุมมันจนกว่ามันจะแพ้
อย่าลืมนะ บารมีแปลว่ากำลังใจ ทำกำลังใจให้เต็มในด้านของความดี
๑.ทานบารมี เราคิดจะสงเคราะห์คนและสัตว์อื่นแทนที่จะคิดเบียดเบียน
๒.ศีลบารมี มีศีลนี่เขาแปลว่าปกติ เราต้องรักษาอารมณ์ไว้อย่าให้มันผิดปกตินะ ปกติของคนและสัตว์มีความรู้สึกว่า
ข้อ ๑ ร่างกายของเรา เราไม่ต้องการให้ใครมาทำร้ายร่างกาย ไม่ต้องการให้ใครมาฆ่า เรามีความคิดอย่างไร สัตว์อื่นและบุคคลอื่นก็มีความคิดเหมือนเรา เราก็เว้น
ข้อ ๒ ทรัพย์สินของเรามีอยู่ เราไม่ต้องการให้ใครมาลักมาขโมยยื้อแย่งของเราไป เรามีความคิดเห็นเช่นไร คนอื่นเขาก็มีความคิดเห็นเหมือนเรา เราก็เว้น
ข้อ ๓ คนรัก เราไม่ต้องการให้ใครมาแย่งคนรักฉันใด คนอื่นเขาก็ไม่ต้องการให้แย่งคนรักเหมือนกัน
ข้อ ๔ วาจาที่เรารับฟังต้องการความจริง คนอื่นเขาก็ต้องการความจริงเหมือนกัน
ข้อ ๕ เราไม่ต้องการเป็นคนบ้า ชาวบ้านเขาก็ไม่ต้องการให้เราบ้า
ก็รวมความว่า อาการทั้ง ๕ อย่างนี้ คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม มุสาวาท ดื่มสุราเมรัย ต้องไม่มีสำหรับเรา ถ้าเราพลาดไปข้อใดข้อหนึ่ง แสดงว่าเราผิดปกติ ใช่ไหม…
ถ้าจะสร้าง บารมีที่ ๓ คือ เนกขัมมะบารมี
ต้องแยกออกเป็น ๔ คือ เนกขัมมะบารมีของศีล ๕ เนกขัมมะบารมีของศีล ๘ เนกขัมมะบารมีของศีล ๒๒๗ แล้วก็เนกขัมมะบารมีของพระอริยเจ้า ข้อหลังนี่ฉันตั้งเอง อ้าว…ไม่งั้นเนกขัมมะบารมีเขาแปลว่าถือบวช ก็เจ๊งหมด ชาวบ้านรักษาไม่ได้
เนกขัมมะบารมีของศีล ๕ ก็คือ เราไม่สนใจกับรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศซึ่งไม่เนื่องกับเรา คู่ครองของใครก็ไม่ไปยื้อแย่งใคร
เนกขัมมะบารมีของศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี่ต้องพยายามระงับอาการ ๕ อย่าง ให้มันครบถ้วน นั่นก็คือว่า
๑.กามฉันทะ อารมณ์ต้องไม่ข้องในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ แต่ไม่ใช่ตัดเลย เนกขัมมะบารมีนี่สำหรับเรื่องศีลเราแค่ยับยั้ง
๒.เราจะต้องพยายามระงับความโกรธ ความพยาบาท ในบางขณะ มันไม่ใช่ทุกขณะนะ
๓.ระงับความง่วงขณะทำความดี
๔.จะไม่ยอมให้จิตฟุ้งซ่านไปนอกอารมณ์ที่เราต้องการ คือเป็นด้านอารมณ์ของความดี
๕.จะไม่สงสัยในผลปฏิบัติที่ความดีเกิดขึ้น คือผลของความดีที่เกิดจากการปฏิบัติเราจะไม่สงสัย
ขณะที่เรารวบรวมกำลังใจให้จิตทรงตัวในด้านของความดี จะต้องป้องกันในเหตุ ๕ ประการ ไม่ให้เข้ามายุ่งกับจิต นี่ก็ต้องถือเป็นบางเวลานะ
สำหรับเนกขัมมะบารมีของพระอริยเจ้า ต้องทำลายให้มันพังไปเลย
๑.กามฉันทะ ต้องไม่มีในจิต คิดฆ่าตลอดเวลา
๒.ความโกรธ ความพยาบาท ต้องไม่ให้มันมีเหมือนกัน ต้องพยายามฆ่ามันเรื่อย จนหมด
๓.ไม่ยอมให้ความง่วงเข้ามาครอบงำ ในขณะปฏิบิตความดี
๔.จะไม่ยอมให้จิตฟุ้งซ่านไปนอกอารมณ์ดีที่เราตั้งไว้คือ นิพพาน
๕.จะไม่สงสัยในผลปฏิบัติที่ความดี
ถ้าหากว่าสามารถฆ่านิวรณ์ ๕ ประการนี้ได้เมื่อไร เป็นอรหันต์ได้เมื่อนั้น ต้องฆ่าทีละตัวสองตัวนะ ฆ่าทีเดียวหมดพระพุทธเจ้าอาย ใช่ไหม…
อันดับแรกแค่ระงับยับยั้งก่อนนะ ต้องยั้งเป็นเวลาก่อน จะคิดฆ่ามันทีเดียวหมดมันไม่ได้ ถ้าฆ่าทีเดียวหมดได้ก็ดี ยิ่งดี แต่ว่ามันเป็นไปได้ยาก”
.
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๒ หน้า ๖๔-๖๗ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)