โทสะจริต-จริต ๖ ชุดทูลถวาย

โทสะจริต-จริต ๖ ชุดทูลถวาย
โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

      อาตมาขอถวายพระพรในด้านของ โทสะจริต สำหรับโทสะจริตนี้ ก็เห็นจะเป็นเช่นเดียวกับราคะจริต เพราะว่าท่านที่จะตัดได้จริงๆ ก็ต้องเป็นพระอนาคามี ตามที่ถวายพระพรมาแล้วในสมัยที่กล่าวถึงราคะจริต

สำหรับ โทสะจริต แปลว่า คนมักโกรธ แต่ความจริง จริตทุกอย่างย่อมมีกับคนทุกคนทั้งหมด เพราะว่าไม่ใช่คนใดคนหนึ่งและก็มีหนึ่งจริต ไม่ใช่เช่นนั้น แต่ละคน แต่ละคน ก็ต่างคนต่างมีจริตด้วยกันหมด ทั้งหกประการ แต่ทว่าจะมีจริตอะไร ไปมั่วสุมหรือไปหมกอยู่บ้างเท่านั้น มีกำลังอ่อน หรือว่ามีกำลังเข้มแข็ง

อย่างคนในโลกมามีทั้งหมด คนที่ไม่รักสวยไม่รักงามเลย ก็ไม่มี แต่ที่ท่านเรียกว่าราคะจริตนำ ก็เพราะว่าหนักไปในด้านสวยด้านงามเป็นกรณีพิเศษ อะไรทุกสิ่งทุกอย่างต้องเรียบร้อยไปหมด แม้จะไปตักน้ำ ฟันฟืน เข้าป่า ก็ต้องหวีผมให้เรียบ จัดเครื่องแต่งกายให้เรียบ ทั้งๆที่ต้องทำงานหนัก อย่างนี้เป็นต้น จัดว่าเป็นประเภทของราคะจริต ความรักสวยรักงามเป็นเรื่องใหญ่ อะไรๆก็ต้องสวย อย่างนี้เป็นราคะจริต

แต่ว่าเนื้อแท้จริงๆ คนที่มีราคะจริต การต้องการความเรียบร้อย ความสวยสดงดงาม มีเหมือนกันทุกคน แต่ว่าไม่เท่ากัน บางคนก็เรียกว่าแต่งกายเพียงแค่สุกเอาเผากินก็ใช้ได้ อย่างอาตมาเป็นต้น ขอประทานอภัย พูดอ้างตนนี่พระพุทธเจ้าท่านห้าม แต่ที่อ้างมาก็เพราะว่า อาตมาเองเป็นคนสุกเอาเผากินในเรื่องการแต่งกาย ไม่ค่อยจะเรียบร้อยนักว่าไม่สนใจ ไม่ใช่ว่าไม่สนใจเมื่อแก่ เมื่อหนุ่มยิ่งไม่สนใจมากกว่านี้ ตอนแก่เข้าดูเหมือนว่าจะดีกว่าหนุ่มนิดหน่อย

ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะเกรงว่ามันจะรุ่มร่ามเกินไป ที่ว่าพระแก่รุ่มร่าม ยิ่งตอนสมัยที่เป็นพระหนุ่ม จีวรสีเหลืองไม่ห่ม ห่มแต่จีวรสีกรักอย่างเดียว เพราะมีอารมณ์ต้องการตัดราคะจริต ไม่ให้เกิดความพอใจในตัวของตัวเอง นั่นก็แสดงว่ามีราคะจริตอยู่มาก ไม่ใช่ไม่มี การทำตนเช่นนั้น เป็นการข่มขู่ เป็นการบังความรู้สึก ไม่ให้เกิดความพอใจ และไม่ให้เกิดความผูกพัน

ทีนี้คนที่เกิดมาในโลก คนที่ไม่รู้จักโกรธเลยก็ไม่มีเหมือนกัน เป็นอันว่ารู้จักโกรธเหมือนกัน แบบเรียกว่าใครจะโกรธหนักกว่ากัน น้อยกว่ากัน ไวกว่ากัน ช้ากว่ากันเท่านั้น

สำหรับโมหะจริต อารมณ์ที่คิดอะไรไม่ออก ในกาลบางครั้งบางคราวเคยปลอดโปร่ง แต่บางครั้งคิดไม่ออก อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน ความผูกพันในวัตถุ ความผูกพันในบุคคล ที่เรียกกันว่าโมหะจริต อันนี้ก็มีอยู่ด้วยกันทุกคน แต่ว่าใครจะมากจะน้อยเท่านั้น

ความเชื่อถือ บางครั้งก็ใช้ปัญญาน้อยไปหน่อย ความเชื่อที่แท้ที่สัมปยุตไปด้วยปัญญา ท่านไม่เรียกว่าหนักไปด้วยศรัทธา ศรัทธาจริตนี้ เรียกว่า ความเชื่อถือที่ใช้ปัญญาน้อยไปนิดหนึ่ง คือคิดน้อยไปหน่อย หรือที่เรียกกันว่าคิดไม่ทัน อย่างนี้ก็ต้องมีเหมือนกันทุกคน จะมากหรือจะน้อยกว่ากันเท่านั้น

ทีนี้ความปลอดโปร่ง ความเฉลียวฉลาด ในกาลบางขณะ ก็ย่อมมีเหมือนกันทุกคน แต่ทว่าใครจะมีเป็นปกติ หรือไม่ปกติเท่านั้น

เป็นอันว่า จริตทั้งหก ทุกคนต้องยอมรับนับถือว่า ตนมีพร้อมมูลบริบูรณ์ แต่ว่าบางอย่างจะยิ่งหย่อนกว่ากัน บางอย่างจะเหนือกว่ากัน บางอย่างจะน้อยไปเท่านั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม

โพสท์ใน จริต ๖ | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน โทสะจริต-จริต ๖ ชุดทูลถวาย

ปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน(๖)

หลวงพ่อฤๅษี ตอบปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อครับ กสิณนี่เป็นมโนภาพใช่ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ:- “กสิณไม่ใช่มโนภาพนะ กสิณนี่ต้องใช้นิมิตตรง”

ผู้ถาม:- “ต้องใช้ดูวัตถุ ใช่ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ:- “ใช่ ต้องใช้ดูวัตถุแล้วจำภาพ ไม่ใช่มโนภาพ ถ้าเราจะตั้งก็ได้ แต่เป๋ ถ้าดูวัตถุยังไม่ค่อยจำ นี่เล่นมโนภาพ ระวังกสิณโทษจะเกิด

อย่างเราเจริญปฐวีกสิณ จะต้องเอาจิตจับไว้เฉพาะปฐวีกสิณอย่างเดียว ถ้าภาพอื่นข้ามาแทรกต้องตัดทิ้งทันที นั่นเขาถือว่าเป็นกสิณโทษ จนกว่ากสิณกองนั้นเข้าถึงฌาน ๔ แล้วก็คล่องตัว จึงจะย้ายไปเป็นกสิณกองอื่นต่อไป

ถ้ากสิณกองต้นเราได้แล้ว ถ้าภาพอื่นเข้ามา เราตัดเลย เพราะว่าเราเจริญปฐวีกสิณ ดูดิน ถ้าบังเอิญกสิณอย่างอื่นเข้ามาแทน เช่น กสิณน้ำ กสิณลม กสิณไฟ มันแจ่มใสกว่า เราจะยึดเอาไม่ได้ ต้องตัดทิ้งทันที จนกว่ากสิณกองนั้นจะจบถึงฌาน ๔ ให้มันคล่องจริง ๆ ไม่ใช่แต่ทำได้นะ

คำว่าคล่องจริง ๆ หมายความว่า ถ้าเรากำลังหลับอยู่ ถ้าเราตื่นขึ้นมา เราจะจับฌาน ๔ ถ้าคนกระตุกพั้บเราจับฌาน ๔ ได้ทันที กสิณกองนั้นจึงชื่อว่าคล่อง

ถ้าเหน็ดเหนื่อยมาแต่ไหนก็ตาม ถ้าจะจับฌาน ๔ ต้องได้ทันทีทันใด เสียเวลาแม้แต่ ๑ วินาที ใช้ไม่ได้ ถ้าคล่องแบบนี้ละก็กสิณอีก ๙ กอง เราจะได้ทั้งหมด ไม่เกิน ๑ เดือน เพราะว่าอารมณ์มันเหมือนกัน เปลี่ยนแต่รูปกสิณเท่านั้น

ฉะนั้นการได้กสิณกองใดกองหนึ่ง ก็ต้องถือว่าได้ทั้ง ๑๐ กอง เป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ยาก ของเหมือนกัน แต่เพียงแค่เปลี่ยนสีสันวรรณะเท่านั้นเอง มันจะขลุกขลักแค่ครึ่งชั่วโมงแรก เดี๋ยวก็จับภาพได้ แล้วจิตก็เป็นฌาน ๔ นี่เราฝึกกันจริง ๆ นะ ถ้าฝึกเล่น ๆ ก็อีกอย่างหนึ่ง”

ผู้ถาม:- “การปฏิบัติพระกรรมฐาน ถ้าเราจะไม่ใช้กสิณ แต่เราใช้กำหนด อัสสาสะ ปัสสาสะได้ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ:- “ได้ ถือว่าอัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้าออก

คือ จริตของคน พระพุทธเจ้าทรงจัดแยกไว้เป็น ๖ อย่าง คือ ราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต วิตกจริต ศรัทธาจริต พุทธจริต และก็พระพุทธเจ้าตรัสพระกรรมฐานไว้ ๔๐ แต่ว่าเป็นกรรมฐานเฉพาะจริตเสีย ๓๐

อย่างพวก ราคะจริต ถ้าใช้ อสุภ ๑๐ กับ กายคตานุสสติ ๑ เป็น ๑๑

และพวก โทสะจริต มีกรรมฐาน ๘ คือ มีพรหมวิหาร ๔ แล้วก็กสิณอีก ๔ สำหรับกสิณ ๔ คือ กสิณสีแดง กสิณสีเหลือง กสิณสีเขียว กสิณสีขาว

สำหรับ วิตกจริตกับโมหะจริต ให้ใช้กรรมฐานอย่างเดียวคือ อานาปานุสสติ อย่างที่โยมว่า อัสสาสะ ปัสสาสะ

แล้วก็ ศรัทธาจริต ใช้กรรมฐาน ๖ อย่าง คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ แล้วก็เทวตานุสสติ

ต่อไปเป็น พุทธจริต พุทธจริตนี่ก็มีกรรมฐาน ๔ คือ มรณานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุตธาตุวัตถาน อุปสมานุสสติ

รวมแล้วเป็น ๓๐ เหลืออีก ๑๐ เป็นกรรมฐานกลาง

ฉะนั้นการเจริญพระกรรมฐาน ถ้าหากเดินสายสุกขวิปัสสโก จะต้องใช้กรรมฐานให้ถูกกับจริต ถ้าไม่ถูกกับจริต กรรมฐานนั้นจะมีผลสูงไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังหักล้าง

ทีนี้ถ้าหากว่านักเจริญกรรมฐานทั้งหมด ไม่ต้องการอย่างอื่น จะใช้อานาปานุสสติก็ได้ ถ้าคนทุกคนคล่องในอานาปานุสสติกรรมฐาน จะมีประโยชน์

เมื่อป่วยไข้ไม่สบาย เมื่อทุกขเวทนามันเกิดขึ้น ถ้าใช้อานาปาเป็นฌาน ทุกขเวทนามันจะเบามาก จะไม่มีความรู้สึกเลย นี่อย่างหนึ่ง

แล้วก็ประการที่สอง คนที่ชำนาญในอานาปาจะรู้เวลาตายของตัว แล้วก็จะรู้ว่าตายด้วยอาการอย่างไร

แล้วก็ประการที่สาม อานาปานุสสติสามารถควบคุมกำลังฌาน สามารถเข้าฌานได้ทันทีทันใด ประโยชน์ใหญ่มาก”

ผู้ถาม:- “เมื่อกำหนดลมหายใจด้วย ภาวนาด้วย สมาธิมันวอกแวก ๆ ครับ…”

หลวงพ่อ:- “ก็แสดงว่าจริตของคุณโยมหนักไปในด้าน วิตกจริต กับ โมหะจริต ฉะนั้นคนที่มี วิตกจริต ต้องใช้ อัสสาสะ-ปัสสาสะ ไม่ต้องภาวนา ขืนภาวนาแล้วยุ่ง พระพุทธเจ้าทรงจำกัดไว้เลยว่า เรามีจริตอะไรเป็นเครื่องนำ ต้องใช้เป็นกรรมฐานอย่างนั้นเฉพาะกิจ ถ้าใช้ผิดก็ไม่ได้ ผลมันไม่มี ที่โยมถามก็เหมาะสำหรับคุณโยม”

.
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๒ หน้า ๖๐-๖๒ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน ปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน(๖)

กำหนดการงานบวชวันแม่ ๑๒-๑๔ ส.ค.๕๔

      ขอเชิญร่วมบำเพ็ญมหากุศล งานบวชเนกขัมมะบารมี ครั้งที่ ๗๓ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และถวายพระราชกุศลวันแม่แห่งชาติ วันศุกร์ที่ ๑๒-วันอาทิตย์ที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ ณ ศูนย์พุทธศรัทธา

อ่านเพิ่มเติม

โพสท์ใน กิจกรรม ๒๕๕๔ | ติดป้ายกำกับ , , | ปิดความเห็น บน กำหนดการงานบวชวันแม่ ๑๒-๑๔ ส.ค.๕๔

เสียงธรรม-ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๑๔

เสียงธรรมธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๑๔
รวบรวมโดย พล.ต.ท.น.พ.สมศักดิ์ สืบสงวน เสียงอ่านโดย คุณเพ็ญศรี อินทรทัต

ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๑๔

คำนำ-พระธรรมเดือน มกราคม ๒๕๔๔

พระธรรมเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔

พระธรรมเดือน มีนาคม ๒๕๔๔

พระธรรมเดือน เมษายน ๒๕๔๔

พระธรรมเดือน พฤษภาคม ๒๕๔๔<

พระธรรมเดือน มิถุนายน ๒๕๔๔

พระธรรมเดือน กรกฎาคม ๒๕๔๔

พระธรรมเดือน สิงหาคม-กันยายน ๒๕๔๔

พระธรรมเดือน ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๔

ปกิณกะธรรม

โพสท์ใน ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น | ติดป้ายกำกับ , | 3 ความเห็น

ราคะจริต-จริต ๖ ชุดทูลถวาย

ราคะจริต-จริต ๖ ชุดทูลถวาย
โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

        อาตมาจะขอถวายพระพร ในจริต ๖ ประการ ที่พระมหาบพิตรมีพระราชประสงค์ แต่ว่าเวลากาลที่เนิ่นช้ามา อาตมาไม่ได้บันทึกเสียงถวาย ทั้งนี้ก็เพราะว่าคอไม่ดี พูดเสียงไม่ออก ไม่สามารถจะบันทึกได้เป็นเวลานาน มาในโอกาสนี้เสียงพอจะใช้ได้บ้าง แต่ก็ยังไม่ปกติ เห็นว่าสมควรจะบันทึกถวายได้แล้ว จึงบันทึกถวายมา

สำหรับ จริต ๖ ในตอนนี้ อาตมาจะขอปรารภเรื่อง ราคะจริต ที่พระมหาบพิตรเคยตรัสว่า บางคนเขาเข้าใจว่าตัวเขาเองไม่มีราคะจริต ความจริงคำว่า ราคะจริต ไม่ได้หมายถึงว่า เป็นผู้ใคร่ในกามารมณ์เสมอไป ทั้งนี้ก็หมายถึงว่า บุคคลใดก็ตาม ยังมีความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย การสัมผัสเป็นที่พอใจ อย่างนี้เป็นต้น ก็ชื่อว่าบุคคลเป็นผู้มีราคะจริต เพราะคำว่าราคะจริต หมายถึงว่า การรักสวยรักงาม เป็นต้น มิได้หมายความว่าเป็นผู้มักมากในกามารมณ์

นี้คนส่วนใหญ่ถ้ากล่าวกันว่าราคะจริต ก็มักจะมีความเข้าใจว่า ตนเองจะเป็นผู้มักมากในกามาารมณ์ จึงจัดว่าเป็นราคะจริต ความเห็นเช่นนี้ย่อมมีการพลาดจากความจริงไปมาก เป็นเหตุให้บุคคลนั้นมีความประมาท คิดว่าตนเป็นผู้ไม่มีราคะ ฉะนั้น ในการที่พระมหาบพิตรทรงมีพระราชประสงค์ ต้องการจะให้บันทึกเฉพาะจริตต่อจริต หรือว่าจริตหนึ่งต่อหนึ่งเทป อาตมาเห็นชอบด้วย

สำหรับราคะจริตนี้ เป็นอันว่าพอจะเข้าใจได้ว่า คนใดก็ตาม ถึงแม้ว่าไม่มีความรู้สึกทางเพศ ถ้ายังมีความต้องการรูปสวย ภาชนะสวย ดอกไม้มีลักษณะสวย อย่างนี้เป็นต้น ก็ยังชื่อว่ามีราคะ และอีกประการหนึ่ง อารมณ์ใดที่ปรากฏ อารมณ์นิ่งอยู่ ไม่มีความพอใจในกามารมณ์ อารมณ์นั้นยังจะถือว่าเป็นผู้ไม่มีราคะจริตไม่ได้ ต้องอาศัยการสัมผัสเป็นสำคัญ ถ้าความสัมผัสและการยั่วเย้าทำให้เกิดขึ้น ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ มีอารมณ์ด้านจากกามารมณ์จริงๆ อย่างนี้จึงจะใช้ได้

สำหรับท่านที่มีอารมณ์ด้านจากกามารมณ์โดยอำนาจของธรรมะ ก็จะต้องมีข้อเปรียบเทียบอีกข้อหนึ่ง นั่นก็คือไม่มีอารมณ์โทสะเข้ามาเจือปน คือว่า คนที่ไม่มีราคะจริตจริงๆ ตัดความรู้สึกในเพศได้จริงๆ ก็ต้องตัดโทสะร่วมกันได้ด้วย ทั้งนี้เพราะว่าเป็นองค์ของพระอนาคามี

ทีนี้ต่อไปนี้ อาตมาจะขอปรารภเรื่อง ราคะจริต ที่องค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์ได้ทรงตรัสว่า มีกรรมฐาน ๑๑ อย่างควบคู่กัน เป็นผู้เข้าทำลายหรือประหัตประหารราคะจริต สำหรับกรรมฐาน ๑๑ อย่างนั้น อาตมาจะขอย่อลงมาเหลือเป็น ๒ คือ หนึ่ง กายคตานุสสติ การพิจารณากายว่ามีแต่อาการ ๓๒ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้น และทุกส่วนของร่างกาย องค์สมเด็จพระจอมไตรให้พิจารณาว่าเต็มไปด้วยความสกปรก คำว่าเห็นสกปรกเป็นของน่าเกลียด อย่างนี้เป็นลักษณะของ อสุภกรรมฐาน อีก ๑๐ อย่าง

แต่อาตมาจะไม่จำแนกแต่ละอย่าง จะขอถวายพระพรแบบรวบๆ ทั้งนี้เพราะว่าพระมหาบพิตรทรงมีความเข้าพระทัยดีแล้วในเรื่องนี้ แต่ว่าพระมหาบพิตรทรงมีความสงสัยหรือแคลงใจในด้านการพิจารณากาย ว่าจะทำอย่างไร จึงจะเห็นว่าร่างกายสกปรก นี้เป็นส่วนที่มหาบพิตรทรงมีความสงสัยมาก แล้วก็จะรู้สึกว่าเห็นด้วยไม่ได้ ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตรัสสั่งว่า หรือว่าจริตของผมจะไม่ตรงกัน อันนี้อาตมาก็ขอถวายพระพรว่า ข้อนี้เป็นความจริง

อ่านเพิ่มเติม

โพสท์ใน จริต ๖ | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน ราคะจริต-จริต ๖ ชุดทูลถวาย

ปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน(๕)

หลวงพ่อฤๅษี ตอบปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน

ผู้ถาม:- “หนูไม่ทราบว่าได้ฌานอะไรค่ะ คือว่าจิตนิ่ง แต่ว่ามองอะไรไม่เห็น”

หลวงพ่อ:- “ดีมาก…เขาเรียกว่า ฌานมัว ไอ้เรื่องของฌานเขาไม่ได้เห็นหรอกหนู การทำสมาธิไม่ใช่เรื่องของการเห็น เรื่องของการเห็นเขาต้องฝึกอีกระดับหนึ่ง คือ ในเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วต้องฝึกทิพจักขุญาณ มันจึงจะเห็น แต่ว่าการฝึกสมาธิแล้วเห็นภาพว๊อบๆ แว๊บๆ ผ่านไปผ่านมา นั่นจิตเข้าขั้นอุปจารสมาธิ ขั้นอุปจารสมาธินี้ อาจจะได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ แต่ก็แว๊บเดียว อันนี้เขาไม่ใช้ เขาไม่ถือว่าเป็นของดี ยังไม่ต้องการ

กรรมฐานน่ะมันมี ๒ อย่าง คือ สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน สองอย่างนี้ต้องควบคู่กันไป ต้องเข้าใจว่า การทำสมถภาวนาเป็นอุบายเพื่อทำให้ใจสงบ ทำจิตให้เป็นสุข ไม่ใช่ต้องการเห็น วิปัสสนาภาวนาทำให้ใจมีปัญญาขึ้น คือยอมรับนับถือกฏของความเป็นจริง

เขาต้องการแบบนี้นะ เขาไม่ต้องการเห็นหรอก ถ้าอยากเห็นก็ลืมตา ถ้าดับไฟเห็นไม่ถนัดก็เปิดไฟฟ้า จะได้เห็นทั่ว ใช่ไหม…อย่างนี้ก็พลาดจุดหมายน่ะซิ”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ เวลานั่งปฏิบัติสมาธิคล้ายๆ จิตตกจากที่สูง มันเป็นยังไงคะ…?”

หลวงพ่อ:- “อ๋อ…ตอนนั้นถ้าจิตมันอยู่ในฌาน มันจะมีอารมณ์ดิ่งสบาย จิตเป็นสุข ถ้าจิตพลัดจากฌานแรงเกินไป มันก็วาบเหมือนกับตกในที่สูง อาการอย่างนี้บางคนก็ประสบ บางคนก็ไม่ประสบ ถ้าป้องกันอาการอย่างนี้ไม่ให้เกิด พอเริ่มต้นจะภาวนาให้หายใจยาวๆ เหมือนกับเขาเกณฑ์ทหาร หายใจสัก ๓-๔ ครั้ง เป็นการระบายลมหยาบ ตอนเริ่มต้นมันหยาบ พอจิตเป็นสมาธิ จิตมันจะละเอียดอยู่ข้างล่าง พอเป็นฌานจิตมันละเอียดมาก มันก็ดันลมหยาบออก”

ผู้ถาม:- “แต่สังเกตดูลมหายใจบางครั้งเหมือนกับลมหยุดเบาเหลือเกินค่ะ เราควรจะกระตุ้นมันไหมคะ…?”

หลวงพ่อ:- “อย่า อย่า ความรู้สึกคล้ายว่าลมหยุดตอนนั้นจิตเป็นฌาน ๔ ลมมันไม่ได้หยุดหรอก ถ้าหยุดเราก็ตาย ถ้าเป็นฌานสูงขึ้นจะรู้สึกว่าลมหายใจเบาลง ความจริงลมปกติ แต่จิตมันแยกกับประสาท พอถึงปฐมฌาน จิตแยกจากประสาทนิดหนึ่ง ถ้าตามธรรมดาเราต้องการเงียบ หูได้ยินเสียงมันจะรำคาญ พอถึงปฐมฌานมันจะไม่รำคาญ พอถึงฌานที่สอง ลมจะรู้สึกเบาลงไปหน่อย พอถึงฌานที่ ๔ จะไม่มีความรู้สึกว่าหายใจ ความจริงร่างกายหายใจเป็นปกติ แต่จิตมันแยกจากประสาท จิตมันแยกห่างออกมา”

ผู้ถาม:- “ต้องปล่อยลงไปเรื่อยๆ นะคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ปล่อยไป ถ้าจิตมันเต็มกำลังมันก็ลดของมันเอง”

ผู้ถาม:- “ดิฉันจับอานาปาค่ะ ถึงมีอารมณ์อย่างนั้น….?”

หลวงพ่อ:- “ความจริงกรรมฐานทุกกองต้องควบอานาปา ถ้าไม่งั้นจิตไม่ทรงฌาน อานาปาต้องใช้เป็นพื้นฐาน กรรมฐาน ๓๙ อย่าง เราใช้ได้ แต่ว่าต้องควบคุมอยู่กับอานาปาเสมอไป ถ้าไม่มีอานาปาควบ จิตจะเป็นฌานไม่ได้”

ผู้ถาม:- “ถ้าไม่จับอานาปา ก็ภาวนาแทนได้ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ภาวนาเฉยๆ จิตไม่เข้าถึงฌาน จะต้องมีอานาปาควบคู่กับคำภาวนา หายใจเข้านึกว่า “พุท” หายใจออกนึกว่า “โธ” “พุทโธ” เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน แต่เรารู้ลมหายใจเข้าออกด้วยเป็นอานาปานุสสติกรรมฐาน ถ้าใช้คู่กันจิตจะเป็นฌานเร็ว”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ ในขณะที่เรานั่งภาวนาไปพักหนึ่งแลัว ก็ได้เห็นแสงเป็นวงสีขาว แต่เราจับไม่นิ่ง แล้วจะทำยังไงคะ…?”

หลวงพ่อ:- “เอาอะไรจับ…?”

ผู้ถาม:- “จิตซิคะ”

หลวงพ่อ:- “ไม่มีทาง เพราะแสงนั้นไม่ใช่แสงสำหรับจับ แสงสำหรับจับต้องเป็นกสิณ ถ้าสีขาว เขียว แดง เหลือง ถ้าปรากฏขึ้นขณะภาวนา มันเป็นนิมิตของอานาปานุสสติ ไม่มีทางจับ”

ผู้ถาม:- “ที่เห็นอันนี้เหมือนดาวค่ะ”

หลวงพ่อ:- “เหมือนดาว เหมือนเดือน เหมือนพระอาทิตย์ ก็เหมือนกันแหละ คล้ายๆ กับดาวเป็นดวงๆ ใช่ไหม…?”

ผู้ถาม:- “ใช่ค่ะ”

หลวงพ่อ:- “นั่นแหละ เขาเรียกว่าเป็นนิมิตของอานาปา จับไม่ได้ เพราะอะไรจึงจับไม่อยู่ เพราะจิตเราไม่หยุด ถ้าจิตเคลื่อนนิด นั่นก็ไหวตัวหน่อย นิมิตน่ะ เป็นเครื่องวัดจิตของเราว่า ในขณะนั้นมันทรงตัวขนาดไหน และจิตแค่อุปจารสมาธิ มันไม่ทรงตัว ต้องเป็นฌาน ที่เห็นนั่นน่ะ จิตถึงอุปจารสมาธิพอดี เพราะจิตพอเริ่มเข้าสู่อุปจารสมาธิ อารมณ์เริ่มเป็นทิพย์ ที่เห็นแสงสีน่ะเบาเกินไป ถ้าอารมณ์ดีกว่านั้นจะเห็นภาพเทวดา เห็นภาพพรหมได้เลย แต่ก็แว๊บเดียวอีกนั้นแหละ พอเห็นปั๊บเราตกใจ สะดุดนิด เคลื่อนจิตไม่ทรงตัว”

ผู้ถาม:- “แล้วที่อย่างมีแสง คล้ายแสงไฟฉายวูบมาอย่างนี้ล่ะคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ก็เหมือนกันนั่นแหละ ยี่ห้อเดียวกัน”

ผู้ถาม:- “แต่ที่เห็น มันลักษณะไม่เหมือนกันคะ หลวงพ่อ”

หลวงพ่อ:- “ก็เหมือนกันนั่นแหละ แสงต่างกัน หายครือกัน จับไม่อยู่เหมือนกัน”

ผู้ถาม:- (หัวเราะ)

หลวงพ่อ:- “ถ้านิมิตเกิดขึ้น จับไม่อยู่ ต้องเริ่มตั้งต้นด้วยกสิณ ต้องเป็นนิมิตของกสิณ จึงจะทรงตัว คือนิมิตหรือแสงหรือสีนั้น เราต้องจับไว้ก่อนตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่ปล่อยลอยมา”

ผู้ถาม:- “ถ้าอย่างนั้นก็ต้องไปเริ่มต้นจับภาพกสิณ ใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ:- “เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องไปทำกสิณแล้ว เพราะคนที่มีกำลังสูงด้านศรัทธามีบุญเก่า เวลานี้เขาใช้ฝึกผลของกสิณเลย ถึงได้เร็วไงล่ะ ถ้าเริ่มต้นฝึกทางกสิณ ในบาลีท่านเรียกว่า อาทิกัมมิกบุคคล หมายถึง คนทีไม่เคยได้มาเลยในชาติก่อน ต้องขึ้นต้นด้วยกสิณ อย่างนี้ช้ามาก แค่กสิณกองเดียวให้ถึงฌาน ๔ ดีไม่ดีหลายตาย ไม่ใช่ตายเดียวนะ เกิดมาชาตินี้ทำจนตาย เกิดมาชาติใหม่ทำต่ออีก กว่าจะถึงฌาน ๔ ไม่ใช่เบา หนักมาก

ทีนี้หากว่าคนที่เคยได้มาก่อน อย่างทิพจักขุญาณ ในวิสุทธิมรรคท่านบอกว่า แม้แต่มองแสงสว่างที่รอดมาจากช่องฝาหรือช่องเพดาน ก็สามารถได้ทิพจักขุญาณเลย

อย่างที่พวกเราฝึกเวลานี้ ฝึกมโนมยิทธิ มันหนักกว่า ใช่ไหม…ฝึกประเดี๋ยวได้ๆ เพราะพวกนี้เคยได้มาก่อน แต่ว่าผู้ฝึกจะต้องทราบ เวลานี้ฉันสอนคนเก่าที่ได้มาก่อนทั้งนั้นนะ คนที่ยังไม่ได้ไปหาที่อื่น ฉันขี้เกียจสอน”

ผู้ถาม:- “แล้วหนูจะทราบได้อย่างไรคะ ว่าเคยได้มาก่อน…?”

หลวงพ่อ:- “ก็ต้องดูขั้นพอใจ เขาฝึกกันแบบนี้เราพอใจหรือเปล่า ถ้าพอใจด้วยความจริงใจ อันนี้ใช่ละ ต้องเคยได้มาก่อน ไม่งั้นไม่เอาเลย ต้องดูศรัทธาตรงนี้นะ คือเห็นเขาฝึกกันเราก็อยากได้บ้าง เกิดความต้องการขึ้นมาจริงจัง อันนี้ของเก่ามันบอก”

.
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๒ หน้า ๕๕-๕๙ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน ปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน(๕)