
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง
ผู้ถาม :- “ดิฉันขอเรียนถามว่า การอุปสมบทบรรพชา มีอานิสงส์อย่างไรบ้างคะ…?”
หลวงพ่อ :- “การอุปสมบทบรรพชา นี้มีอานิสงส์พิเศษ ผิดกับอานิสงส์อย่างอื่น เช่น การสร้างวิหารทานก็ดี การถวายสังฆทานก็ดี การทอดผ้าป่า ทอดกฐินก็ดี อานิสงส์อย่างนี้บุคคลที่จะพึงได้ต้องโมทนาก่อน”
ผู้ถาม :- “หลวงพ่อช่วยกรุณาอธิบายเพิ่มเติมอีกหน่อยเถิดค่ะ”
หลวงพ่อ :- “หมายความว่า ถ้าบุตรธิดาของตนบำเพ็ญกุศลให้แก่บิดามารดา แต่บิดามารดาไม่ได้โมทนาในกุศลนั้น ย่อมไม่ได้ แต่ว่าการอุปสมบทบรรพชานี้แปลกกว่านั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาทรงแสดงไว้ว่า สมมุติว่าบุตรชายของท่านผู้ใดออกจากครรภ์มารดา วันนั้นบิดามารดาก็จากกัน ลูกกับพ่อ ลูกกับแม่ ย่อมไม่รู้จักกัน เวลาที่บุตรชายอุปสมบทบรรพชา บิดามารดาก็ไม่ทราบ แต่ว่าบิดามารดาย่อมได้อานิสงส์โดยสมบูรณ์
คำว่า อุปสมบท หมายความว่า บวชเป็นพระ
คำว่า บรรพชา หมายความว่า บวชเป็นเณร
ท่านที่บวชเป็นพระด้วยตนเอง จะมีอานิสงส์อยู่เป็นเทวดาหรือพรหม ๖๐ กัป
สำหรับบิดามารดา จะได้อานิสงส์คนละ ๓๐ กัป
สำหรับคนที่ไม่ใช่พ่อแม่ เป็นเจ้าภาพให้บวช จะได้อานิสงส์คนละ ๑๒ กัป ต่อ ๑ องค์
สำหรับท่านที่ได้ทำบุญอุปสมบท ช่วยเขาคนละบาทสองบาท หรือช่วยกันด้วยกำลังแรง อย่างนี้มีอานิสงส์องค์ละ ๘ กัป
สำหรับท่านผู้บวชเป็นเณร บวชแล้วมีความประพฤติดีปฏิบัติชอบ ตามระบอบพระธรรมวินัย เมื่อตายจากความเป็นคน ถ้ามีจิตของตนเป็นกุศล แต่ว่าไม่สามารถทรงจิตเป็นฌาณ ท่านผู้นั้นจะเสวยความสุขบนสวรรค์ ได้ถึง ๓๐ กัป
ถ้าหากว่าทำจิตของตนให้ได้ฌาณสมาบัติ ก่อนตายจากความเป็นคน จะเกิดเป็นพรหม มีอายุถึง ๓๐ กัป เช่นเดียวกัน
สำหรับบิดามารดาได้คนละ ๑๕ กัป”